"น้ำผึ้ง" บัณฑิตรุ่นแรก โรงเรียน "ศาสตร์พระราชา"

สังคม
5 ธ.ค. 62
15:50
13,189
Logo Thai PBS
"น้ำผึ้ง" บัณฑิตรุ่นแรก โรงเรียน "ศาสตร์พระราชา"
ฉายแววการเป็นผู้นำรุ่นใหม่ทันทีสำหรับ "น้ำผึ้ง - ลุนดุบ วังโม" บัณฑิตใหม่ชาวภูฏานที่รับคำนิยาม "สวยถึก" ยืนยันสานต่อศาสตร์พระราชา เพื่อนำสังคมของเธอไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและนำพาประเทศเล็ก ๆ อย่าง "ภูฏาน" หลุดพ้นการพึ่งพาอาหารจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

เวลาหนูไปคุยกับใคร เขาจะถามว่า จริงเหรอที่หนูทำเกษตร เขาบอกหน้าหนูดูไม่เหมือนเกษตรกร หนูก็เลยโพสต์เฟซบุ๊กทุกวัน ให้เห็นว่า เกษตรไม่เป็นอย่างที่คิดนะ มันสนุก แต่หนูก็ไม่ทิ้ง คอนเซ็ปต์ "สวยถึกบึกบึน" นะ

เรื่องเล่า พร้อมรอยยิ้มของ "น้ำผึ้ง" ลุนดุบ วังโม สะท้อนภาพลักษณ์ของเธอ ที่สวนทางกับงานที่ทำอยู่ในหุบเขามณฑลปาโร ทางตะวันตกประเทศภูฏาน แต่กว่าจะถึงวันที่คนรุ่นใหม่อย่างเธอ ตัดสินใจหันเหชีวิตมาทุ่มเทกับการผลิตอาหาร และสร้างคนบนเส้นทางของความพอเพียง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย 

 

น้องใหม่ มหา’ลัยคอกหมู

5 ปีก่อน น้ำผึ้ง พร้อมเพื่อน 3 คน เดินทางมาที่ประเทศไทย ตามคำแนะนำจาก ลุนดุบ ดุ๊กป้า พ่อของน้ำผึ้ง ที่ปรึกษาด้านการศึกษาของพระมหากษัตริย์แห่งประเทศภูฏาน ที่รู้จักกับ "อ.ยักษ์" วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้บุกเบิกศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี โดยหวังให้คนรุ่นใหม่ภูฏาน ได้ศึกษากสิกรรมธรรมชาติและระบบเศรษฐกิจพอเพียง ตาม “ศาสตร์พระราชา” ของไทย

แต่เธอและเพื่อน ๆ ก็ไม่คิดมาก่อนว่า สถานที่เรียนต่อต่างประเทศจะเป็น ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง หรือ ที่หลายคนเรียกว่า “มหาวิทยาลัยคอกหมู”

นักศึกษาใหม่จากภูฏาน ใช้เวลาปีแรกไปกับการปรับตัวในสถาบันอุดมศึกษา ที่ให้ค่ากับโลกการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติในสนามจริง พร้อมไปกับการทำความเข้าใจหลักคิดและทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง ที่แต่ละพื้นที่ ใช้ในการแก้ปัญหา

 

โปรเจกต์ศูนย์บาท

เข้าสู่ปี 2 น้ำผึ้งกับเพื่อน ๆ ได้โจทย์ท้าทายจาก อ.ยักษ์ ให้นำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาตลอด 1 ปี ไปเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่า 1 ไร่ในศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่มีงบประมาณอุดหนุนแม้แต่บาทเดียว

1 ปี กับเงิน 0 บาท โห..ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยนะ ตอนนั้นคิดไม่ออกเลย พวกเราใช้เวลาคิดกันอยู่เป็นเดือน ๆ สุดท้าย มาจบที่ โคกหนองนาโมเดล

โปรเจกต์ศูนย์บาท เริ่มด้วยการสร้างบ้านดิน โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในศูนย์ฯ มี โจน จันได มาช่วย มีบ้านอยู่ ต้องมีอาหารกิน พวกเขา จึงต้องออกแบบพื้นที่ให้เป็น “โคก-หนอง-นา” ด้วยการขุดแหล่งน้ำ ปั้นคันดิน และปรับนา ลงพืชอาหารสมุนไพร และปลูกป่า 3 อย่างให้ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวทางบันได 9 ขั้นสู่ความยั่งยืน โดยตั้งชื่อว่า Bhutan Village หรือ บ้านของชาวภูฏาน

 

 

จิตวิญญาณภูฏาน

ผ่านโจทย์หิน ๆ ในการเรียนมาครึ่งทาง สองปีสุดท้าย หนุ่มสาวกลุ่มนี้ เข้าสู่การฝึกฝนอย่างเข้มข้นกับการเป็น “ผู้ประกอบการสังคม” ตั้งแต่การทำฟาร์มเลี้ยงผึ้ง ฟาร์มเห็ด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องสำอาง ยาสมุนไพร และการเป็นวิทยากรช่วยจัดการเรียนรู้ในงานอบรมต่าง ๆ โดยมีคนรุ่นใหม่ จาก 30 ประเทศทั่วโลก แวะเวียนมาศึกษาดูงาน

พวกเขายังให้ความสนใจกับการสร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ที่เครือข่ายเกษตรอินทรีย์จากหลายพื้นที่กำลังทำอยู่ และนำประสบการณ์ที่ได้ มาทดลองสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของตน ในชื่อ Bhutan Soul Farmer เพื่อสื่อถึงจิตวิญญาณของชาวภูฏานที่ต้องการผลิตอาหารปลอดภัย โดยหวังจะกลับไปทำให้เกิดขึ้นจริงที่บ้านเกิด

 

 

บัณฑิตใหม่กลับบ้าน

แรก ๆ ก็คิดว่าง่าย แต่ลืมไปว่าที่ไทยเรามีคนช่วย แต่ที่บ้านไม่เหมือนกัน มันไม่ง่ายเลย บางครั้งก็ท้อจนอยากจะเลิกทำ

ทั้งที่ผ่านบททดสอบยาก ๆ มาตลอด 4 ปี แต่การจัดตั้ง “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ” เพียง 5 ไร่ในบ้านเกิด กลับยากเย็นแสนเข็ญ ถึงขั้น สาวสวยถึกอย่างน้ำผึ้ง ออกปาก ท้อ !!!


เดิมที พ่อของน้ำผึ้ง มีแผนจะใช้ที่ดินในหุบเขามณฑลปาโร เปิดโรงเรียนให้เด็กยากจนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา แต่ก็ให้โอกาสลูก ๆ หลาน ๆ ได้ทำตามฝันด้วยการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ที่มีทั้งการสร้างอาหารและสร้างคน ตามศาสตร์พระราชาที่ได้ไปเรียนมา

เราต้องการให้ประเทศภูฏานมีความยั่งยืน เด็กรุ่นใหม่จบมามีงานทำ ไม่ทิ้งภาคเกษตร และลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากประเทศเพื่อนบ้าน

น้ำผึ้ง ประเมินว่า 1 ปีตั้งแต่จบปริญญาตรี เธอสอบผ่านบันได 9 ขั้นของความพอเพียง ตั้งแต่พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และการช่วยเหลือแบ่งปันไปแล้ว แต่ต้องต่อยอดไปสู่การค้าขาย และสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่าย ด้วยการต่อยอด Bhutan Soul Farmers ที่เคยทำสมัยเรียนปี 3-4

มั่นใจลูกศิษย์ทำได้

รับรู้มาตลอด ว่าลูกศิษย์รุ่นแรกของตนต้องเจอกับอุปสรรคจากความไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับคนรุ่นใหม่ แต่ "อ.ยักษ์" วิวัฒน์ ศัลยกำธร เชื่อว่าจะสำเร็จ เพียงแต่ช่วงนี้ ต้องปรับตัวเรียนรู้กับโลกที่เป็นจริง

พวกเขากำลังสืบสานงานพระราชาของเรา ด้วยการนำปรัชญาแห่งการให้ ปรัชญาแห่งการสร้างสรรค์ ไปช่วยทำให้ดินน้ำที่นั่นอุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณธัญญาหารมากขึ้น คนภูฏานก็ไม่ต้องพึ่งพาอาหารการกินจากข้างนอก

ก่อนน้ำผึ้งและเพื่อน ๆ จะเดินทางกลับ ครูใหญ่แห่งเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ เปรย ๆ กับลูกศิษย์ของตน ว่า ถ้าปี 2563 จะจัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ระดมคนในเครือข่ายจากไทย ไปช่วยกันพัฒนา “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ” ที่ภูฏาน จะเป็นไปได้ หรือไม่


รอยยิ้มหวาน ๆ ของลูกศิษย์ ที่รับฉายาว่า “สวยถึกบึกบึน” เป็นทั้งคำตอบที่ให้กับครู และคำสัญญาในการเดินหน้า “ศาสตร์พระราชา” บนแผ่นดินที่มีนามว่า ภูฏาน

 

ศศิธร สุขบท : ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั่วไทยจัดกิจกรรมรำลึก "วันพ่อแห่งชาติ"

"ศาสตร์พระราชา" สู่ยุทธศาสตร์ชาติ

ยูเอ็นเชิดชู "ศาสตร์พระราชา"ในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่พิมพ์เขียวพัฒนาโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง