“ปิยบุตร” ชี้ลอว์แฟร์ กระบวนการยุติธรรม ใช้กำจัดศัตรูการเมือง

การเมือง
18 พ.ย. 62
09:55
972
Logo Thai PBS
“ปิยบุตร” ชี้ลอว์แฟร์ กระบวนการยุติธรรม ใช้กำจัดศัตรูการเมือง
เลขาฯ พรรคอนาคตใหม่ บรรยายกลไกทำงานเกี่ยวกับลอว์แฟร์ หรือการใช้กระบวนการทางยุติธรรมเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง โดยเชื่อว่าลอว์แฟร์ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ แต่จะทำลายระบบกฎหมายและความน่าเชื่อของประชาชน

วันนี้ (18 พ.ย. 2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายูทูปของพรรคอนาคตใหม่เผยแพร่วิดีโอที่ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อธิบายถึงกระบวนการ “Lawfare” (ลอว์แฟร์) นิติสงคราม หรือ สงครามทางกฎหมาย ได้สรุปว่าหมายถึง การใช้กฎหมายหรือกระบวนการทางยุติธรรม หรือ ศาล เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์แหรือแนวโน้มของประเทศทั่วโลกกำลังใช้ในการเมือง

 

พร้อมระบุด้วยว่า ลอว์แฟร์มีกลไก 2 กลไกคือ กระบวนการทำให้ประเด็นทางการเมืองเป็นคดีไปอยู่ในมือของศาลโดยผ่านการร้องของผู้ร้อง และจากนั้นสื่อนำประเด็นคดีการเมืองที่อยู่ศาลนั้นมาเผยแพร่แบบซ้ำ ๆ ที่มีการชี้นำ พร้อมยกเคสคดีการเมืองตั้งข้อหา ทรยศชาติ แบ่งแยกดินแดน เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นกบฎชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คอร์รัปชัน รับเงินผิดประเภท ดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นศาสนา ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และผลลัพธ์ออกมาคือการกำจัดศัตรูทางการเมืองได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธยุทธปกรณ์ โดยทหารไม่ต้องออกมาหรือไม่ต้องชนะเลือกตั้ง

รศ.ปิยบุตร ยังระบุด้วยว่าหากกระบวนการลอว์แฟร์เดินหน้าสำเร็จ ต่อไปนี้ข้อหากล่าวหาคอร์รัปชัน จะเป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง และสุดท้ายคนที่ดำเนินการลอว์แฟร์ไม่มีใครสนใจผลลัพธ์ที่ว่าจะมีคอร์รัปชัน หรือประเทศจะเสียดินแดนจริงหรือไม่ แต่ผลที่สนใจคือการตัดสิทธินักการเมือง ให้คนออกไปจากสนามการเมือง ยึดทรัพย์นักการเมืองไม่ได้ผุดได้เกิด ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกไม่ได้ คือผลข้างเคียงที่ต้องการมากกว่าการกำจัดการคอร์รัปชัน

พร้อมอ้างอิงว่าพระสันตปาปาองค์ปัจจุบันเคยกล่าวไว้ว่าควรหยุดลอว์แฟร์ได้แล้ว เพราะลอว์แฟร์ทำลายระบบกฎหมาย ทำลายความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อศาล ทำลายประชาธิปไตย และไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ และตรงกันข้ามเมื่อใช้ลอว์แฟร์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองร้าวลึกถูกตอกลิ่มเยอะขึ้น

และระบุว่า ศาลทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ได้สถาปนาความศักดิ์สิทธิ์แก่ศาลฯ ด้วยเห็นว่าเป็นความเชื่อที่ฝังในความคิดกันมาว่า ศาลเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางและอิสระ ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง แต่ว่าแม้ศาลฯไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง นักการเมือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้พิพากษาแต่ละคนที่อยู่ในบังลังก์ตัดสินคดีล้วนมีจิตสำนึกที่เป็นตัวของตัวเองที่ต้องมีความคิดความเชื่อส่วนบุคคล และมีอุดมการณ์ตามที่สังกัดอยู่

ซึ่งเห็นว่าทุกประเด็นทางการเมืองไม่จำเป็นต้องจบหรือสิ้นสุดที่องค์กรศาลเสมอไป ด้วยเชื่อว่ากระบวนทางประชาธิปไตยสามารถขจัดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ด้วยตัวของมันเอง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง