เปิดใจนักธุรกิจด้านยุทโธปกรณ์ในเส้นทาง 50 ปี

การเมือง
2 ธ.ค. 62
18:01
3,204
Logo Thai PBS
เปิดใจนักธุรกิจด้านยุทโธปกรณ์ในเส้นทาง 50 ปี
ภาคเอกชนผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ ชี้ ข้อจำกัดการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในไทยเนื่องจากขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง พร้อมเสนอให้กระทรวงกลาโหมในฐานะหน่วยงานควบคุมควรทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานภาคเอกชน

จากงานนิทรรศการอุปกรณ์ป้องกันประเทศ และรักษาความปลอดภัย หรือ ดีเฟ้นส์แอนด์ซิคิวริตี้ 2019 ที่เมืองทองธานี กลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีหนึ่งในบริษัทผลิตยุทโธปกรณ์คนไทยที่ร่วมงานทุกครั้ง คือ บริษัท ชัยเสรี ผู้ผลิตยานยนต์ทางทหารและซ่อมบำรุงยานยนต์ รถถัง โดยนางนพรัตน์ กุลหิรัญ ผู้บริหารบริษัทชัยเสรี เจ้าของฉายา "มาดามรถถัง" เปิดใจกับไทยพีบีเอสว่า บริษัท ชัยเสรี เริ่มเข้าสู่ธุรกิจด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2511 ตั้งแต่สมัย พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นผู้บัญชาการทหารบก

ขณะที่ในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในลักษณะการผลิตใช้ได้เองเมื่อปี 2526 โดยกรมอุตสาหกรรมทหาร กระทรวงกลาโหม เป็นผู้ผลักดันและสนับสนุนภาคเอกชน เนื่องจากการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีใบอนุญาตถึง 5 ฉบับ ตามมาตรการควบคุมของกระทรวงกลาโหม คือ ใบอนุญาตนำเข้าวัตถุดิบคือ ใบอนุญาตผลิต ใบอนุญาตจัดเก็บ ใบอนุญาตเคลื่อนย้ายและใบอนุญาตส่งออก ซึ่งใบอนุญาตส่งออกมีความสำคัญมาก เพราจะส่งขายให้กับประเทศที่กระทรวงกลาโหมอนุญาตเท่านั้น

ในอดีตเคยมีการตั้งชมรมผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในชื่อชมรมผลิตยุทธปัจจัย รวมกันประมาณ 23 บริษัท แต่เมื่อปรับย้ายผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องในกระทรวงกลาโหมก็ส่งผลให้นโยบายเปลี่ยนและไม่อนุญาตให้ภาคเอกชนใช้สถานที่ราชการจัดประชุมของชมรมฯ จนบริษัทต่าง ๆ มารวมตัวจัดกิจกรรมกันเองแต่ก็ไม่ราบรื่นนัก และมีข้อขัดแย้งบางเรื่อง หรือบางบริษัทผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน จนต้องยุบไป

ในปี 2553 ภาคเอกชนเริ่มได้รับการส่งเสริมบทบาทอีกครั้ง โดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) ที่กระทรวงกลาโหมจัดตั้งขึ้นและประกาศตัวเป็นศูนย์กลางรวบรวมบริษัทผู้ผลิตอาวุธยุทโปกรณ์ นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพิ่มเติมคือแผนกส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยมีภาคเอกชนรวม 46 แห่งที่รวมตัวกันอยู่ แบ่งเป็น 6 หมวดคือผู้ผลิตกระสุน ปืน ยานยนต์ เรือ เครื่องบิน ชิ้นส่วนอื่นๆ เช่น เสื้อเกราะ แต่เดินหน้ามาได้จนถึงปี 2556 ก็หยุดชะงักไปอีก เนื่องจากมีการปรับย้ายนายทหารระดับสูงที่ผลักดันในเรื่องนี้ทำให้ขาดความต่อเนื่องอีกครั้ง และไม่มีสถานที่รวมตัวของภาคเอกชนเพื่อแสดงพลังได้

นางนพรัตน์เสนอว่า รัฐบาลควรหันมาสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม และขอความร่วมมือกระทรวงกลาโหมทำหน้าที่เป็นแกนกลางเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านและอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น มาเลเซียที่มีหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม และอินโดนีเซีย ที่ให้ความสำคัญกับผู้ผลิตในประเทศเท่าๆกับต่างประเทศ สะท้อนจากงานนิทรรศการอาวุธที่จัดปีเว้นปีเช่นเดียวกับประเทศไทย

สำหรับงานแสดงอาวุธในไทยที่จัดมาร่วม 30 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นผู้บัญชาการทหารบก และจากงานแสดงอาวุธของไทยที่ผ่านมาในปีนี้ แม้ว่าจะจัดอย่างยิ่งใหญ่ในฐานะประธานอาเซียน แต่ยังมีข้อสังเกตว่าไม่ได้มีการพาแขกต่างประเทศเยี่ยมชมบูธของบริษัทเอกชนไทยเท่าที่ควร แตกต่างจากงานแสดงอาวุธในบางประเทศที่จะจัดแยกโซนสำหรับผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ในประเทศโดยเฉพาะ เช่น อินโดนีเซีย รัสเซีย เพื่อแสดงแสนยานุภาพและขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศตัวเอง

นางนพรัตน์ ยังมองพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในระดับเอเชียว่า ประเทศที่พัฒนาแบบก้าวกระโดดคือเกาหลีใต้ ซึ่งงานโคเรียดีเฟ้นlNทุกปี เป็นงานที่น่าทึ่งโดยอาวุธจำนวนมากทั้งหมดผลิตโดยเกาหลีใต้ล้วน ๆ มีการอำนวยความสะดวกรวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างบริษัทเอกชนจากประเทศต่างๆที่ได้รับเชิญมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเกาหลีใต้ขายได้ดี 

นางนพรัตน์ ยอมรับว่า ข้อจำกัดในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในไทยคือระบบ เพราะแม้ในระดับนโยบายจะให้การสนับสนุน แต่มักเกิดปัญหาในระดับปฏิบัติ และแม้จะมีปัญหาอุปสรรคแค่ไหนในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ในประเทศก็จะไม่ละความพยายามในการคิดค้นต่างๆ

ประเทศที่เข้มแข็ง และหวังสงบ ต้องเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ประเทศที่มั่นคงแข็งแรงย่อมไม่มีใครกล้าโจมตี และแม้คนไทยส่วนใหญ่มีค่านิยมซื้อของต่างประเทศ แต่จะยืนหยัดผลิตยุทโธปกรณ์เพื่อคนไทยต่อไป ไม่ว่าในประเทศจะซื้อหรือไม่ซื้อ แต่จะต่อสู้ดิ้นรน และหากในประเทศซื้อน้อยก็ปรับเปลี่ยนไปขายในต่างประเทศ เพราะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น 

นางนพรัตน์ มองท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ย้ำให้เหล่าทัพพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อพึ่งพาตนเองว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการวิจัยพัฒนาหลายเรื่อง แต่บ่อยครั้งไม่ได้นำมาผลิตเพื่อใช้งานจริง ทั้งที่เมื่อหากเทียบในอาเซียนถือว่าไทยยังอยู่ในระดับประเทศชั้นนำด้านการคิดพัฒนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 

ทั้งนี้คาดหวังอยากให้นโยบายของรัฐที่สนับสนุนภาคเอกชนนำไปสู่การปฏิบัติจริง และขอให้หันมาใช้ยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในประเทศเหมือนกับประเทศอื่นๆ ซึ่งแนวทางที่เหมาะสมที่สุดกระทรวกลาโหม ในฐานะหน่วยงานควบคุมควรมีหน้าที่สนับสนุนบทบาทเอกชน และสิ่งสำคัญรัฐบาลควรเชิญชวนให้หน่วยงานของรัฐสนใจซื้อยุทโธปกรณ์ในประเทศ เพราะถ้าผู้ซื้อไม่ซื้อภาคเอกชนก็ไปต่อไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง