กรมวิชาการเกษตรชงเลื่อนจัดการสต๊อก 3 สารเคมีอีก 6 เดือน

สิ่งแวดล้อม
22 พ.ย. 62
20:04
4,412
Logo Thai PBS
กรมวิชาการเกษตรชงเลื่อนจัดการสต๊อก 3 สารเคมีอีก 6 เดือน
ประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด เตรียมเสนอให้เลื่อนการจัดการสต๊อกสารเคมีออกไปอีก 6 เดือน หลังการแบน 3 สาร เนื่องจากผู้ประกอบการขอให้มีมาตรการเยียวยาชะลอการจัดการสต๊อกออกไปก่อน

วันนี้ (22 พ.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับมอบหมายให้ไปดำเนินการเกี่ยวกับการแบนสารเคมี 3 ชนิด เพื่อส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายังไม่ครบถ้วน ซึ่งก็กลายเป็นข้อสงสัยและคำถามว่า การยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด จะยังคงตามมติในวันที่ 1 ธ.ค.หรือไม่


ภายหลังการประชุมที่ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธาน คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด เปิดเผยว่า ตัวแทนกรมวิชาการเกษตร ได้มีการนำเสนอความคืบหน้าการจัดการสต๊อกหลังมีการแบน 3 สาร ซึ่งได้มีการหารือกับผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ระบุว่าการจะให้ส่งออกไปประเทศต้นทาง หรือประเทศที่ใช้อยู่ ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ หากเป็นสารที่ผสมแล้ว ก็จะส่งออกยากเพราะแต่ละประเทศใช้สัดส่วนไม่เหมือนกัน จึงขอเวลาในการจัดการ ซึ่งอาจเสนอให้มีการเลื่อนเวลาการจัดการที่เดิมตามคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ให้มีการแจ้งกทรครอบครอง 15 วัน และส่งคืนภายใน 15 วัน หลังการแบนมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 โดยอาจให้ยืดเวลาออกไปอีก 6 เดือน

ส่วนมาตรการรองรับผลกระทบ เดิมตั้งใจไว้ว่าวันนี้จะให้ได้ข้อสรุปมาตรการ หลังการแบนสารเคมีเกษตร กำลังจะมีผลในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ แต่จากการนำเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่พบว่า ต้นทุนในการทดแทนสารเคมีกำจัดวัชพืช 2 ชนิด คือ พาราควอต และไกลโฟเซตนั้นจะสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสารทดแทน การใช้เครื่องจักร หรือแม้แต่วิธีผสมผสาน และได้ไปคำนวนเพื่อทำตัวเลขของการจ่ายเงินเยียวยา แต่ตัวเลขที่ทำมา ยังไม่ได้มีการสรุปเป็นค่าเฉลี่ย จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทำเพื่อแยกออกมาให้ชัด ตามประเภทของพืชไร่ และพืชยืนต้น เพื่อให้มีการจ่ายเงินเยียวยาตามประเภทในวงเงินเดียวกัน เพื่อให้ครอบคลุมและสะดวกต่อการดำเนินการ


นอกจากนี้ ยังให้กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไปวางแนวทางในการปฏิวัติการกำจัดวัชพืชใหม่ ที่ไม่ใช่การใช้สารเคมีเกษตร ส่วนการหาสารชีวภัณฑ์ ได้เน้นย้ำกับพัฒนาที่ดิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ กรมวิชาการเกษตร ให้เร่งดำเนินการศึกษาการหาสารชีวภัณฑ์กำจัดศรัตรูพืช

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า การที่ยังไม่ได้ข้อสรุปมาตรการที่ชัดเจนวันนี้ไม่ได้เป็นการดึงเชงให้ล่าช้าออกไป เพราะมาตรการของคณะทำงานชุดนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับข้อมูลที่ส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา การจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนวันที่มีผลบังคับในการยกเลิกออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

ตีกลับงบฯ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแบน 3 สาร

นายอนันต์ เปิดเผยอีกว่า คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำข้อมูลมาใหม่เกี่ยวกับงบประมาณเพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ที่สูงถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อมาเสนอในการประชุมในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ตัวเลขที่เสนองบประมาณเยียวยามามากเกินไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกว่า 520,000 ครัวเรือน ซึ่งยังไม่รวมเกษตรกรชาวสวนยาง จึงได้ให้ไปรวบรวมมาด้วย คาดว่าจะมีเกือบ 600,000 ครัวเรือน ซึ่งงบฯ เยียวยาอาจมากไปถึง 4 หมื่นล้านบาท โดยมาตรการจ่ายเงินเยียวยา ให้จำแนกเป็นกลุ่มพืช

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสต๊อกล่าสุด สารเคมีเพิ่ม 38,855 ตัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง