"กมธ." เวทีแห่งการแก้ปัญหาอย่างเคารพ หาใช่สนามรบฟาดฟันกัน

การเมือง
6 ธ.ค. 62
18:46
514
Logo Thai PBS
"กมธ." เวทีแห่งการแก้ปัญหาอย่างเคารพ หาใช่สนามรบฟาดฟันกัน
แก้ปัญหาประเทศ หรือ ตรวจสอบกันเอง? เมื่อเวที “กรรมาธิการ” ถูกฉายไฟส่องจากสังคม จากเหตุวิวาทะหลายครั้งในที่ประชุม กมธ. ด้าน ส.ส.เก่า - ใหม่ สะท้อนบทบาท กมธ.ยุคดิจิทัล ปชช.เข้าถึง ร่วมสอดส่องพฤติกรรม ส.ส. สอนมวย "กมธ." ควรเป็นเวทีแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่สนามรบ

ไม่ว่าจะเพราะเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ เป็นเพราะประเทศไทยห่างหายจากการมี คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีกันแน่ แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่า บทบาทคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ทั้ง คณะกรรมาธิการสามัญ และวิสามัญ ที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาปัญหารายกรณี ต่างได้รับการฉายไฟส่อง ทั้งจากสื่อมวลชน คอการเมือง และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองทุกเพศทุกวัย

การเปิด สภาผู้แทนราษฎร ช่วงแรก ๆ หลายสายตา จับจ้องไปที่พรรคการเมืองน้องใหม่อย่าง "พรรคอนาคตใหม่" ที่ ส.ส.ทุกคน ก้าวเข้าสู่ที่นั่งในสภาฯ เป็นครั้งแรก บ้างก็จับตาว่าจะ "อ่อนหัด" ทางการเมืองหรือไม่ แต่หลายครั้งการอภิปรายในสภาฯ ก็เกิดขึ้นอย่างเผ็ดร้อน แสบสัน ไม่แพ้พรรคการเมืองร่วมฝ่ายค้านรุ่นเก๋า อย่าง "พรรคเพื่อไทย

 

เกิดอะไรขึ้นบ้างในห้องประชุม กมธ.?

ก่อนหน้านี้ ประชาชนอาจห่างไกลจากการรับรู้และการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ "โดยละเอียด" หรือ อาจติดตามเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตนเอง แต่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ถกเถียงกันตั้งแต่ความพยายามขอตั้ง กมธ.ใหม่เอี่ยม อย่าง "กมธ.เพื่อสิทธิบุคคลหลากหลายทางเพศ" ที่แม้จะไม่ได้ถูกเห็นชอบให้แยกเป็น กมธ.เฉพาะ แต่ก็ถูกทำให้เห็นความสำคัญมากขึ้น ด้วยการระบุถ้อยคำใหม่ในชื่อ กมธ. อย่าง "กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ"

รวมไปถึงห้องประชุม กมธ.หลายชุด ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นเวทีมวย เพราะหลายครั้งตอบโต้วาทะกันไปมา ที่เห็นกันชัด ๆ ก็คงจะเป็น "กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ" ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ที่ร้อนแรงตั้งแต่การเชิญ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐนาวา และ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจง กรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยไม่ชอบ อันเนื่องจากปมถวายสัตย์ปฏิญาณ

แม้ไม่ได้เข้าชี้แจงด้วยตนเอง แต่มีผู้แทน คือ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กระทรวงกลาโหม แต่ไม่วายที่ประธาน กมธ.อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะกลับถามว่า "ท่านเป็นใคร?" ปิดช่อง ไม่ให้บุคคลอื่นชี้แจงแทนได้

คำพูดที่อาจทำเอาคนฟังหน้าชา ได้ถูกทักท้วงโดย น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งถูกมอบหมายให้เข้าไปประกบใน กมธ. ชุดนี้ เคียงข้าง นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.จากพรรคเดียวกัน แทน ส.ส. 2 คน ของพรรคที่แสดงความจำนงขอลาออกจาก กมธ.ชุดดังกล่าว ที่แม้ น.ส.ปารีณา จะเคยออกมาระบุว่า "ไม่ได้เข้ามาเพื่อโต้ตอบทางการเมือง" แต่ก็กลายเป็น กมธ.ชุดที่ถือว่าเป็น "มวยถูกคู่" กลายเป็นจุดโฟกัส มุ่งไปที่การทำหน้าที่ประธาน กมธ. ชุดนี้ทันที

การประชุมครั้งถัดมา ก็เกิดเหตุการณ์ "ลากเก้าอี้" ทำให้นึกย้อนกลับไปยุคที่ "น.ส.รังสิมา รอดรัศมี" ส.ส.จากเมืองแม่กลอง พรรคประชาธิปัตย์ ลากเก้าอี้ หนี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ในขณะนั้น เพื่อคัดค้านการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อครั้งประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" แต่ต่างกันที่สถานที่ จากห้องประชุมรัฐสภา เป็น ห้องประชุมกรรมาธิการ

 

บทบาท กมธ. พึ่งได้มากกว่าอภิปรายในสภาฯ

น.ส.พรรณิการ์ วานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เหตุผลที่ทำให้ประชาชนสนใจการทำงานของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น เพราะเป็นการเมืองในยุค "เสียงปริ่มน้ำ" ความนิยมที่ไม่ทิ้งห่างขาดจากกัน ทำให้บทบาทการเป็น กมธ.ของฝ่ายค้าน หรือ แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลได้รับความสนใจ ประชาชนหวังว่า จะเป็นรูปธรรมในการทำงานและแก้ปัญหาให้ มากกว่าแค่การอภิปรายกระทบกระทั่งกันในที่ประชุมสภาฯ


โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ยังมองว่า การรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากประชาชน หรือ ในยุคการสื่อสารดิจิทัล ทำให้บาง กมธ.มีการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ รวมถึงการเชิญผู้มีความรู้ ความสามารถ และเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เข้านั่งในสัดส่วนคนนอกของ กมธ.จะช่วยให้แก้ปัญหาหลายเรื่องได้รวดเร็วกว่ารอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา

เธอยังย้ำอีกว่า หากผู้แทนราษฎรไม่เร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนด้วย "ประชาธิปไตยแบบตัวแทน" ให้เกิดขึ้นจริง ก็จะกลับไปสู่วังวนเก่า อย่างการหาทางออกนอกสภาฯ เช่น การประท้วง และรัฐประหาร

ที่นั่งปลอบใจ มากกว่าตอบสนองปัญหาสาธารณะ

อดีต ส.ส.จากพรรคเก่าแก่ อย่าง "นายกษิต ภิรมย์" ที่เวลานี้ แม้จะมองจากมุมของคนนอกสภาฯ แต่ครั้งหนึ่ง เขาเคยทำหน้าที่ ทั้งการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขามองว่า ปัจจุบัน ตำแหน่งของ กมธ. กลับมาจากการแบ่งเค้กให้ ส.ส.ที่ตกสำรวจ มากกว่าตอบสนองความต้องการของประเทศชาติ 

นอกจากนี้ ยังมองด้วยว่า กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 35 คณะ มากเกินความจำเป็น จึงดูเหมือนเป็นการจัดสรรตำแหน่งโควต้าให้กับบุคคลที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เป็นช่องทางการหาประโยชน์ ซึ่งถือเป็นการคอร์รัปชันอย่างหนึ่ง

การทำงานของ กมธ.ควรเป็นเวทีแห่งการแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวมอย่างเคารพ ไม่ใช่สนามรบสำหรับฟาดฟันกัน

นายกษิต ยังให้ความเห็นกรณีการใช้อำนาจเรียกบุคคลเข้าชี้แจงต่อ กมธ.ว่า มักมีปัญหาผู้บริหารระดับสูง หรือ รัฐมนตรีไม่เข้าชี้แจง กลายเป็นภาระให้ข้าราชการชี้แจงแทนอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงเป็นที่ระบายอารมณ์ของฝ่ายตรงข้าม เขาชี้ว่า การทำงานของ กมธ.ควรเป็นเวทีแห่งการแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวมอย่างเคารพ หาใช่สนามรบสำหรับฟาดฟันกัน จึงมีความจำเป็นต้องเชิญบุคคลที่รู้เรื่องจริง ๆ มาชี้แจง

แก้ปัญหาประเทศ หรือ ตรวจสอบกันเอง?

อันที่จริง ตามความเข้าใจของประชาชน บทบาทคณะกรรมาธิการ ทั้งสามัญและวิสามัญ น่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบ ศึกษาข้อมูลตามเรื่องร้องเรียนของประชาชน ก่อนเสนอแนะต่อรัฐบาล 

แต่ภาพที่ได้เห็นในที่ประชุมคณะกรรมาธิการบางชุด อาจให้น้ำหนักไปที่การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและการตรวจสอบกันเองมากกว่าหรือไม่ นี่คือคำถามในใจของประชาชนจำนวนหนึ่ง

ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎร มีกลไกในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว อย่างการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการเปิดอภิปรายทั่วไป แต่ก็ทำได้เพียงปีละไม่กี่ครั้ง แต่หากให้กลไก กมธ.ทำงาน ก็มีเครื่องมืออย่าง พ.ร.บ.คำสั่งเรียกคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ซึ่งกำหนดโทษของการไม่มาชี้แจงเอาไว้ด้วย เพื่อปิดช่องเจ้าหน้าระดับสูงปฏิเสธการเข้าชี้แจง หรือ ส่งตัวแทนไม่มีอำนาจที่แท้จริงเข้าชี้แจงแทน 

แต่ไม่ว่าบทบาทของคณะกรรมาธิการทั้ง 35 คณะ รวมถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญที่เปิดช่องให้คนนอกเข้ามาร่วมพิจารณาเรื่องสำคัญ ๆ ได้ จะทำหน้าที่อย่างไร แต่สิ่งหนึ่ง คือ การรับรู้การมีอยู่ และทำหน้าที่ของบรรดา ส.ส.ในสภาฯ ประชาชนมีช่องทางร่วมสอดส่อง คอยเป็นตาที่สาม ทั้งติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาต่าง ๆ และคอยจับตาดูว่า ส.ส.คนใด ทำหน้าที่คุ้มค่ากับการจ่ายภาษีของประชาชนบ้าง

 

ทีมข่าววาระทางสังคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ปารีณา" ประกาศเดินหน้าปลด "เสรีพิศุทธ์" ออก ปธ.กมธ.ป.ป.ช.

"เสรีพิศุทธ์" ยืนยันตามกฎหมาย "ประยุทธ์ - ประวิตร" ต้องมาแจง กมธ.

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง