ที่สุดในโลก "ข้าว ST24" ของเวียดนาม "เมล็ดยาว-นุ่ม-กลิ่นหอม"

เศรษฐกิจ
18 พ.ย. 62
15:00
14,100
Logo Thai PBS
ที่สุดในโลก "ข้าว ST24" ของเวียดนาม "เมล็ดยาว-นุ่ม-กลิ่นหอม"
"ข้าวพันธุ์ ST24" ของเวียดนาม แชมป์โลก 2019 ด้านกระทรวงเกษตรฯ สั่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิเรียกความเป็นหนึ่งด้านคุณภาพคืน หลังเสียแชมป์ให้กัมพูชา-เวียดนาม ประกวดข้าวโลก 2 ปีซ้อน

ข้าวพันธุ์ ST24 ของเวียดนาม คว้ารางวัล World's Best Rice ในการประกวดข้าวโลก 2019 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นการประชุมของผู้ค้าข้าว (The Rice Traders) จากทั่วโลก ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และ ปีนี้เป็นครั้งที่ 11  

ไทยพีบีเอสออนไลน์ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี จากเว็บไซต์ The Rice Trader พบว่า ข้าวหอมมะลิไทยเป็นแชมป์ข้าวรสชาติดีที่สุดในโลก 5 สมัย โดยครั้งแรก ปี 2009 , ครั้งที่ 2 ปี 2010, ครั้งที่ 3 ปี 2014 ครองแชมป์ร่วมกับข้าวผกาลำดวนของกัมพูชา ครั้งที่ 4 ปี 2016 และครั้งที่ 5 ปี 2017 

ก่อนจะถูกข้าวจากกัมพูชา เบียดคว้ารางวัลชนะเลิศ เมื่อปี 2012, 2013 และ 2014 ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน และอีกครั้งในปี 2018

  • World’s Best Rice 2018 Winner: Cambodia Jasmine
  • World’s Best Rice 2017 Winner: Thai Hom Mali
  • World’s Best Rice 2016 Winner: Thai Hom Mali
  • World’s Best Rice 2015 Winner: U.S. Calrose
  • World’s Best Rice 2014 Joint Winners: Thai Hom Mali and Cambodia Jasmine
  • World’s Best Rice 2013 Joint Winners: Cambodia Jasmine-Cambodia and California Calrose-U.S.
  • World’s Best Rice 2012 Winner: Cambodia Jasmine-Cambodia
  • World’s Best Rice 2011 Winner: Paw Son Rice-Myanmar
  • World’s Best Rice 2010 Winner: Thai Jasmine Rice
  • World’s Best Rice 2009 Winners: Thai Jasmine Rice

 

ข้าวพันธุ์ ST24

สื่อท้องถิ่นเวียดนาม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวสายพันธุ์ "ST24" จาก จ.ซ้อกจัง ลำดับที่ 24 ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดข้าวเวียดนามครั้งแรกที่นครโฮจิมินห์ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อส่งประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลกปี 2019 และยังได้รับรางวัลในงานเทศกาลข้าวเวียดนาม ครั้งที่ 3 เมื่อปีที่แล้ว

สำหรับข้าวสายพันธุ์ ST ประกอบด้วยสายพันธุ์ที่หลากหลายที่ปรับปรุงโดยทีมผลิตข้าวคุณภาพสูงตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยได้นำไปทดลอง ในปี 2014 และเริ่มผลิตในปี 2016 มีคุณสมบัติด้านความต้านทานมากกว่าข้าวพันธุ์ดั้งเดิมบางพันธุ์และให้ผลผลิตสูงถึง 8.5 ตันต่อเฮกตาร์ หรือ 8.5 ตันต่อ 6.25 ไร่

นอกเหนือจากความหลากหลายของข้าวชนิดพิเศษแล้ว ST24 ยังได้รับการพิจารณาว่าเป็นข้าวที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เนื่องจากสามารถปรับตัวให้เหมาะกับพื้นที่ปลูกข้าวต่างๆ รวมถึงปรับตัวกับสภาพดินเค็มได้อีกด้วย

ข้าว ST24 มีคุณสมบัติโดดเด่น โดยมีเมล็ดยาว มีสีขาวใส และมีกลิ่นหอม ในเดือน มี.ค.2562 กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทได้รับรองอย่างเป็นทางการให้พันธุ์ข้าว ST24 เป็นพันธุ์ข้าวแห่งชาติ

 

พัฒนาสายพันธุ์ "ข้าวหอมมะลิ"

จากการประกวดข้าวโลก 2019 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ข้าวพันธุ์ ST24 ของเวียดนาม ชนะการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ส่วนข้าวหอมมะลิจากไทยเป็นอันดับ 2 ประเทศไทยเสียแชมป์ต่อเนื่อง 2 ปี เนื่องจากปี 2018 ข้าวหอมมะลิกัมพูชามาลีอังกอร์ได้อันดับ 1 ส่วนข้าวหอมมะลิไทยได้เพียงอันดับ 2

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าข้าวพันธุ์ ST24 ของเวียดนาม มีเมล็ดยาว เหนียวนุ่ม แม้ความหอมจะน้อยกว่าข้าวหอมมะลิไทย แต่มีความหวานมากกว่า ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เวียดนามใช้เวลาพัฒนาประมาณ 5 ปี จึงได้รับรางวัล และขณะนี้เวียดนามอยู่ระหว่างการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนข้าวอังกอร์ (Malys Angkor) คือ ข้าวหอมมะลิของกัมพูชา เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีกลิ่นหอม เหนียวนุ่ม เป็นที่นิยมของชาวจีน แต่จุดอ่อน คือ หากปล่อยไว้ในอุณหภูมิปกติประมาณ 10 นาที จะเหนียวและแข็ง ต้องรับประทานตอนที่ร้อนเท่านั้น โดยคุณสมบัติข้อนี้ยังเป็นรองข้าวหอมมะลิไทย

ทั้งนี้ ได้ให้กรมการข้าวเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิว่าข้าวเวียดนามและกัมพูชามีข้อเด่นด้านใด เพื่อนำมาพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยให้ดียิ่งขึ้น

กัมพูชาคว้าอันดับ 1 ข้าวที่ดีที่สุดปีที่แล้ว มาจากความพยายามที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์มีความสะอาด ปราศจากการเจือปน ส่งผลให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ กัมพูชาทำนาเพียงปีละ 1 ครั้ง ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ เป็นเหตุผลที่ทำให้ได้ข้าวรสชาติถูกปากผู้บริโภคมากกว่าเดิม

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ในฐานะเป็นประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตได้มอบนโยบายว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญที่จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวคุณภาพ ทั้งเวียดนามและกัมพูชาต่างไม่หยุดพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ไทยจึงต้องเร่งศึกษาวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ครอบคลุมถึงระบบการปลูก การพัฒนาดิน ซึ่งต้องศึกษาว่าการปลูกพืชชนิดเดียวที่เดิมเป็นเวลาหลายสิบปีทำให้คุณภาพข้าวต่ำลงหรือไม่ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการทำเกษตรอื่นในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจะปลูกข้าวตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง