ก้าวต่อไปของอนาคตใหม่ เมื่อ "ธนาธร" ไม่ได้เข้าสภา

การเมือง
22 พ.ย. 62
12:55
748
Logo Thai PBS
ก้าวต่อไปของอนาคตใหม่ เมื่อ "ธนาธร" ไม่ได้เข้าสภา
วิเคราะห์ก้าวต่อไปของพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ "ธนาธร" พ้น ส.ส. ไม่สามารถเล่นการเมืองในสภาฯ พร้อมจับตาการจุดกระแสปฏิรูปกองทัพ แก้รัฐธรรมนูญ และการเมืองท้องถิ่น ในแบบฉบับพรรคอนาคตใหม่นับจากนี้

จนถึงขณะนี้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้สิ้นสุดความเป็น ส.ส.ลงแล้ว หลังมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญว่า ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ ได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น ได้นายธนาธรยังคงผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส.

ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัย มีการระบุว่า ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าในวันที่ 8 มกราคม 2562 นายธนาธรได้เดินทางกลับจากจังหวัดบุรีรัมย์และอยู่ในกรุงเทพมหานคร "แต่ไม่ได้หมายความว่ามีการโอนหุ้นในวันดังกล่าวจริง" และต้องพิจารณาพยานหลักฐานอื่น ๆ ประกอบพฤติการณ์แห่งคดี ซึ่งศาลเห็นว่ามี "ข้อพิรุธที่น่าสงสัยหลายประการ"

 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธรสิ้นสุดลงตั้งแต่ 23 พ.ค. 2562 หลังรับทราบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นายธนาธร ไม่ได้มีท่าที่ประหลาดใจ และได้เคยให้สัมภาษณ์ย้ำหลายครั้งว่า ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไรก็พร้อมยอมรับ ไม่ได้มีการวางแผนสำรอง หรือแผนสองรองรับ

แต่สิ่งที่นายธนาธรเป็นกังวลยิ่งกว่า และยืนยันหลายครั้ง คือ เรื่องอนาคตของพรรคอนาคตใหม่ และได้ย้ำหลายครั้งว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของ "ผมคนเดียว" ไม่เกี่ยวกับ "การยุบพรรคอนาคตใหม่" 

หลังรับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายธนาธรย้ำสถานะของตัวเองและพรรคอนาคตใหม่ว่า แม้ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็ยังทำงานต่อในฐานะ "หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่" และยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่

ผมยังคงทำหน้าที่ต่อไป ผมจะรอวันนั้น แล้วสักวันผมจะกลับ การเลือกตั้ง 24 มีนาคม ไม่ใช่สมรภูมิเดียว แต่พรรคอนาคตใหม่ยังต้องผ่านการเลือกตั้งอีกเยอะ อย่าไปกังวลเรื่องการยุบพรรค

เป็นความจริงที่ว่า นายธนาธร ยังเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทำหน้าที่ 1 ใน 7 พรรคฝ่ายค้านในสภา นายธนาธรยังคงมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 สภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วน "คนนอก" รวมทั้งยังทำหน้าที่หัวหน้าทีมเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ต่อไป

แต่ความหวังของนายธนาธร ที่จะให้พรรคอนาคตใหม่รอดจากการถูกยุบพรรค อาจไม่ง่าย และโอกาสที่นายธนาธรจะต้องทำงานการเมืองนอกสภา อาจยืดยาวออกไป เนื่องจากยังมีโอกาสที่นายธนาธรจะถูกสั่งให้เว้นวรรคทางการเมือง

ฝ่าด่านเว้นวรรคการเมือง 20 ปี

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก็มีคำยืนยันจาก พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่า กกต.กำลังสืบสวนและไต่สวน เพื่อดำเนินการตามมาตรา 151 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

"ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัคร ระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี"

ซึ่งกรณีนี้ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่านายธนาธร รู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง โดยมีเดิมพันคือ "นายธนาธร"อาจต้องเว้นวรรคทางการเมือง 20 ปี หากพิสูจน์ไม่ได้

 

ส่วนการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็ยังมีช่องทางตาม มาตรา 132 วรรค 3 ของกฎหมายเลือกตั้งฯ ที่ระบุไว้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ได้ยับยั้ง กรณีที่มีผู้สมัครทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอยุบพรรคได้

และยังมีคดีที่ กกต.กำลังพิจารณากรณี นายธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท ซึ่ง กกต.เพิ่งมีมติให้นายธนาธรส่งเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

คดีนี้ มีผู้ร้องว่า เป็นการกระทำที่ขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 72 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ
"ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย"

ซึ่งในมาตรา 92 ของกฎหมายพรรคการเมือง ยังระบุด้วยว่า เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามการกระทำผิดจริง ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

 

แต่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โต้แย้งมาโดยตลอดว่า กฎหมายพรรคการเมืองไม่มีข้อห้าม ไม่ให้พรรคการเมืองกู้เงิน พรรคการเมืองไม่ใช่หน่วยงานรัฐ มีเสรีภาพในการกระทำการ และพรรคมีการทำสัญญากู้เงินจากนายธนาธรโดยเปิดเผย ต้องจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย และตามกฎหมายพรรคการเมือง "เงินกู้" ไม่ถือเป็นรายได้ของพรรค กรณีนี้จึงไม่น่าจะนำมาสู่การยุบพรรคการเมืองได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวนายปิยบุตรเอง ยังมีคดีค้างอยู่จากกรณีแถลงข่าวหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ เป็นการดูหมิ่นศาล ซึ่งอัยการนัดฟังคำสั่ง 28 พฤศจิกายนนี้ และยังมีคดีอื่น ๆ ที่มีแกนนำพรรคอนาคตใหม่เข้าไปเกี่ยวข้องอีกนับสิบคดี

"เล็กเพื่อใหญ่ ล้มเพื่อลุก" บทสรุปเดินหน้าการเมืองต่อ

สถานการณ์ต่าง ๆ ที่พรรคอนาคตใหม่กำลังเผชิญ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลต่ออนาคตของพรรคอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของแกนนำพรรค เพราะตระหนักดีว่า นายธนาธรและนายปิยบุตร มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับตามาโดยตลอด และคุณสมบัติที่มีความโดดเด่น จนกลายเป็นเป็นความท้าทายของ "พรรคอนาคตใหม่" ว่าระยะยาวจะทำอย่างไร หากหัวหน้าพรรคไม่ใช่ "ธนาธร"

"แต่ถ้าไม่ใช่ธนาธร ผมคิดว่าคนอื่นก็เป็นได้ อาจารย์ปิยบุตรก็เป็นได้ และในอนาคตผมคิดว่าเราก็จะมีบุคลากรเข้ามาอีก เราจะไม่สร้างพรรคอนาคตใหม่ให้เป็นพรรคที่ติดอยู่กับตัวบุคคล คุณธนาธรพูดเสมอว่าพรรคอนาคตใหม่จะต้องมีอายุยืนยาวมากกว่าตัวคุณธนาธร" นี่คือคำตอบของนายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยให้ไว้ต่อคำถามที่ว่าหากหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ไมใช่ "ธนาธร" จะเป็นใคร

 

ส่วนนายธนาธรเอง ก็เคยกล่าวไว้หลังแพ้การเลือกตั้งในจังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมและเริ่มกระแสความแตกแยกภายในพรรคอนาคตใหม่ โดยเปรียบเทียบว่า ส.ส.ที่ยังคงอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ ล้วนแต่เป็นเหล็กเนื้อดี ขณะที่สถานการณ์และกาลเวลาที่ผ่านไป เปรียบเสมือน "ไฟ" ที่จะเผาให้ "สนิม" ออกไปจากตัวเอง

เราเล็กเพื่อใหญ่ ล้มเพื่อลุก และจะเดินหน้าทำงานภายใต้ร่มอนาคตใหม่

นี่คือบทสรุปที่นายธนาธรเคยกล่าวไว้ในวันที่ล้ม ภายใต้ความคาดหวังว่าไม่ว่าจะสูญเสีย ส.ส. หรือสมาชิกพรรคไป ก็ขอให้พรรคอนาคตใหม่จะยังคงมีอยู่

นายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรค และเป็นอดีตนิสิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯที่ใกล้ชิดนายธนาธร อดีตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผ่านการทำกิจกรรมนักศึกษาในนาม "สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย" หรือ สนนท.ในช่วงปี 2541-2544 เคยเล่าว่า ในช่วงต้นของการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เคยมีข้อเสนอว่า ยังไม่ควรตั้งพรรคการเมือง แต่ควรสร้างฐานของพรรคการเมืองในอนาคตให้เข้มแข็งเสียก่อน

เช่น สร้างขบวนการเคลื่อนไหวนอกสภาคู่ขนานไป แล้วค่อยพัฒนาเป็นพรรคการเมือง เพราะไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะประสบความสำเร็จในการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจทำ โดยมีเหตุผลสำคัญว่า เพื่อที่วันข้างหน้าในอนาคต จะได้ไม่เสียใจว่าทำไมไม่ตั้งพรรคการเมือง

 

ดังนั้นเป้าหมายของพรรค ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ผู้คนรู้สึกอยากจะหันหลังให้กับการเมือง คือต้องการดึงคนให้กลับมาสนใจการเมืองได้อีกครั้ง ซึ่งในสายตาของผู้ก่อตั้งพรรค ก็เห็นว่า นี่ถือเป็นการประสบความสำเร็จ และมีความหมายกว่าจำนวน ส.ส.ในสภา

แม้พรรคอนาคตใหม่จะตอกย้ำมาโดยตลอดว่า ตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองตามระบบ ระหว่างหาเสียงก็ทำตามกฎหมาย เมื่อเข้าสภาทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ แก้รัฐธรรมนูญก็รณรงค์อย่างสันติ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดจากความไม่พร้อมของพรรคและบุคลากรในพรรคด้วย ในฐานะพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ มีอายุเพียง 1 ปีเศษ เริ่มการจัดตั้งพรรคจากคนเพียง 3 คน จนสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 474 เขตทั่วประเทศ มี ส.ส.ถึง 80 คน และมีคะแนนนิยมจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองสูงสุดเป็นอันดับ 1 กว่า 6 ล้าน 2 แสนเสียง ซึ่งถือเป็นช่วงระยะเวลาไม่นาน

จำเป็นต้องถอดบทเรียนที่เกิดขึ้น ปรับวิธีการดำเนินการทางการเมืองให้มีความพร้อม ผสมผสานความหลากหลายและแตกต่างของบุคลากรภายในพรรคให้มีความเข้มแข็ง เพื่อไม่ถูกดีดออกจากระบบการเมืองเพราะความเพลี่ยงพล้ำผิดพลาดของตัวเอง หรือความไม่เท่าทันต่อกติกาในการแข่งขัน และเดินหน้าตามจังหวะก้าวที่พรรคเคยวางเอาไว้

ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้เลิกเกณฑ์ทหาร การรณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้คะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเป็นกลไกรองรับทั้งสิ้น

รวมทั้งการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศที่กำลังจะมาถึง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสนามที่ทุกพรรคการเมืองต่างให้ความสำคัญ เป็นการสร้างฐานทางการเมืองที่จำเป็น และสอดรับกับเป้าหมายของนายธนาธรที่ประกาศจะกลับมาอีกครั้ง และจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต่อไปในโอกาสข้างหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง