สธ.ห่วงสุขภาพประชาชน ย้ำจุดยืนแบน 3 สารเคมีเกษตร

สังคม
25 พ.ย. 62
17:40
476
Logo Thai PBS
สธ.ห่วงสุขภาพประชาชน ย้ำจุดยืนแบน 3 สารเคมีเกษตร
กระทรวงสาธารณสุข ย้ำจุดยืนยุติการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตรตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ชี้มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

วันนี้ ( 25 พ.ย.2562) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหาร ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและ ผอ.โรงพยาบาลทั่วประเทศ และร่วมกันแถลงข่าวย้ำจุดยืนยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอไพริฟอส โดยขอให้มีผลตามกฎหมายตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการฯ ทั้ง 29 ท่านมีมติเป็นเอกฉันท์ให้หยุดการใช้สารพิษทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ไม่ได้เกิดอันตรายเฉพาะตัวเกษตรกรผู้ใช้ที่เกิดจากการสัมผัส แต่ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้บริโภค เพราะสารเคมีจะแพร่ลงในดิน แหล่งน้ำ ผัก-ผลไม้ที่ปลูกจะมีสารเคมีอยู่ภายในเนื้อเยื่อ และมีผลทางการแพทย์ชัดเจนว่าสามารถดูดซึมเข้าไปในร่างกายทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ

ขอยืนยันว่าเราไม่สามารถสนับสนุนให้มีการใช้สารพิษต่อไปได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลทางการค้า ทางการพาณิชย์ ทางเศรษฐกิจใดๆ ก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงสุขภาพของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่สามารถเอาอะไรมาทดแทนได้ เราต้องรักษาชีวิตของพี่น้องประชาชนเอาไว้

 


นพ.สุขุม กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รณรงค์และขับเคลื่อนการยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตร ได้จัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานรณรงค์และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีฯ เปิด War Room ติดตามการดำเนินงานทุกสัปดาห์ รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน พัฒนาชุดทดสอบการปนเปื้อนในอาหาร รวมทั้งการจัดทำและบังคับใช้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน ให้ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยและลดการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในสภาพแวดล้อม

ในปี 2563 จะยกระดับระบบการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรและประชาชน โดยใช้กลไกคณะกรรมการจังหวัดภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคและการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 และประกาศให้ “ปี 2563 ปีแห่งเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรปลอดโรค ประชาชนปลอดภัย” ส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัย เป้าหมาย 5 ร. คือ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม โรงอาหาร และเรือนจำ รวมทั้งพัฒนาห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้าง พัฒนาเครือข่าย อสม.ในการใช้ชุดทดสอบการปนเปื้อนสารเคมี

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในปี 2561 พบผู้ป่วยโรคจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อมูลวิชาการพบว่า พาราควอต เป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง ปัจจุบันไม่มียาถอนพิษ ก่อให้เกิดการระคายเคืองทางตา ผิวหนัง หากมีบาดแผลจะซึมเข้าสู่ร่างกายรวดเร็ว สัมพันธ์กับการเกิดโรคหนังเน่า คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล ตรวจพบการตกค้างในทารกแรกเกิดและมารดา และงานวิจัยในต่างประเทศยืนยันมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน และระบบประสาท รวมทั้งพบการปนเปื้อนในน้ำผิวดิน ใต้ดิน น้ำประปา ในปลาที่เลี้ยงและจับจากแม่น้ำ ขณะนี้มีการห้ามใช้ถึง 58 ประเทศ

สำหรับไกลโฟเซต สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศภายใต้องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งได้ รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมที่อาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน อัลไซเมอร์ พบการตกค้างในทารกแรกเกิดและมารดา พบการปนเปื้อนในน้ำผิวดิน ใต้ดิน น้ำประปา รวมทั้งในปลาที่เลี้ยงและจับจากแม่น้ำเช่นเดียวกับพาราควอต

ส่วนคลอร์ไพริฟอส งานวิจัยต่างประเทศพบว่าเป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ระบบไทรอยด์ กระตุ้นการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งลำไส้ มีผลต่อความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับสารระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า ความจำสั้น และไอคิวต่ำ ตรวจพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับพาราควอต และเป็นสารกำจัดแมลงที่มีการตกค้างในผัก ผลไม้สูงที่สุด ทั้งที่จำหน่ายในทั้งตลาดสดและห้างค้าปลีก

 


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าได้เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากการรับสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด โดยดูแลสุขภาพประชาชนที่เจ็บป่วยแล้ว และที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะเจ็บป่วย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร พบว่าอัตราป่วยสอดคล้องกับพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิดของประเทศ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย และยางพารา ซึ่งมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ นอกจากนั้น ผลการคัดกรองประชาชนที่ยังไม่มีอาการป่วยพบว่า พื้นที่ที่เพาะปลูกพืช 4 ชนิดนี้มีร้อยละของประชากรที่มีผลการคัดกรองไม่ปลอดภัยสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ที่สำคัญจากข้อมูลพื้นที่ 11 จังหวัดที่มีการเพาะปลูกพืช 4 ชนิดนี้ พบว่ามีหญิงวัยเจริญพันธุ์มากกว่า 1.7 ล้านคน ซึ่งอาจทำให้ทารกในครรภ์ของมารดากลุ่มนี้เสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมี 3 ชนิดมากขึ้นด้วย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรมาต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2563 ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการเครือข่าย และเฝ้าระวังการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในผักผลไม้สดที่เป็นวัตถุดิบอาหารของโรงพยาบาล พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้สามารถใช้ชุดทดสอบการปนเปื้อนสารเคมีในอาหารเบื้องต้นในชุมชน โดยเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดตรวจหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในตลาดสด 5 ภาค ที่เป็นผักและผลไม้สดกลุ่มเสี่ยง ตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ขอบข่าย 500 ชนิดสาร รวมทั้งขยายการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชของอาหารโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทั้ง 13 เขต

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่าในฐานะที่เป็นกรรมการวัตถุอันตรายชุดปัจจุบันขอยืนยันมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 22 ตุลาคม 2562 ในการแบนสารเคมีอันตรายทั้ง 3 สาร มุ่งเน้นความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญรวมทั้งเกษตรกร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง