สถานีตรวจวัดฝุ่นพิษจิ๋ว กทม. ยังไม่ครอบคลุม

สิ่งแวดล้อม
13 ธ.ค. 62
14:33
600
Logo Thai PBS
สถานีตรวจวัดฝุ่นพิษจิ๋ว กทม. ยังไม่ครอบคลุม
กทม.ตั้งรับฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ดีขึ้น เปรียบเทียบกับต้นปี นักวิชาการชี้ช่องโหว่ใหญ่เมืองหลวง ยังติดตั้งสถานีไม่ครอบคลุม ข้อมูลไม่สะท้อนสถานการณ์จริง ส่งผลต่อการเตือนประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ

วันนี้ (13 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร รายงานปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM 2.5 46 สถานี พบว่า ผลการตรวจวัดเวลา 7.00 น. อยู่ระหว่าง 31-94 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเช้าเมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) โดยพบเกินค่ามาตรฐาน 14 สถานี แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือ สวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5

  • ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 57 มคก./ลบ.ม.
  • ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 71 มคก./ลบ.ม.
  • ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ 58 มคก./ลบ.ม.
  • ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 56 มคก./ลบ.ม.
  • ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร 94 มคก./ลบ.ม.
  • ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม 73 มคก./ลบ.ม.
  • แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม. 51 มคก./ลบ.ม.
  • แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม. 57 มคก./ลบ.ม.
  • แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. 59 มคก./ลบ.ม.

เครื่องตรวจวัดไม่ทั่ว ทำคำนวณอากาศคลาดเคลื่อน

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีสถานีตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ของกรมควบคุมมลพิษและกรุงเทพมหานคร รวมกัน 46 สถานี ซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั้ง 50 เขต ทำให้การรายงานปริมาณฝุ่นจากแอปพลิเคชัน Air4Thai ยังไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทั่วถึง และยังส่งผลโดยตรงต่อการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ซึ่งต้องใช้ปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 ในการคำนวณด้วย ข้อมูลดัชนีคุณอากาศที่รายงานปัจจุบัน จึงยังคงคลาดเคลื่อนและไม่สะท้อนความเป็นจริง

การคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ ต้องคำนวณปริมาณฝุ่น PM 2.5 เข้าไปด้วย แต่หลายพื้นที่ ไม่มีสถานีตรวจวัด ข้อมูลที่ได้จึงไม่ตรงตามความเป็นจริง และส่งผลโดยตรงต่อการแจ้งเตือนประชาชน

นายสนธิ ยังระบุเพิ่มเติมว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ หากเปรียบเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ไม่วิกฤตเท่า ทั้งนี้ เป็นเพราะกรุงเทพมหานคร ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญตั้งแต่ วันที่ 30 ม.ค.2562 ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข และยังมีผลต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ ทำให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจและแนวทางชัดเจนในการเข้าควบคุมแหล่งกำเนิด เช่น การตรวจจับควันดำ โรงงานอุตสาหกรรม และสั่งห้ามการเผาในที่โล่งแจ้งโดยเด็ดขาด รวมถึงแผนชาติที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นกรอบที่กำหนดให้แต่ละจังหวัด ต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องและชัดเจนขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สมุทรสาคร" ระดมฉีดน้ำแก้ฝุ่นพิษถนนพระราม 2

"กรุงเทพฯ-ปริมณฑล" ค่าฝุ่นเกิน 40 จุดกระทบสุขภาพ

365 วัน "กรุงเทพมหานคร" เมืองในฝุ่น

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง