ถกอนุญาโตฯ รอบใหม่ เหมืองทองไทย-ออสเตรเลีย ก.พ.63

สิ่งแวดล้อม
21 พ.ย. 62
15:42
1,770
Logo Thai PBS
ถกอนุญาโตฯ รอบใหม่ เหมืองทองไทย-ออสเตรเลีย ก.พ.63
อนุญาโตตุลาการ เคาะได้ข้อสรุปนัดไต่สวนข้อพิพาทเหมืองทองรอบใหม่ วันที่ 3 ก.พ.2563 ย้ายสถานที่จากฮ่องกงไปสิงคโปร์แทน ด้านรัฐบาลไทย-คิงส์เกตฯ ส่งตัวแทนระดมสู้คดีมากกว่าฝั่งละ 10 คน

วันนี้ (21 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงาน ข้อพิพาทคดีเหมืองแร่ทองคำ หลังจากกำหนดเดิมที่มีนัดไต่สวนชั้นอนุญาโตตุลาการนัดแรก เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ระหว่างรัฐบาลไทย กับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด สัญชาติออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด  ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ใน จ.พิจิตร รอยต่อ จ.เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ต้องเลื่อนออกไปจากสถานการณ์ประท้วงรุนแรงที่ฮ่องกง และทำให้ทีมเจ้าหน้าที่ไทยกว่า 10 คน ซึ่งเดินทางไปถึงฮ่องกงล่วงหน้า ต้องรีบเดินทางกลับ ซึ่งตามกำหนดเดิมจะมีการไต่สวนระหว่างวันที่ 18–29 พ.ย.2562

ทั้งนี้ การไต่สวนในชั้นอนุญาโตตุลาการรอบใหม่ขณะนี้ มีความชัดเจนว่าถูกเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า วันที่ 3 ก.พ.2563 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยล่าสุดวันนี้  มีแถลงการณ์จากบริษัทอัคราฯ ที่ยังยืนยันว่า บริษัทพร้อมจะเจรจากับรัฐบาลไทย โดยระหว่างนี้ บริษัทจะดำเนินการขอเข้าพบหารือถึงแนวทางการปฏิบัติ เพื่อหาทางออกร่วมกัน


สำหรับคดีเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ เป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผลจากคำสั่งปิด ที่อ้าง มาตรา 44  เมื่อปี 2559  ทำให้บริษัทคิงเกตส์ บริษัทแม่สัญชาติออสเตรเลีย ตัดสินใจใช้กระบวนอนุญาโตตุลาการ

ส่วนกระบวนการอนุญาโตตุลาการ คือการระงับข้อพิพาทโดยไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย จะเป็นผู้เลือกบุคคล เพื่อทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาด โดยที่คู่กรณีตกลงที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น ซึ่งบุคคลที่เป็นอนุญาโตตุลาการ ตามหลักทั่วไปแล้ว จะเป็นนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ที่มีข้อพิพาท เพื่อให้กระบวนการไปต่อและได้ข้อยุติด้วยความรวดเร็ว

 

ย้อนมติ ครม.-ม.44 ปิดเหมืองฟื้นฟูสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

นอกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ต้องติดตามแล้ว ประเด็นที่ยังคงถูกตั้งคำถาม ทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งหากย้อนดูเฉพาะช่วงการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีต่อมติให้หยุดประกอบกิจการ รวมถึง การใช้มาตรา 44 (อ่านเพิ่มเติม : "พล.อ.ประยุทธ์" ใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ยุบ 3 หน่วยงาน-ระงับการทำเหมืองทองคำ) ก็จะเห็นเหตุผลที่สั่งให้บริษัทยุติประกอบกิจการ มาจากอายุใบอนุญาตถลุงทองคำของบริษัทที่สิ้นสุดในปี 2559 อยู่แล้ว และ โจทย์ใหญ่ คือการฟื้นฟูสภาพพื้นที่หลังจากปิดต้นปี 2560 แต่ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการฟื้นฟูด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน วันนี้จะย้อนประมวลสถานการณ์กันอีกครั้ง


ถ้าย้อนเหตุการสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ ต้นปี 2560 สืบเนื่องมาจาก มติคณะรัฐมนตรีกลางปี 2559 หลังจากคณะทำงานที่รัฐบาลมอบหมาย ได้ทำข้อสรุปรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการลงพื้นที่และพบข้อมูลเชิงประจักษ์ที่พบสารโลหะหนักในสุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อมหลายจุดสูงเกินค่ามาตรฐาน


และด้วยรายละเอียดเชิงพื้นที่ และข้อมูลกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้ตรวจสอบ ทำให้การสรุปข้อมูลเสนอต่อคณะรัฐมนตรี จึงไม่ใช่แค่เอกสารอย่างเดียว แต่เป็นการทำวีดีทัศน์ เพื่อให้กระจ่างมากขึ้น และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง

แม้ไม่ถึงขั้นพิสูจน์ได้ว่า ผลกระทบเหล่านี้ เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำหรือไม่ แต่ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม ที่เกี่ยวกับขั้นตอนถลุงทองคำ จะสิ้นสุดอีกเพียง 3 วัน ก่อนคณะรัฐมนตรีขณะนั้นจะมีมติ แต่สุดท้าย เหมืองก็ได้ต่อใบอนุญาตขยายออกไปจนถึงสิ้นปี 2559 และหลังจากนั้น จึงให้ปิดเหมือง เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ โดยมี 4 กระทรวง รับผิดชอบ

 

แต่เมื่อแผนฟื้นฟูหลังปิดเหมืองไม่ชัดเจน แผนแก้ปัญหาสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ไม่ขับเคลื่อนอย่างเห็นผล  ในช่วงปลายปี 2559 หัวหน้าคสช. จึงใช้อำนาจตาม มาตรา 44 มีเนื้อหาเดียวกับเมื่อครั้งเป็น มติคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้  เพื่อสำทับให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาและ ตอกย้ำให้หยุดนโยบายเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ตามที่มีประชาชนร้องเรียน

ปัจจุบันแม้ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมของเหมืองแร่ทองคำสิ้นสุดลง แต่ใบอนุญาตประกอบกิจการ ยังคงอยู่ถึงปี 2571 บริษัทเหมืองทองคำ ยังมีศักยภาพแร่เหลืออยู่ กว่า  35 ล้านตัน แบ่งเป็น แร่ทองคำกว่า 890,000 ออนซ์ มูลค่ากว่า 37,000 ล้านบาท แร่เงินเกือบ 9 ล้านออนซ์ มูลค่ากว่า 4,700 ล้านบาท  นี่อาจเป็นความพยายามของบริษัทที่ต้องการกลับมาประกอบกิจการต่อไปบนพื้นที่ขนาดกว่า 3,000 ไร่ เหมืองแร่ทองคำแห่งใหญ่ที่สุดของประเทศ 


ท่ามกลางประเด็นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ชาวบ้านรอบเหมืองต้องการให้รัฐแก้ปัญหา ควบคู่กับการตรวจสอบคดีต่างๆ ที่เป็นข้อสงสัย และอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของทั้ง ดีเอสไอ และ ป.ป.ช.

 

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จี้รัฐบาลเร่งสอบเหมืองทอง ยื่น 19 ข้อ ให้ ป.ป.ช. 6 ปียังไม่คืบหน้า

 กรรมการ ป.ป.ช.ไม่ตอบ คดีเหมืองทอง สอบ 4 ปีไม่คืบหน้า

 ป.ป.ช.สอบสินบนข้ามชาติเหมืองทอง 6 ปี ยังไม่จบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง