ผบ.ตร.ออกมาตรการแก้ปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย

อาชญากรรม
30 พ.ย. 62
13:03
5,048
Logo Thai PBS
 ผบ.ตร.ออกมาตรการแก้ปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกมาตรการในการแก้ปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน, ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมสั่งให้โรงพยาบาลตำรวจจัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย

วันนี้ (30 พ.ย.2562) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยถึงมาตรการของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในการแก้ปัญหาตำรวจฆ่าตัวตาย 3 ระยะ อีกทั้งให้ทุกหน่วยงานระดับกองกำกับการและสถานีตำรวจตั้ง “คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว”  โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ย.62 ที่ผ่านมานั้น  พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.มีหนังสือบันทึกข้อความที่ 009.331/ ลงวันที่ 26 พ.ย.2562 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ใจความว่า จากสภาพปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อน ส่งผลต่อสภาพจิตใจของข้าราชการตำรวจ จนนำไปสู่ความเครียดกระทบต่อพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของข้าราชการตำรวจ จนเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ตร. จึงมีคำสั่งที่ 570/2562 ลงวันที่ 10 ต.ค.2562 แต่งตั้งคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) เพื่อศึกษาสาเหตุ กำหนดวิธีการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ข้าราชการตำรวจเป็นรูปธรรม แล้วเสนอมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) จึงได้กำหนดมาตรการ 3 ระยะ ดังนี้

กำชับผู้บังคับบัญชาสอดส่องตำรวจเสี่ยงฆ่าตัวตาย

1.ระยะเร่งด่วน
1.1 ให้ผู้บังคับบัญชา ประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีลักษณะกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ด้วยการสังเกตพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง ดังนี้
1.1.1 มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เช่น มีความกดดันจากการปฏิบัติหน้าที่, ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ที่ถูกดำเนินการทางวินัยหรืออาญา เป็นต้น
1.1.2 มีปัญหาส่วนตัวและครอบครัว เช่น ความสัมพันธ์, ความขัดแย้งภายในครอบครัว, ภาระหนี้สินจำนวนมาก, ปัญหาชู้สาว เป็นต้น
1.1.3 มีปัญหาทางบุคลิกลักษณะหรือสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า สิ้นหวัง โดดเดี่ยว เป็นต้น
1.1.4.มีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ เป็นโรคร้าย เรื้อรัง รักษาไม่หาย เป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการ อาการเจ็บป่วยรุนแรงทรมาน ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ติดสุราเรื้อรังหรือติดสารเสพติด เป็นต้น
1.1.5 มีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน โดยผู้บังคับบัญชาต้องทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ สอดส่องดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิดกับผู้มีความเสี่ยงต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตาย 

กรณีมีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย อันเกิดจากปัญหาความบีบคั้นจากสภาพการปฏิบัติงานหรือปัญหาชีวิตส่วนตัวที่มีต่อข้าราชการตำรวจผู้นั้น หากพบว่าเป็นข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแต่ผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย หรือไม่สอดส่อง กำกับดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จนเกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ให้พิจารณาความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาตามคำสั่ง ตร. ที่ 1212/2537 ลง 1 ต.ค.2537 เรื่อง มาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ

1.2 ให้ทุกหน่วยงานในระดับ กก. และระดับสถานีตำรวจ แต่งตั้ง "คณะกรรมการสร้างเสริม คุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว" คณะหนึ่ง โดยให้มีอำนาจหน้าที่วิเคราะห์ ศึกษาสาเหตุ ปัญหา และให้ความช่วยเหลือข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอย่างเร่งด่วน 
1.3 มอบหมายให้โรงพยาบาลตำรวจ จัดอบรมให้แก่ “คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว” ที่ทุกหน่วยงานจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ความรู้และทักษะเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย รวมถึงการดูแลจิตใจของผู้พยายามฆ่าตัวตาย 
1.4 ให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดได้รับทราบในการเข้าถึง บริการทางด้านสุขภาพจิต ติดต่อโรงพยาบาลตำรวจ สายด่วน Depress We Care หมายเลข 081-9320000 ผ่านทางinbox ของ Facebook Page : Depress We Care และสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323
1.5 ให้ สท. ประสานข้อมูลกับโรงพยาบาลตำรวจ ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการฆ่าตัวตาย แนวทางการเฝ้าระวังและการดูแลเบื้องต้น โดยจัดทำเป็นวีดีทัศน์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ และจัดส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ 

กำชับให้ทุกหน่วยงานตรวจสุขภาพตำรวจประจำปี

2.ระยะกลาง
2.1 กำชับให้ทุกหน่วยงานจัดให้มีการตรวจสุขภาพข้าราชการตำรวจประจำปี ซึ่งเป็นการตรวจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ภาวะการติดสุราเรื้อรังหรือสารเสพติด และมีนักจิตวิทยาร่วมตรวจด้วย 
2.2 ให้ บช.ศ.,รร.นรต. และศูนย์ฝึกอบรมประจำหน่วยงาน สอดแทรกเนื้อหาการวางแผนการเงินส่วนบุคคลไว้ในหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ 
2.3 ให้ จต, ตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ของทุกหน่วยงานในการตรวจราชการประจำปี

สั่ง รพ.ตำรวจ ตั้งศูนย์ป้องกัน-แก้ไขตำรวจฆ่าตัวตาย

3.ระยะยาว
มอบให้โรงพยาบาลตำรวจจัดตั้งศูนย์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) โดยจัดทำรายละเอียดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และแนวทางการดำเนินงานนำเสนอ ตร. พิจารณาต่อไป

รองโฆษก ตร.กล่าวต่ออีกว่า ห้วงที่ผ่านมาพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำอัตวิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ไปแล้วหลายนาย ผบ.ตร.ได้มีความเป็นห่วงเป็นใยถึงข้าราชการตำรวจทุกนาย จึงมีคำสั่งและได้กำชับไปยังผู้บังคับชาทุกหน่วยให้ดำเนินการจัดตั้ง “คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว” เพื่อคอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใต้บังคับบัญชา หมั่นให้ความใส่ใจ ซักถาม ทำความเข้าใจ และดูแลช่วยเหลือกับปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ตาม

พร้อมกันนี้ จึงขอประชาสัมพันธ์ข้าราชตำรวจหรือญาติที่พบว่าข้าราชการตำรวจที่มีความเสี่ยงที่อาจก่อเหตุฆ่าตัวตาย ให้สังเกตสัญญาณเตือนที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เช่น พูดถึงความตายหรือการฆ่าตัวตาย หรือบ่นว่าอยากตาย, พูดหรือเขียนสั่งเสีย, เคยพยายามฆ่าตัวตาย, เศร้าซึม แยกตัวเอง, ป่วยเป็นโรคจิต, ติดสุราหรือยาเสพติด จนเลิกไม่ได้, เกิดการโต้เถียง ทะเลาะวิวาทรุนแรงบ่อยๆ เป็นต้น ควรหันหน้าปรึกษาญาติหรือผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง