แนะ 3 สิ่งที่ต้องทำ หากจะปฏิวัติ "ถุงพลาสติก"

สิ่งแวดล้อม
13 ธ.ค. 62
12:01
1,959
Logo Thai PBS
แนะ 3 สิ่งที่ต้องทำ หากจะปฏิวัติ "ถุงพลาสติก"
อว. พร้อมดัน "ถุงพลาสติกสลายตัวได้" รับดีเดย์ 1 ม.ค.63 ขานรับนโยบาย ทส. ภาคธุรกิจและเกษตรกรชี้ หากแก้ปัญหาพลาสติกอย่างยั่งยืน ต้องคำนึงถึง 3 สิ่ง "ลดต้นทุนผลิตพลาสติกชีวภาพ เยียวยาอุตสาหกรรมพลาสติก และเร่งส่งเสริมประโยชน์ทางภาษี" เพื่อเดินหน้าทั้งระบบ

ดีเดย์! 1 ม.ค.2563 วันแรก ที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 43 แห่ง เริ่มนำร่องงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกตามโรดแมปของรัฐบาล แต่อีกด้าน ก็มีการพัฒนานวัตกรรม "ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์" โดย สวทช. หลังจากประเดิมใช้ในงานกาชาด เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และเตรียมนำนวัตกรรมนี้ ต่อยอดนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล

 

ปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติก “ไม่เป็นภาระธรรมชาติ”

กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ชูนวัตกรรม “ถุงพลาสติกสลายตัวได้” ประสานเอกชน - SMEs ไทย สร้างนวัตกรรม “ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ 100%” ผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง เดินหน้าแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด Zero Waste ลดขยะเหลือศูนย์

ย้ำชัดอีกครั้ง สำหรับการ “ปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกในประเทศไทย” ของ รมว.กระทรวงอุดมศึกษาฯ "สุวิทย์ เมษินทรีย์" ที่นำเสนอผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) และภาคีเครือข่าย พัฒนาถุงพลาสติกย่อยสลายได้ สำหรับขยะอินทรีย์ เปลี่ยนแป้งมันสำปะหลังเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพ ผสมสูตรเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์มบาง ทำเป็นถุงพลาสติกที่ให้คุณสมบัติ เหนียว ยืดหยุ่น แข็งแรง ย่อยสลายได้ 100% สำหรับขยะเศษอาหาร และถุงเพาะชำกล้าไม้ สลายตัวภายใน 3-4 เดือน หลังการฝังกลบ นำร่องใช้งานจริงไปแล้วในงานกาชาด 2562

   อ่านเพิ่ม : สวทช.เปิดตัว "ถุงพลาสติกสลายตัวได้" ประเดิม "กาชาดสีเขียว" 

 

 

งดใช้ถุงพลาสติก ดีเดย์ 1 ม.ค.2563

หลัง “ขยะพลาสติก” ทั้งบนบกและในทะเล กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว ส่งผลให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) วางโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก กำหนดให้ยกเลิกถุงพลาสติกชนิดต่ำกว่า 36 ไมครอน ซึ่งเป็นถุงพลาสติกชนิดหูหิ้วแบบบาง และส่วนใหญ่ใช้ในห้างสรรพสินค้า ภายในปี 2565 แต่จากวิกฤตขยะพลาสติก ที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับ 10 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากสุด ซึ่งกว่าร้อยละ 40 ของกองขยะมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) แต่ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมทั้งทำให้สัตว์ทะเลต้องตาย อย่างกรณีพะยูนมาเรียม ทำให้ รมว.กระทรวงทรัพฯ ประกาศงดแจกถุงพลาสติกชนิดนี้เร็วขึ้น โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563

เพื่อให้สอดรับและเดินหน้าสู่ความร่วมมือกู้วิกฤตขยะพลาสติก รมว.กระทรวงอุดมศึกษาฯ "สุวิทย์ เมษินทรีย์" ขานรับนโยบาย ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะพลาสติก

ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติก และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองไทย


“ถุงขยะรักษ์โลก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล

ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะอินทรีย์ ถูกจัดให้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ที่รัฐมนตรี “สุวิทย์” นำมาใช้พัฒนาโจทย์ BCG Economy ของรัฐบาล ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งจะมีการผลักดันแบบเต็มสูบ ในปี 2563 โดยจะใช้แป้งมันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบเริ่มต้นในการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร และยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกร

ปี 2563 เรียกว่า 2020 Year of BCG กระทรวงอุดมศึกษาฯ จะใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เริ่มจากภาคเอกชนที่ต้องการวัตถุดิบ ไปที่ชุมชนแหล่งวัตถุดิบ และประชาชนในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบ ทำให้ข้าว ยาง มัน ปาล์ม มีมูลค่าเพิ่ม

 

เอกชนเห็นพ้อง “นโยบาย” แต่มาตรการเยียวยายังไม่คุ้ม

แม้จะยืนยันว่า ไม่คัดค้านนโยบายงดให้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายละเอียดในมาตรการเยียวยาที่ยังไม่ชัดเจนครอบคลุม ก็ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกกังวลถึงผลกระทบ 


นี่เป็นที่มาของการยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพฯ ของกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ที่ขอให้พิจารณาแนวทางการเยียวยาผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบ หากนโยบายงดให้ถุงพลาสติก มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2563 โดยประเมินมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากการสอบถาม 50 บริษัทในสมาคมฯ

จากผลกระทบที่คาดการณ์ไว้ สมาคมฯ เสนอ 3 แนวทางเยียวยา คือ 1) ให้รัฐบาลรับซื้อเครื่องจักรจากโรงงานที่ได้รับผลกระทบ ตามราคาที่เหมาะสม 2) ให้รัฐเป็นฝ่ายจ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานที่อาจถูกเลิกจ้างแทนผู้ประกอบการ ซึ่งประเมินตัวเลขเบื้องต้นไว้ที่ 6-7 พันคน และ 3) ขอให้รัฐรับซื้อวัตถุดิบต่อจากโรงงาน เพราะบางโรงงานยังเหลือวัตถุดิบคงค้างอยู่ในสต๊อก

นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ยืนยันว่ายื่นหนังสือครั้งนี้ ไม่ใช่การคัดค้านนโยบายยกเลิกถุงพลาสติก เพราะก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมประชุมหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นระยะ แต่เพิ่งทราบว่าจะมีการเลื่อนโรดแมปให้เร็วขึ้น และใช้กับถุงพลาสติกทุกขนาด จึงกังวงลถึงผลกระทบ และอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ยั่งยืน

ขณะที่ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพฯ เคยยืนยันชัดเจนกรณีนี้ ว่านโยบายนี้ อาจมีผลกระทบกับผู้ประกอบการผลิตถุงพลาสติก แต่เชื่อว่าจะค่อย ๆ ปรับตัวได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องทำทันที ไม่เช่นนั้นปัญหาขยะพลาสติกจะไม่ลดลง

 

 

โอกาสเกษตรกรมันสำปะหลัง แต่ต้นทุนยังสูง

ด้าน นายเขม หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลังดัดแปรให้อยู่ในรูปเม็ดพลาสติกรายแรกของประเทศไทย ที่ร่วมคิดค้นนวัตกรรม “ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะอินทรีย์” ร่วมกับเอ็มเทค และ สวทช. ในการผลิตถุงพลาสติกจากแป้งมันสำปะหลังไปแล้วร่วม 20,000 ใบ ระบุว่า แม้จะเป็นโอกาสของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จากความต้องการใช้ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อย่าง ปัญหาต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพในการใช้งาน

ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียงร้อยละ 1 ของการใช้พลาสติกทั้งหมด ต้นทุนการผลิตสูงกว่า 2-3 เท่า เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อยากให้รัฐบาลส่งเสริมสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ภาคเอกชนและห้างร้านที่ใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้น และเริ่มต้นจากการประกาศใช้ในหน่วยงานรัฐ 100%

 

เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี กระตุ้นเอกชนใช้วัสดุทดแทน

สอดคล้องกับข้อเสนอ น.ส.นฤศสัย มหฐิติรัฐ ตัวภาคเอกชนจากสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) ที่ต้องการให้รัฐบาลเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ภาคเอกชนที่ผลิตและที่ใช้พลาสติกชีวภาพ เช่น การเพิ่มเม็ดพลาสติกแป้งมันสำปะหลังลงไป ได้รับการลดหย่อนภาษีเป็น 300% ของค่าใช้จ่าย จากมาตรการที่มีอยู่เดิม 125% โดยเชื่อว่า จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนรายอื่นหันมาใช้วัสดุทดแทน ตามแผนแม่บทลดขยะพลาสติกได้อย่างเต็มสูบ ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ประกาศเป้าหมาย การใช้พลาสติกชีวภาพให้ได้ 100% ภายใน 5 ปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาคเอกชนพลิกโฉม "ตลาดเดลิเวอรี่" ลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

นักท่องเที่ยวต้องรู้ 1 ม.ค.63 ห้ามถุงพลาสติก-โฟมเข้าอุทยาน

"รัชดา" ประเดิมย่านธุรกิจ ลดขยะ - ก๊าซเรือนกระจก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง