กทม.เปิดแผนรับมือฝุ่น PM2.5

ภัยพิบัติ
16 ธ.ค. 62
12:47
9,665
Logo Thai PBS
กทม.เปิดแผนรับมือฝุ่น PM2.5
กทม.เผยแผนปฏิบัติการรับมือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM2.5 หลังจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ครม.มีมติให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว

วันนี้ (16 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 ทำให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2562 กำชับให้ทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่นละอองในระยะเร่งด่วน ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามภารกิจของหน่วยงานตามแผนระยะเร่งด่วน (ขั้นเตรียมการ ขั้นปฏิบัติการ ขั้นฟื้นฟู) ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระชาติ การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 ในพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเจอกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มีแผนปฏิบัติการออกมาแล้ว

 

 

ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายทั่วเมืองหลวง 9-15 ธ.ค.

แต่ดูเหมือนว่าคนกรุงเทพฯ อาจรู้สึกได้ถึงหมอกควันที่ฟุ้งกระจายไปทั่วอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าสู่ฤดูหนาว เช่นในช่วงฤดูหนาวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 9-15 ธ.ค.2562 ที่มีฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานสูงในช่วงวันที่อากาศปิดลมเบา ประกอบกับการจราจรที่ไม่หนาแน่น แต่กลับพบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กบดบังตึกสูงหลายแห่ง มองเห็นชั้นฝุ่นชัดเจน

 

 

หากย้อนไปอีกเมื่อต้นปี ประเทศไทยก็มีปัญหาฝุ่น PM2.5 มาโดยตลอด ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงศึกษาธิการออกประกาศให้สถานศึกษาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทุกแห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ.2562 กระทรวงศึกษาธิการจึงพิจารณาสั่งปิดสถานศึกษาด้วยเหตุพิเศษในกรุงเทพฯ ทุกแห่ง และสถานศึกษาใน จ.นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

"ยานพาหนะ-ก่อสร้าง-การเผา" สร้างมลพิษฝุ่น

โดยปัจจัยใหญ่ของกรุงเทพฯ คือยานพาหนะ และการก่อสร้าง หรือแม้แต่การเผาที่หากไม่ลดในวันที่อากาศปิด การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 จึงเป็นความหวังของคนกรุงเทพฯ เพราะปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ฝุ่นจะลดลง

 

 

นายชาตรี วัฒนขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.เปิดเผยว่า หากเกิดภาวะวิกฤตฝุ่นกรุงเทพฯ ก็สามารถสั่งการตามอำนาจหน้าที่ขณะนี้กรุงเทพฯ จึงมีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ที่ผ่านการทบทวนวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินสถานการณ์ เพื่อถอดบทเรียนแก้ปัญหา พร้อมปรับปรุงระบบการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินและจัดทำแผนเผชิญเหตุ แผนตอบโต้สถานการณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังวิกฤต

กลไกจัดการปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก

และสามารถการดำเนินการแผนการแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตตามที่กำหนด โดยใช้ระบบบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Single Command เป็นกลไกจัดการปัญหาฝุ่นละออง ด้วยการเฝ้าตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 แจ้งประชาชนให้ทราบถึงการป้องกันตัวเองผ่านสื่อออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ป้องกันตัวเองด้านสุขภาพอนามัย

 

 

การประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกให้เกิดการจราจรที่คล่องตัว เข้มงวดตรวจจับควันดำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง/รณรงค์ไม่ขับช่วยดับเครื่อง การส่งเสริมประชาชนลดการใช้รถส่วนตัว เข้มงวดการก่อสร้างให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ควบคุมสถานประกอบการปล่อยมลพิษ ควบคุมการเผาขยะ เพิ่มความถี่การกวาดล้างถนน ขอความร่วมมือเจ้าของอาคารสูง ฉีดพ้นละอองน้ำ

 

 

นายชาตรี กล่าวอีกว่า หากเกิดภาวะวิกฤตฝุ่น กทม.ก็สามารถสั่งการตามอำนาจหน้าที่ ถ้าเป็นไปตามแผนชาติที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลสั่งการหน่วยงานปฏิบัติและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูเหมือนจะเห็นกลไกของศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ Single Command ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 โดยผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการ ที่น่าจะได้ผล

แก้ปัญหาฝุ่นต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่าย

แต่ความยากขณะนี้ของกรุงเทพฯ คือแหล่งกำเนิดต้นทางหลักของฝุ่น PM2.5 คือยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ที่พบมากกว่า 10 ล้านคัน ในปี 2561 การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน เช่น การตรวจวัดควันดำ กทม.ทำได้เพียงร่วมกับตำรวจ หรือหากจะใช้มาตรการห้ามรถที่ปล่อย PM2.5 เข้าพื้นที่ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม โดยไม่สามารถสั่งการได้โดยตรง เช่นเดียวกับปัจจัยอื่นๆ

 

 

แม้จะมีแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่นพื้นที่กรุงเทพฯ ออกมาแล้ว ซึ่งก็เดินหน้าตามแผนแก้ฝุ่นชาติ ที่ให้อำนาจผู้ว่าฯ ในการบัญชาการเหตุการณ์ แต่ยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จ เพราะต้องอาศัยความร่วมมือมากกว่า 20 หน่วยงานภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานนี่จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าแม้จะมีแผนแก้ฝุ่นในแต่ละพื้นที่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้อย่างบูรณาการในขณะที่กำลังนับถอยหลังเข้าสู่ปัญหาฝุ่นพิษจิ๋วที่กำลังจะกลับมาอีกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง