ป.ป.ช.สอบสินบนข้ามชาติเหมืองทอง 6 ปี ยังไม่จบ

สิ่งแวดล้อม
19 พ.ย. 62
19:36
965
Logo Thai PBS
ป.ป.ช.สอบสินบนข้ามชาติเหมืองทอง 6 ปี ยังไม่จบ
ป.ป.ช.ชี้แจง คดีสอบสินบนข้ามชาติเหมืองทองไทย-ออสเตรเลีย คืบหน้าร้อยละ 50 อ้างติดรอข้อมูลระหว่างประเทศ แม้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนตั้งแต่ปี 2558 ส่วนอีกกว่า 20 ประเด็นที่ ปชช.ร้องเรียน ยังสอบไม่จบเช่นกัน

วันนี้ (19 พ.ย.2562) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ  ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีการสอบสวนประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร  โดยระบุว่า ขณะนี้ยังสอบไม่แล้วเสร็จแต่จะมีเพียงสำนวนการเปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท อัครา รีซอร์เซส จำกัด ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าร้อยละ 80-90  ซึ่งจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปี 2563 แต่ยังไม่สามารถอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบสวนได้ในขณะนี้  รวมถึงไม่สามารถบอกได้ว่า ผลของการสอบสวนจะนำไปสู่ขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลใดหรือไม่


ส่วนประเด็นข้อร้องเรียนอื่นๆ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ซึ่งมีผู้ยื่นร้องเรียนมาที่ ป.ป.ช.มากกว่า 20 ประเด็นนั้น นายวรวิทย์ ยอมรับว่าประเด็นต่างๆ มีรายละเอียดมาก และไม่สามารถบอกความคืบหน้าแต่ละประเด็นได้ เพราะอยู่ในสำนวน แต่บอกเป็นภาพกว้างได้ว่า ทุกประเด็นอยู่ในคดีหมด แต่อาจรวมประเด็นเข้าด้วยกัน ซึ่งทางคณะกรรมการ ป.ปช. ได้สั่งเจ้าหน้าที่รวมสำนวนไว้ด้วยกัน โดยการสอบสวนของ ป.ป.ช.บางเรื่องเห็นว่าถ้าพยานหลักฐานใดที่รวบรวมได้ก่อนได้ ก็ดำเนินการไปก่อน ส่วนเรื่องใดที่ยังรวบรวมไม่ได้ก็ยังไม่ได้นำมาสู่การพิจารณา

ส่วนกรณีข้อร้องเรียนสำนวนสินบนข้ามชาติ ที่ป.ป.ช.รับเรื่องไว้และมีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ตั้งแต่ปี 2558  โดยตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย ส่งข้อมูลมาให้ ป.ป.ช.ไทย พร้อมหลักฐานเกี่ยวข้อง ที่สงสัยว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ไทยรับสินบน ในขั้นตอนการให้สัมปทานประกอบกิจการ ซึ่งนายวิชา มหาคุณ อดีต กรรมการ ป.ป.ช. เคยให้สัมภาษณ์พิเศษ “ไทยพีบีเอส” เกี่ยวกับประเด็นการสอบสำนวนสินบนข้ามชาติไทย ตามรายละเอียดนี้ https://news.thaipbs.or.th/content/5696 ซึ่งจนถึงขณะนี้ ผ่านไปแล้ว 4 ปี


นายวรวิทย์ ระบุว่า การตรวจสอบเรื่องนี้ ยังไม่แล้วเสร็จเช่นกัน มีความคืบหน้าร้อยละ 50  เนื่องจากยังไม่ได้รับเอกสารข้อมูลจากต่างประเทศ  โดยเอกสารที่จะนำเข้ามาสู่การพิจารณาในสำนวนได้ จะต้องมีเอกสารที่ผ่านกระบวนการเป็นทางการ  แต่คณะกรรมการที่รับผิดชอบจะพิจารณาด้วยว่าการทำคดี มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเด็นการสอบเรื่องสินบนข้ามชาติติดปัญหาเรื่องเอกสารหลักฐานที่จำเป็นต้องอาศัยจากต่างประเทศยังไม่ได้รับมา และข้อมูลที่เกี่ยวกับเส้นทางการเงิน รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ความยากในการตรวจสอบเรื่องนี้ คือการรวบรวมพยานหลักฐาน เอกสารต่างๆ ที่จะต้องได้มา เพื่อนำมาเชื่อมโยงว่าเกี่ยวกับบุคคลใดบ้าง 

ขณะที่กรณีการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการที่รัฐบาลไทย ตั้งตัวแทนคณะเจรจา หลังจาก บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัทอัคราฯ ทาง ป.ป.ช. ไม่เคยส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลหรือคณะทำงานเพื่อใช้ต่อสู้คดี เนื่องจากเห็นว่า เป็นคนละส่วนกันระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช. กับ การต่อสู้คดีทางอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐบาลไทย กับ บริษัทเหมืองแร่ทองคำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการยื่นสอบสวนคดีเหมืองแร่ทองคำที่ผ่านมา มีทั้งกลุ่มชาวบ้านนำโดย น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง และกลุ่มภาคประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ และนางสาวอารมย์ คำจริง ได้ยื่นประเด็นที่ขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบรวมกว่า 20 ประเด็นเกี่ยวกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตั้งแต่ปี 2557 เรื่อยมาจนถึงต้นปี 2562  แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีประเด็นใด ที่ให้คำตอบผู้ร้องเรียนได้กระจ่าง

ทั้งนี้ ระหว่างกระบวนการสอบสวน เกิดการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสำนวนคดีนี้ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และตั้งคณะทำงานชุดใหม่ขึ้นมาแทน โดย ป.ป.ช.แจ้งผู้ร้องเรียนว่า จะไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการตรวจสอบในทุกประเด็น และเมื่อ 1 ปีที่แล้ว เมื่อภาคประชาสังคมฯ ได้เดินทางไปเร่งรัดและทำหนังสือขอให้ ป.ป.ช.ชี้แจงการสอบสวนในความรับผิดชอบที่เกิดความล่าช้า แต่ก็ไม่มีความชัดเจนต่อประเด็นการสอบสวน  ล่าสุดภาคประชาสังคมฯ จึงยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด และนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน  เนื่องจากเห็นว่า เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง