นครศรีฯ คุมเข้ม "ปากเท้าเปื่อย" ระบาดวัวกว่า 300 ตัว

ภูมิภาค
17 พ.ย. 62
13:00
6,704
Logo Thai PBS
นครศรีฯ คุมเข้ม "ปากเท้าเปื่อย" ระบาดวัวกว่า 300 ตัว
เตือนผู้เลี้ยงโค-กระบือ รับมือโรคปากเท้าเปื่อยระบาดในสัตว์กีบ พบระบาดในหลายอำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช เบื้องต้นมีวัวป่วยกว่า 300 ตัว เริ่มทยอยตายแล้ว 20 ตัว ด้านปศุสัตว์อำเภอ ลงพื้นที่สกัดโรค แนะนำเกษตรกรดูแลอาการวัวที่ป่วยใกล้ชิด

วันนี้ (17 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรที่เลี้ยงวัวในพื้นที่ ต.บางรูป อ.ทุ่งใหญ่จ.นครศรี ธรรมราช กำลังได้รับผลกระทบจากโรคปากเท้าเปื่อย ที่ระบาดอย่างรุนแรงในหมู่ 2,4,5,6, และหมู่ 7 มีวัวติดเชื้อป่วยตายแล้ว 20 ตัว ส่วนอีก 300 ตัวป่วยติดเชื้อ

นายบุญนาก ศรีกุมาร อายุ 46 ปี กล่าวว่า พบวัวที่เลี้ยงไว้ มีทั้งพ่อแม่พันธุ์  และลูกวัวที่เลี้ยงไว้ 11 ตัวติดเชื้อมีอาการเซื่องซึม น้ำลายฟูมปากไหลย้อยที่ต้องเฝ้าระวังรวม 5 ตัว ล่าสุดตายแล้ว 2 ตัว และนำซากไปฝังกลบใช้ปูนขาวโรยในหลุม และรอบปากหลุมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ

ส่วนที่บ้านนายอำนวย หมวกทอง กล่าวว่า ตอนนี้วัวที่เลี้ยงไว้ทั้ง 7 ตัวเป็นโรคปากเท้าเปื่อยทั้งหมด ต้องเฝ้าระวังดูแลอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นได้ใช้ปฏิชีวนะสมานแผล และยาสีม่วงทาที่ปาก และกีบเท้าของวัวทุกตัว

เร่งฉีดยาตัดทางระบาดเพิ่ม

นายนพดล กีรติกรพิสุทธิ์ นายอำเภอทุ่งใหญ่ ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมสั่งการให้นายธนันดร ทองเนื้อสุก ปศุสัตว์อำเภอ ลงพื้นที่พร้อมทีมสัตวบาล และผู้ใหญ่บ้านของแต่ละพื้นที่นำยาปฏิชีวนะ และยาต้านไวรัสไปฉีดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเร่งด่วน

ทางปศุสัตว์อำเภอ ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง และปฏิบัติกับวัวที่เลี้ยงไว้ให้ถูกวิธีเบื้องต้นให้ทายาสีม่วง หรือยาสมานแผลที่ริมฝีปาก นำแฮลกอฮอร์มาเช็ดที่กีบเท้าป้องกันเชื้อโรค และให้สุมกองไฟป้องกันแมลงไม่ให้เข้าใกล้วัว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้าง

ส่วนยาฉีดทางเจ้าหน้าที่จะเข้ามาฉีดให้กับวัวที่ติดเชื้อเอง เนื่องจากยามาราคาแพง และต้องฉีดให้ถูกวิธีที่สำคัญในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคปากเท้าเปื่อย ห้ามมีการเคลื่อนย้ายสัตว์โดยเด็ดขาด

สำหรับการระบาดล่าสุดในพื้นที่นครศรีธรรมราช มีการพบการระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์กีบแล้ว 5 อำเภอ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งเข้าควบคุมพื้นที่การระบาดและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่เลี้ยงสัตว์กีบหากพบความผิดปกติของสัตว์ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง