วันแรกบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับ

สิ่งแวดล้อม
25 พ.ย. 62
15:55
8,674
Logo Thai PBS
วันแรกบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับ
วันนี้ (25 พ.ย.2562) วันแรกบังคับใช้กฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ถึง 3 ฉบับ "รมว.วราวุธ" เชื่อ เพิ่ม - ขยายพื้นที่ป่าชุมชน 15,000 แห่ง ด้านนักวิชาการชี้ยังจัดการรวมศูนย์อำนาจ ไม่มั่นใจแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ เสนอใช้กลไกรัฐสภา

ปรับกฎหมายเดิม เพิ่ม "ป่าชุมชน"

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 คือ กฎหมาย 2 ฉบับที่มีการแก้ไขปรับปรุงจากกฎหมายฉบับเดิม ที่บังคับใช้มานาน โดยเหตุผลที่ต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน จัดการกับภัยคุกคามต่อทรัพยากรป่าไม้ โดยเพิ่มบทลงโทษและค่าปรับสำหรับผู้กระทำผิด ที่สำคัญ ยังกำหนดวิธีการจัดการต่อชุมชนในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้สามารถยังคงอยู่อาศัย และทำกิน ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ส่วนอีกฉบับ คือ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 ที่ภาคประชาชนและนักวิชาการร่วมกันเรียกร้องมานานถึง 30 ปี สาระสำคัญ คือ อนุญาตให้ชุมชนที่มีความพร้อมสามารถขอจัดตั้งป่าชุมชนได้ เฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและที่ดินอื่นของรัฐ (ไม่ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ ตามที่เครือข่ายประชาชนเสนอ) รวมถึง การใช้ประโยชน์ เช่น การเก็บหาของป่า การตัดไม้ที่ไม่ใช่ไม้หวงห้าม รวมถึงการจัดทำเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะสามารถจัดตั้งป่าชุมชนให้ได้ 15,000 ป่า มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน และมีพื้นที่ป่าที่อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการป่าชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านไร่

 

เจตนาดี แต่ยังรวมศูนย์

รศ.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน มองว่า แม้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะมีเจตนาให้รัฐและชุมชนบริหารจัดการป่าไม้ร่วมกันได้ มุ่งหวังจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังและขัดแย้งมายาวนาน แต่ก็ยังมีคำถามว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร เมื่อกลไกการใช้อำนาจภายใต้กฎหมายนี้ยังใช้คงรวมศูนย์

การอนุมัติ อนุญาตต่าง ๆ ยังคงอยู่ที่อธิบดี แทนที่จะให้ความสำคัญกับชุมชนที่ร่วมปกป้อง ดูแลผืนป่ามาอย่างยาวนาน ได้มีส่วนร่วมบริหารจัดการป่าของพวกเขาเอง

 


ขณะที่กระบวนการตรวจสอบสิทธิการใช้ประโยชน์จากป่าโดยหน่วยงานรัฐยังพบความล่าช้า โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐสามารถตรวจสอบสิทธิให้กับชาวบ้านได้เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ยังไม่ถึงครึ่งของจำนวนชุมชนที่อยู่และทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งประมาณการว่ามีมากกว่า 4,000 ชุมชน และในจำนวนนี้มีหลายพื้นที่ที่การตรวจสอบสิทธิที่เกิดขึ้นก็ไม่ถูกยอมรับจากชาวบ้าน จนนำไปสู่ความขัดแย้ง ดังนั้นกระบวนการตรวจสอบที่ยังเป็นคำถาม จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้ข้อมูลไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ

 

เสนอทบทวนใหม่

รศ.เพิ่มศักดิ์ เสนอว่า เพื่อให้กลไกกฎหมายสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งและนำไปสู่การจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง อาจใช้กลไกรัฐสภาออกพระราชกฤษฎีกางดใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ พร้อมให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาทบทวนกฎหมายดังกล่าว ให้เกิดความเหมาะสม และเป็นที่ยอมรับของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน พร้อมมั่นใจว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ จะเข้าใจประเด็นการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน และคาดหวังให้ร่วมกับชุมชน ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ตั้งอนยู่บนฐานการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับป่าอย่างยั่งยืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สั่งยึดฟาร์มไก่ "ปารีณา" รุกป่า-สปก.เจอพ่วงส่ง ป.ป.ช.สอบ

จากผู้บุกรุก สู่ผู้ดูแล “ป่าชุมชนบ้านปี้”

ไฟเขียวกฎกระทรวง 2 ฉบับรับ "ป่าชุมชน" ให้สิทธิทำกินในป่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง