Google Doodles รำลึกถึง "ศ.ระพี สาคริก" บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย

สังคม
4 ธ.ค. 62
16:13
1,313
Logo Thai PBS
 Google Doodles รำลึกถึง "ศ.ระพี สาคริก" บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย
Google เปลี่ยน Doodles เป็นรูปกล้วยไม้รำลึกถึง ศ.ระพี สาคริก บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย ซึ่งเกิดวันที่ 4 ธ.ค.2465 ผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ไทยสู่สากล

วันนี้ (4 ธ.ค.2562) Google เปลี่ยน Doodles เป็นรูปกล้วยไม้รำลึกถึง ศ.ระพี สาคริก บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย ซึ่งเกิดวันที่ 4 ธ.ค.2465 ผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ไทยสู่สากล ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมในวัย 95 ปี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ที่บ้านพักย่านงามวงศ์วาน

ศ.ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นอดีตนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ อุทิศตนให้กับงานค้นคว้าวิจัยด้านกล้วยไม้มาโดยตลอด ด้วยเป็นบุคคลที่มีนิสัยรักธรรมชาติ รักการศึกษาและเรียนรู้ รักการคิด และสนใจต่อชีวิตที่มีการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ อย่างอิสระเสรีมาตั้งแต่ชีวิตยังเยาว์วัยมาก กล้วยไม้เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้แสดงออกถึงความรักความสนใจมาตั้งแต่อายุได้เพียง 10 กว่าขวบปี และการดำเนินชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับสิ่งที่รักที่สนใจอย่างจริงจัง ที่ทำให้พบกับความคิดแคบและความมีใจแคบของคนในสังคมได้เป็นแรงผลักดันอย่างสำคัญที่ทำให้ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ต่อสู้กับสิ่งที่สวนทางกับความคิดความเชื่อของตนเองอย่างทุ่มเทให้ด้วยชีวิตและจิตใจ

ท่ามกลางภาพที่สะท้อนให้ ศ.ระพี เห็นว่า เมืองไทยเป็นแหล่งที่มีกล้วยไม้ป่าอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก แต่การเลี้ยงกล้วยไม้ก็จำกัดตนเองอยู่แต่เพียงในกลุ่มคนผู้สูงอายุ ผู้มีเงินทอง และมียศฐาบรรดาศักดิ์กลุ่มเล็กๆ และท่ามกลางกระแสความคิดความเชื่อว่า กล้วยไม้เป็นของไร้สาระ เป็นของฟุ่มเฟือย และเป็นของคนแก่ คนมีเงิน ที่ปิดตนเองอยู่ในกลุ่มแคบๆ และยังใช้กล้วยไม้เป็นสิ่งซึ่งดูถูกดูแคลนผู้อื่น กับความคิดของ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ที่ทวนกระแสดังกล่าวโดยเหตุที่เชื่อว่า กล้วยไม้เป็นสิ่งที่ไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการเป็นเช่นนั้น แต่คุณภาพของความสามารถของคนต่างหากที่ทำให้เป็นเช่นนั้นไป จึงเกิดเป็นแรงดลใจให้ตนเอง รู้สึกท้าทายต่อการก้าวลงไปพิสูจน์ความจริงด้วยการกระทำจริงโดยตนเอง

ภาพ : rapee.org

ภาพ : rapee.org

ภาพ : rapee.org


ศ.ระพี จบการศึกษาปริญญาตรีหลักสูตร 5 ปี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในสาขาปฐพีวิทยา สมบูรณ์ด้วยการทำงานวิจัยเป็นวิทยานิพนธ์เรื่อง การวิเคราะห์ดินภาคกลางของประเทศไทยทางฟิสิกส์และเคมี ในปี พ.ศ. 2490 และอาสาสมัครออกทำงานวิจัยเรื่อง ข้าว พืชผัก และยาสูบ อยู่ในถิ่นทุรกันการในจังหวัดเชียงใหม่เป็นงานประจำ ส่วนการเรียนการสอนเรื่องกล้วยไม้ และใช้เวลาว่างส่วนตัวก็ยังไม่มีที่ไหน เพราะสังคมไทยที่พบทางการยังคงหันหลังให้กับวงการกล้วยไม้โดยสิ้นเชิง เริ่มลงมือค้นคว้าวิจัยเรื่องกล้วยไม้อย่างจริงจัง โดยใช้กล้วยไม้พื้นเมืองที่มีราคาถูก และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ดัดแปลงมาจากวัสดุที่ถูกทิ้งในท้องถิ่น และเมื่อถูกย้ายมารับงานวิจัยในเรื่องข้าวในชานเมืองกรุงเทพฯ. ก็ได้มีการสานต่อ กว่าจะพบความสำเร็จในการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ ต้องใช้เวลากว่า 3 ปีเต็ม และติดตามมาด้วยการค้นพบวิธีการ เพาะเมล็ดกล้วยไม้ตั้งแต่ฝักยังอ่อนทำให้ทุ่นเวลาในการรอคอยหลังจากการผสมไปได้มากพอสมควร

ในปี พ.ศ. 2509 ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในการประชุมกล้วยไม้โลกครั้งที่ 5 ที่มลรัฐแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา ได้พบการสาธิตวิธีขยายพันธุ์แบบเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือที่คนไทยในระยะหลังเรียกว่า การปั่นตา ที่ฝรั่งเศสนำมาแสดงแต่มิได้มีการเปิดเผยรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องธุรกิจของฝ่ายผู้จัดแสดง

ศ.ระพี ได้นำเอาความคิดดังกล่าวกลับมาเผยแพร่และสนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยขึ้นในวงการไทย อย่างไม่จำกัดอยู่ ณ ที่สถาบันใด และยังเน้นวิธีการจัดการที่พยายามดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์เหลือใช้ในสังคมไทยมาใช้ เช่นมีการนำเอารูปแบบของตู้ปลอดเชื้อรุ่นใหม่ที่มีราคาสูงมาก มาประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุราคาถูกที่มีในประเทศไทยและนำเอาขวดที่ใช้แล้ว มาศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงแต่ราคาต่ำมาก มาใช้งานในห้องปฏิบัติการ

นอกจากนั้นยังได้มีการวิจัยและวิเคราะห์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมในขณะที่ได้รับเชิญไปประชุมและเผยแพร่ความรู้วิชาการในประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อนำมาปรับและพัฒนางานวิจัยและส่งเสริมของวงการกล้วยไม้ไทย และในมุมกลับก็ส่งผลนำแรงศรัทธาจากประเทศต่างๆ กลับมาสู่ประเทศไทย

การวิจัยที่กระทำ ไม่เพียงเน้นอยู่ที่วิชาการทางเทคโนโลยี หากยังได้มีการศึกษาวิจัย ในด้านการจัดการและการค้าระหว่างประเทศโดยการเข้าไปสัมผัสและกระทำจริงด้วยตนเอง

ทั้งนี้ ศ.ระพี ได้ปูพื้นฐานการพัฒนาไว้ตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยหลักการที่มีส่วนอยู่ในภาพรวม คือ การส่งเสริม ที่เริ่มต้นขึ้นจากประชาชนทั่วไป ไม่เพียงแต่การให้วิชาความรู้ทางวิชาการ แต่ได้ปูพื้นฐานการรวมกลุ่มและสร้างผู้นำเพื่อการประสานงานและการจัดการร่วมกันบนพื้นฐานการพึ่งพาตนเอง ที่เป็นทั้งพื้นฐานและผสมผสานอยู่ในการจัดการฝึกอบรม แต่ยังมีการกระจายสู่ท้องถิ่น พร้อมทั้งเปลี่ยนนโยบายจากความคิดเก่าๆ ที่มีการจัดตั้งสาขาของกรุงเทพฯ ให้เกิดความอิสระขึ้นในแต่ละท้องถิ่น เพื่อกระจายจิตสำนึกรับผิดชอบ และประสานความสามัคคีเข้าหากันด้วยพลังที่เป็นนามธรรม

 ข้อมูล : เว็บไซต์ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง