วางแผนรับมือ "ฝุ่น PM 2.5" กลับมาอีกระลอก ธ.ค.นี้

สังคม
23 พ.ย. 62
07:44
2,618
Logo Thai PBS
วางแผนรับมือ "ฝุ่น PM 2.5" กลับมาอีกระลอก ธ.ค.นี้
สธ. คาด ธ.ค.นี้ ฝุ่น PM 2.5 กลับมาอีกระลอก เร่งให้ความรู้ 4 กลุ่มเสี่ยง “เด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง-ผู้ป่วยโรคหอบ” สั่งสถานพยาบาลรับมือการเจ็บป่วย พร้อมวางเกณฑ์เปิดวอร์รูม 4 ระดับ

เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2562 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมและติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่จะสูงขึ้นในช่วงเดือนธ.ค.ของทุกปี โดยได้มอบข้อสั่งการ 8 ข้อ ดังนี้ 

1.ให้ทุกพื้นที่เตรียมการรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์ประเมินความเสี่ยง แจ้งเตือนประชาชนและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนทุกวัน

2.ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ

3.เตรียมความพร้อมดูแลกลุ่มเสี่ยง ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้คำแนะนำกับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยติดเตียง

4.สถานบริการทุกแห่งเตรียมความพร้อม น้ำ ไฟสำรอง ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และพร้อมเปิดคลินิกมลพิษ เพื่อรักษา ให้คำปรึกษาแก่ประชาชน และเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานพยาบาลทุกระดับ

5.เฝ้าระวังผู้ป่วยนอกที่มารับบริการในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผิวหนัง ระบบตา และอื่นๆ รายงานส่วนกลางทุกสัปดาห์

6.หากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีปริมาณมากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)เกิน 3 วัน ให้จังหวัดพิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public Health Emergency Operation Center : PHEOC)

7.ใช้กลไกคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดในการเตรียมการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

และ 8.จัดกิจกรรมองค์กรปลอดฝุ่นเพื่อเป็นต้นแบบขององค์กรลดฝุ่นละออง

นายแพทย์สุขุม กล่าวว่า ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ โดยกรมอนามัยทำหน้าที่ตรวจติดตามปริมาณค่า PM 2.5 ทั่วประเทศ และพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันและผลิตสื่อให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพให้ อสม.เป็นแกนนำด้านสุขภาพ ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ในการปฏิบัติตนในสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่ถูกต้อง กรมควบคุมโรค ทำระบบรายงานกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยที่อาจมีอาการกำเริบที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ กรมการแพทย์ได้พัฒนาความรู้และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เปิดคลินิกมลพิษเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

วางเกณฑ์เปิดวอร์รูม 4 ระดับ

นอกจากนี้กระทรวงฯยังได้มีการปรับแผนรับมือ โดยจะผลักดันให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ใน 4 ระดับ คือ

1.ระดับจังหวัด โดยหากมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ก็ให้เปิดศูนย์ฯ ระดับจังหวัดขึ้น โดยมี สสจ. เป็นผู้สั่งการ 2.ระดับเขตสุขภาพ ในกรณีมีการเปิดศูนย์ฯ ระดับจังหวัด มากกว่า 1 จังหวัด ให้มีการเปิดศูนย์ฯ ระดับเขตฯ

3.ระดับกรม คือหากมีการเปิดศูนย์ฯ ระดับเขตมากกว่า 2 เขต จะต้องมีการเปิดศูนย์ฯ ระดับกรมขึ้น โดยมีอธิบดีกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการแพทย์ และกรมสบส.ร่วมกันรับผิดชอบ และ 4. ระดับกระทรวง กรณีที่มีการเปิดศูนย์ฯ ระดับเขตเกิน 3 เขต หรือขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และนโยบายของผู้บริหารในการพิจารณาเปิดศูนย์ระดับกระทรวงขึ้นได้ ทั้งนี้ ภายหลังเปิดศูนย์ฯ แล้วหากสถานการณ์ฝุ่นลดต่ำกว่า 75  มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 6 วัน ให้ปิดศูนย์ฯ 

สำหรับประชาชนเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง ให้เปลี่ยนเป็นสถานที่ที่ปลอดโปร่งหรือในโรงยิมแทน หลีกเลี่ยงการเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เช่น การจุดธูป การเผาขยะ รวมถึงดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น หากต้องออกจากบ้านควรใส่หน้ากากอนามัย

ทั้งนี้  สามารถติดตามสถานการณ์ค่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง