การเมืองในฝัน "วันรัฐธรรมนูญ"

การเมือง
10 ธ.ค. 62
13:04
987
Logo Thai PBS
การเมืองในฝัน "วันรัฐธรรมนูญ"
นักวิชาการ ภาคประชาชน เรียกร้อง “ปฏิวัติรัฐธรรมนูญ” ยกร่างฯ ด้วยเจตจำนงของ ปชช. แทนรัฐธรรมนูญแฝงนัยยะซ่อนเร้น - รักษาอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ย้อนประวัติศาสตร์ผู้ร่าง รธน.ฉบับแรกโดย "คณะราษฎร" แต่ฉบับล่าสุด กลับไม่ได้ร่างโดย "ราษฎร"

รัฐธรรมนูญฉบับแรก ร่างโดย “คณะราษฎร”

"พระราชบัญญัติธรรมนูญ" เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย ร่างขึ้นโดยแกนนำสำคัญ ภายในคณะราษฎร เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2475 และประกาศใช้ 27 มิ.ย.2475 มีทั้งหมด 39 มาตรา จัดวางโครงสร้างอำนาจ 4 ส่วน ได้แก่ อำนาจของพระมหากษัตริย์, อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร, อำนาจของคณะกรรมการราษฎร และอำนาจศาล จากนั้น มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2475

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ไม่ได้ร่างโดย “ราษฎร”

ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช พ.ศ.2560 ซึ่งถูกนิยามจาก คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" จากการใส่กลไกป้องกันการทุจริต เพิ่มอำนาจให้กับศาล และองค์กรอิสระในการเข้ามากำกับรัฐบาล

ในทางกลับกัน ฝ่ายที่เห็นต่าง มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนสำคัญ เรื่องโครงสร้างทางการเมือง และการลดทอนสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชน ซ้ำร้าย บางมาตรายังถูกถ่ายโอนให้เป็นหน้าที่ของรัฐ และกลายเป็นช่องว่างระหว่างคำว่า “สิทธิ" กับ "หน้าที่” ซึ่งไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า ภาครัฐต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชน

ตัดทอน หมวดสิทธิเสรีภาพ ในรัฐธรรมนูญ '60

หากเทียบกันระหว่าง รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 กับ รัฐธรรมฉบับปัจจุบัน ก็จะพบว่าเนื้อหาสำคัญ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับ “หมวดสิทธิเสรีภาพ” ถูกตัดทอนออกไป

เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 56, 57 และ 58 เขียนไว้ค่อนข้างละเอียด ถึงสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ , สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ย่อมได้รับความคุ้มครอง, และสิทธิการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐ
 
ส่วนในรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังคงหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยไว้ใน มาตรา 66, 67 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน อนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และห้ามดำเนินโครงการ หรือ กิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และมีกลไกการคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐได้

แต่สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้ว่า ได้ตัดทอนเนื้อหาสำคัญโดยเฉพาะการทำให้ “หมวดสิทธิเสรีภาพ” เหลือเพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 41 และ 43 รวมถึงการเสนอร่างกฎหมายเข้าชื่อ จากเดิม รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุให้สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าชื่อได้ ตามบัญญัติใน หมวด 3 สิทธิเสรีภาพ และ หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ตัดหมวดสิทธิเสรีภาพ ทำให้เหลือเพียง 20 กว่ามาตรา ที่ประชาชนสามารถเสนอร่างกฎหมายได้

ฐานของการเสนอกฎหมายเข้าชื่อก็แคบลงไปแล้วจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ การจะเสนอร่างกฎหมายเข้าชื่อตามหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐก็ถูกห้ามไม่ให้เสนอ


ปฏิวัติรัฐธรรมนูญโดยประชาชน เพื่อประชาชน

สุนี ไชยรส ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังวิเคราะห์ต่อไปว่า หากรัฐธรรมนูญมีความละเอียดชัดเจนมากกว่าฉบับปัจจุบัน และรัฐเดินตามแนวทางของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนได้ เพราะประชาชนมีสิทธิแสดงความเห็น และมีส่วนร่วมกับโครงการของรัฐตั้งแต่ต้นทาง จึงเสนอให้ ทบทวน สะสางรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยฟังความเห็นจากภาคประชาชน และห้ามมิให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ทำหน้าที่แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และเห็นควรให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” โดยเฉพาะการขยายเนื้อหาในหมวดสิทธิเสรีภาพไม่น้อยไปกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เพื่อทำให้กลไกการคุ้มครองสิทธิ์ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

 


ขณะที่ รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มองว่า เนื้อหาที่ถูกตัดทอนสิทธิเสรีภาพภาคประชาชน แฝงนัยยะซ่อนเร้น ถูกใช้เป็นเครื่องมือรักษาอำนาจ และการออกคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ล้วนมาจากการตั้งกติกาและเขียนใหม่ เพื่อให้เนื้อหาตอบโจทย์คนร่าง หรือ จัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง

เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ สถาปนาชนชั้นนำของรัฐในนามของรัฐ ท่ามกลางการลดคุณค่าความหมายของภาคประชาชนลง หรือ ที่พอจะมีระบุไว้บ้าง กลับไม่มีหน่วยงานใดมาเป็นเดือดเป็นร้อนแทนประชาชน นี่เป็นเหตุผลที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญเอง

เยี่ยมยอด ศรีมันตะ คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ'60 ภาคประชาชน มองว่าหากต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จำเป็นที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนมีทัศนะใหม่ทางการเมืองที่ปราศจากความกลัว โดยใช้คำว่า “ปฏิวัติรัฐธรรมนูญ” จากนั้นจึงค่อยสร้างองค์กรขึ้นมาทำสัญญาประชาคมเพื่อสร้างกรอบประชาธิปไตย จึงจะช่วยให้ รัฐธรรมนูญ มีความสมบูรณ์ทางการเมืองการปกครอง มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงทางสังคม และวัฒนธรรม โดยแท้จริง

 


"รธน." ควรเป็นแม่บทของชาติ ที่สะท้อนเจตจำนง ปชช.

หากพูดถึง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ภาพจำแรก ๆ คือ การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง แต่ในความจริงแล้ว รัฐธรรมนูญ คือ สิทธิเสรีภาพทุกด้านของประชาชน รัฐธรรมนูญ จึงควรเป็นแม่บทของชาติ ที่มีเจตจำนงมาจากประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง ที่ลดทอนอำนาจที่แท้จริงของประชาชน แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้วก็ตาม ...


บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

87 ปี รัฐธรรมนูญไทย

"สุดารัตน์" ชวนคนไทยร่วมร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความก้าวหน้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง