ผู้ประกอบการค้านขึ้นค่าแรง หวั่นซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ
20 พ.ย. 62
12:59
1,529
Logo Thai PBS
ผู้ประกอบการค้านขึ้นค่าแรง หวั่นซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ
ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งมองว่าการขึ้นค่าเเรงจะซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ โดยขอให้ชะลอไปอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันนี้ (20 พ.ย.) จะพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ให้ทันประกาศใช้ภายในปีนี้ หลังถูกชะลอปรับขึ้นตั้งเเต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

วันนี้ (20 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ ลูกจ้าง และนายจ้าง จะมีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ให้ทันประกาศใช้ภายในปีนี้ หลังถูกชะลอปรับขึ้นตั้งเเต่เดือน เม.ย.2562

"หอการค้าไทย" แนะชะลอขึ้นค่าแรงอย่างน้อย 6 เดือน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตอนนี้เศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกหดตัวจากเงินบาทแข็งค่า กระทบความสามารถในการเเข่งขันของเอกชน หากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็นอัตราใดก็กระทบผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันก็ขาดทุนอยู่เเล้ว หากเป็นไปได้ควรชะลอการขึ้นค่าเเรงออกไปอย่างน้อย 6 เดือน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการมีปัญหาขีดความสามารถในการเเข่งขัน จากเงินบาทที่เเข็งค่าต่อเนื่อง หลายอุตสาหกรรมส่งออกไม่ได้ ต้องลดกำลังการผลิต หากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จะยิ่งซ้ำเติม ทำให้เเข่งขันไม่ได้ ซึ่งในปัจจุบันต้นทุนค่าเเรงงานไทยสูงสุดในอาเซียน หรือ 325 บาท อันดับ 2 คือฟิลิปปินส์ 197-341 บาท, เวียดนาม 156-173 บาท และอินโดนีเซีย 99-271 บาท เป็นต้น

ส.อ.ท.ชี้ไม่ควรปรับขึ้นค่าแรงในอัตราเท่ากันทุกจังหวัด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี แต่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในระดับ 2-10 บาท ก็ไม่ต่ำไม่สูงเกินไป ซึ่งต้องไม่ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ โดยพิจารณาตามศักยภาพของแต่ละจังหวัด

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็นระดับที่ผู้ประกอบการรับได้ ประมาณร้อยละ 2 หรือ 6-7 บาท จากปัจจุบัน 320 บาทต่อวัน เป็น 326-327 บาทต่อวัน แต่ถ้าขึ้นเกินร้อยละ 3 จะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเพื่อส่งออก

อย่างไรก็ตาม หากไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเลย ก็อาจกระทบธุรกิจเช่นกัน เนื่องจากการผลิตเครื่องนุ่งห่มในปัจจุบัน จำหน่ายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ซึ่งตลาดในประเทศไม่ขยายตัวเลย เนื่องจากเเรงงานไทยไม่ได้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมานาน เมื่อเทียบกับกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม แม้ค่าเเรงต่ำกว่า แต่ปรับขึ้นทุกปี ทำให้ความเเตกต่างระหว่างค่าเเรงของไทยและกลุ่ม CLMV เริ่มลดลง

ผู้ประกอบการขอให้คำนึงยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการมองเฉพาะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยก็ต้องการให้คำนึงถึงการยกระดับประสิทธิภาพของเเรงงานไทยด้วย เพราะหากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ผลผลิตที่ได้เท่าเดิม ก็เท่ากับว่าต้นทุนต่อหน่วยของผู้ประกอบการจะสูงขึ้น กระทบความสามารถในการเเข่งขัน

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลผลักดันการเพิ่มผลิตภาพเเรงงานให้เป็นวาระเเห่งชาติ มากกว่าการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่าเเรงขั้นต่ำ ที่อาจทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงได้ และอาจส่งผลให้ล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

คสรท.ขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำสอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ

ด้าน น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกจ้างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้รายได้ไม่พอใช้จ่ายในแต่ละวัน จึงอยากปรับให้ค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่เป็นจริง

สำหรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบัน กำหนดวันละ 308-330 บาท แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดย จ.ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง ได้รับสูงสุดที่ 330 บาทต่อวัน ส่วน จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้รับต่ำสุดที่ 308 บาทต่อวัน ขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน

"ทีดีอาร์ไอ" แนะแยกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแรงงาน 2 ระบบ

นายสราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ลูกจ้างเอกชนที่ได้ค่าจ้างระดับต่างๆ ปีนี้ มี 14.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ได้เงินต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 318 บาทต่อวัน หรือ 8,267 บาทต่อเดือน สูงถึง 4 ล้านคน ส่วนผู้ที่ได้ค่าจ้าง 10,000 บาทต่อเดือน หรือวันละ 400 บาท มี 9 แสนคน

นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ ยังได้เสนอว่าเวลานี้ต้องแยกเป็น 2 ระบบ คืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำใช้สำหรับแรงงานแรกเข้า ยังไม่มีทักษะ และอัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ขณะที่การขึ้นค่าจ้างในสถานการณ์เศรษฐกิจฝืดเคือง จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs จึงไม่ควรขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่หากไม่ปรับขึ้นเลย แรงงานจะได้รับความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง