ชาวประมงค้านถมทะเลบางละมุง 3,000 ไร่

สิ่งแวดล้อม
13 ธ.ค. 62
14:13
2,569
Logo Thai PBS
ชาวประมงค้านถมทะเลบางละมุง 3,000 ไร่
ข่าวการถมทะเล กว่า 3,000 ไร่ บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังมีกระแสข่าวกลุ่มทุนยื่นคำขาดถึงรัฐบาลให้รีบตัดสินใจ ก่อนจะย้ายฐานการผลิต หลายแสนล้านบาทไปต่างประเทศ ด้านชาวประมงในพื้นที่กังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ตัวแทนชาวบ้าน และประมงพื้นบ้าน ในชุมชนรอบพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประเด็นผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ในเวทีเสวนาหัวข้อ "อ่าวบางละมุง-อ่าวอุดม : ผืนน้ำแหล่งสุดท้าย เราถอยไม่ได้อีกแล้ว" ซึ่งประเด็นตั้งต้นที่ร่วมกันพูดคุย คือ ข้อกังวลต่อแนวคิดที่ภาครัฐพยายามผลักดันโครงการถมทะเล 3,000 ไร่ บริเวณท่าเรือแหลมฉบังของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อรองรับการลงทุนส่วนขยายโครงการปิโตรเคมี ของกลุ่มเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น

 

 

นายรังสรรค์ สมบูรณ์ ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้านบางละมุง จ.ชลบุรี สะท้อนว่า ที่ผ่านมาชุมชนและชาวบ้านรอบพื้นที่ท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เผชิญกับผลกระทบทั้งในด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม มาเกือบ 30 ปีแล้ว โดยที่ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการชดเชย เยียวยาที่ชัดเจน

โดยเฉพาะอาชีพการทำประมงพื้นบ้านที่หลายครอบครัวต้องสูญเสียไป เพราะในอดีตแนวเขตทะเลชายฝั่งอ่าวบางละมุง - อ่าวอุดม ถือว่าอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์ทะเล และที่นี่ยังถือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ที่ขึ้นชื่อ สร้างรายได้ให้กับชุมชนเฉลี่ย 280 ล้านบาทต่อปี และหากรวมกับสัตว์ทะเลอื่น ๆ ที่จับส่งขาย สามารถสร้างรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนสูงถึงกว่า 400 ล้านบาทต่อปี

 

 

ซึ่งตลอดช่วงที่ถูกคุกคามจากอุตสาหกรรมอย่างหนัก พื้นที่หากินทางทะเลลดลง อีกทั้งสัตว์น้ำชายฝั่งหายไปจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นแทบไม่เคยได้รับการเหลียวแลและเยียวยาอย่างเหมาะสมจากภาครัฐ ดังนั้นหากมีโครงการถมทะเลเกิดขึ้นอีก ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่ชาวบ้านที่นี่แบกรับกันมาตลอด

ถ้ามีการถมทะเล ก็เท่ากับหายนะ อย่างแน่นอน เพราะจะสูญเสียทรัพยากรทางทะเลอย่างถาวร ตอนนี้ชายฝั่งทะเลที่นี่ไม่สามารถรับอะไรได้อีกแล้ว

ขณะที่ นายอมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวอุดม จ.ชลบุรี บอกว่า ผลกระทบที่ชาวบ้านเผชิญมาก่อนหน้านี้ ส่งผลให้พวกเขาต้องมาร่วมกันกำหนดแนวทางฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยจัดทำข้อตกลงร่วมเป็นธรรมนูญชุมชน เพื่อปกป้องและฟื้นคืนทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวอุดมกลับมาเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง ได้ทำมาหากิน ดังนั้นภาครัฐจึงควรยุติแนวคิดที่จะยิ่งสร้างปัญหาซ้ำเติมชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อม

 

 

เอกชนยื่นคำขาดขอความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้


แนวคิดถมทะเล 3,000 ไร่ ถูกให้ความสนใจจากสังคมทันทีภายหลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุไว้ในการมอบนโยบายให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่ง กนอ.ได้ว่าจ้างหน่วยงานศึกษาความเป็นไปได้ของการถมทะเลในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ด้วย

 

 

ซึ่งล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ มีกระแสข่าวมาว่า กลุ่มเอ็กซอน โมบิล ได้ยื่นคำขาดให้กับรัฐบาลไทยว่า หากยังไม่สามารถได้ข้อสรุปการจัดหาพื้นที่เพื่อขยายโรงานปิโตรเคมีได้ทันก่อนสิ้นปีนี้ ก็มีแนวโน้มว่าจะย้ายการลงทุนไปที่ประเทศเวียดนาม หรือ จีน แทน

นี่อาจเป็นหนึ่งในปัจจัย ที่ทำให้ชาวบ้าน เชื่อว่า ในเร็ว ๆ นี้ อาจมีความเคลื่อนไหวต่อความพยายามผลักดันโครงการถมทะเลจากฝั่งรัฐบาล ซึ่งพวกเขายืนยันจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และคัดค้านถึงที่สุด

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง