"อัฐยายซื้อขนมยาย" กำจัดสารเคมีพันล้าน!

Logo Thai PBS
"อัฐยายซื้อขนมยาย" กำจัดสารเคมีพันล้าน!
จับตา "กรมวิชาการเกษตร" เสนอบริษัทเจ้าเดียวเหมากำจัด 3 สารอันตราย กำจัดล้างสต๊อกต้องเสีย 2 พันล้าน ด้านเอ็นจีโอเสนอหาทางเลือกอื่นดันกลับประเทศต้นทาง

ถึงกับต้องขยายจอทวิตเตอร์ดูชัดๆ เมื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทวีตข้อความหลังประชุม กมธ.งบฯ ปี 2563 เมื่ออธิบดีกรมวิชาการเกษตร แจงของบฯ 2,000 ล้านบาท ใช้กำจัด 3 สารเคมีที่ถูกแบน คาดค้างสต๊อกอยู่ไม่ต่ำ 20,000 ตัน และจะต้องเสียค่ากำจัดตันละ 1 แสนบาท!

ฟังตัวเลข 2,000 ล้านบาท ใครก็ต้องบอกว่าแพงหูฉี่ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครเอ๊ะ! กับตัวเลขนี้ แว่วว่านักการเมืองใหญ่ที่เป็นอดีตข้าราชการ ก็ทักท้วงราคาค่างวดในการกำจัด 3 สารเคมี แพงไป เพราะเชื่อว่ายังมีโรงงานอื่นที่มีศักยภาพในการกำจัด 3 สาร ไม่ได้มีแค่เจ้าเดียวตามที่กรมฯ เสนอ

เจ้าเดียวที่ว่า คือ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ที่กรมฯ อ้างว่าเป็นเจ้าเดียวที่จะกำจัดได้ในระบบปิด

ไล่เรียงกันทีละประเด็น เริ่มจากราคาค่าทำลายสารเคมีเจ้ากรรม ว่าจะสูงลิ่วถึง ตันละ 1 แสน หรือไม่ ?

ผู้เขียนเลยถามไปยังคนวงใน ที่รู้เส้นสนกลสารเคมี ให้กดเครื่องคิดเลขคำนวณให้คร่าวๆ คนวงในเขาว่า ต้นทุนเพียวๆ จะอยู่ที่ประมาณตันละ 31,000 บาท

คำนวณจาก ค่าทำลาย ตันละ 30,000 บาท ,ค่าขนส่งเที่ยวละ 5,000 บาท (เที่ยวหนึ่งได้ 5 พันตัน) และจะต้องเสียค่านั่นนี่ แต่ที่ทำให้บางโรงงานมีภาษีดีขึ้นมาและบวกราคาได้ คือ “ตราปั๊ม” รับรองมาตรฐานจากกรมโรงงาน... 

ดูคร่าวๆ จากสูตรก็เป็นไปได้ว่าต้นทุนการกำจัดสารเหล่านี้ตันละหลายหมื่น บวกลบกำไรก็ต้องมีเสียเป็น “แสน” ต่อตัน

ขณะที่ วิฑุรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.ไบโอไทย ที่เข้าร่วมประชุม กมธ.งบฯ วันนั้นด้วย เล่าว่า ส่วนตัวก็รู้สึกว่าการเสียค่ากำจัดสารเคมีตันละ 100,000 บาทแพงเกินไป และเชื่อว่ายังมีวิธีอื่นที่จะใช้กำจัด รวมถึงทางเลือกอื่น เช่น ส่งกลับประเทศต้นทาง หรือส่งไปยังประเทศที่ยังไม่แบนสามสารนี้

สรุปแล้วเรื่องราคาค่างวดที่ต้องจ่าย (ยอมจ่าย) แพงจริง ไม่ว่าจะคำนวณจากสูตรไหน แต่ที่หลายคนกังวลใจคือเงินก้อนนี้จะต้องไม่ไหลไปเข้ากระเป๋าใครจนตุง

ข้อมูลที่ได้จาก “แหล่งข่าวกล่าวว่า” คือการโฟกัสไปที่ บริษัท อัคคีปราการ ฯ บริษัทเจ้าเดียวที่ กรมฯ เสนอให้เป็นผู้รับผิดชอบการกำจัด 3 สารอันตราย และไม่ไล่เรียงรายชื่อบรรดาผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ไม่มี “ใคร” หรือ “นามสกุล” ใด ต้องสงสัยหรือโยงไปยังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของเหล่านักการเมือง

ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) พบว่า 10 อันดับแรก

                                        1. บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)         51.18%
                                        2. YAMAZEN HOLDINGS COMPANY LIMITED  2.72%
                                        3. นายสมเจตน์ ชำนาญท่องไพวัลห์                       1.91%
                                        4. นายอดิศักดิ์ กนกศิลป์                                    1.72%
                                        5. นายบุญส่ง เจียรไพศาลเจริญ                            1.56%
                                        6. นางสุภา ยั่งยืนสุนทร                                     1.41%
                                        7. นางสุภาพร กิตติวรรณโชติ                               1.04%
                                        8. นายวินิจ หงนิพนธ์                                        1.00%
                                        9. นายอดิเทพ ชนะสิทธิ์                                     0.78%
                                        10. นายสฤษฎิ์ พัฒนโสภณ                                 0.71%

แต่ก็ดันมีคนตาดีขอให้โฟกัสไปที่ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ "บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)" ดูให้ลึกลงไป ย้อนหลังไปหลายเดือน-หลายปี ก็จะมี “นามสกุลดัง” ของนักการเมืองอยู่ด้วย แม้จะไม่ใช่ผู้ถือหุ้นหลักใน บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีนฯ แต่ก็ติด 1 ใน 10 อันดับแรก

บอกใบ้ว่านามสกุลนี้อยู่ใกล้กับ 1 ใน 3 รัฐมนตรี ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีแบน 3 สาร ถ้ายังไม่ลืม 3 คนนี้ มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข , นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ , นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ส่วนจะเป็นใครนั้น ก็ลองเสิร์ซ Google หาชื่อดูตามคำแนะนำนายกฯ

นิทาน 3 สารเคมีรอบนี้ จึงเข้าเค้าสุภาษิตไทย “อัฐยายซื้อขนมยาย” แปลงจากนิทานศรีธนญชัย ที่ศรีธนญชัยขอเงินจากยาย ซื้อขนมจากยาย (ยายเป็นคนขายขนม) โดยที่ศรีธนญชัยไม่ต้องเสียตังก์ซักบาทเดียว แต่ได้กินขนมฟรีๆ

ให้ทายว่าเรื่องนี้ ใครเป็น "ศรีธนญชัย"

อ่านเพิ่ม หนีเสือปะจระเข้ พบจุลินทรีย์ยัดไส้ "พาราควอต"

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง