จี้รัฐ แก้ปัญหาความรุนแรงใน LGBTQ

สังคม
16 ธ.ค. 62
18:52
10,318
Logo Thai PBS
จี้รัฐ แก้ปัญหาความรุนแรงใน LGBTQ
เครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ เปิดผลสำรวจปี 2561 พบ LGBTQ ในไทย ถูกสังหาร 21 คน สาเหตุเพียงเพราะความเกลียดชัง จี้รัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมความเข้าใจ และป้องกันการกระทำความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBTQ นักวิชาการ ชี้ สร้างความเข้าใจเริ่มที่ครอบครัว

เนื่องในวันรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆ่าสังหาร (Transgender Day of Remembrance) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเสวนาเรื่องครอบครัวจุดเริ่มต้นของพลังการยอมรับและทลายความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ


ปี 2561 LGBTQ ไทย ถูกสังหาร 21 คน

ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลรายงานการสำรวจโดยเครือข่ายคนข้ามเพศยุโรป เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2551 – 2559 พบผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก ถูกสังหารเพราะความเกลียดชัง 2,264 คน แต่ที่น่าตกใจ คือ ในปี 2560 เพียงปีเดียว มีเหยื่อถึง 2,064 คน หรือราว 5 คน ต่อวัน


ส่วนในประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เก็บข้อมูลจากหน้าหนังสือพิมพ์และข่าว ในปี 2561 พบผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกสังหาร 21 คน อาจดูไม่มากหากกับเทียบประเทศที่เคร่งในเรื่องศาสนา แต่ก็สะท้อนว่าในประเทศที่ยอมรับเรื่องความแตกต่างหลากหลายอย่างประเทศไทย การกระทำความรุนแรงต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังคงเกิดขึ้น โดยเรียกปรากฏการนี้ว่า เป็นสังคมที่ “รับได้แต่ไม่สุงสิง”

จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง พบเกินครึ่ง มีทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่การยอมรับและสนับสนุนจะลดลง เมื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นนักเรียน บุคคลในที่ทำงาน สมาชิกในครอบครัว หรือคนรู้จักใกล้ชิด

"คนข้างบ้าน" มีผลต่อการยอมรับลูกที่เป็น LGBTQ

ข้อมูลจาก Journal of Child and Adolescent Psychiatric Nursing (2010) พบว่า เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงกว่าเด็กทั่วไปถึง 8 เท่า และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่า 6 เท่า โดยพบว่า ลึก ๆ นั้น พ่อแม่รู้ว่าลูกตัวเองเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่กล้าถามหรือไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ขณะที่เด็กเองก็ไม่มั่นใจว่าพ่อแม่จะรับได้หรือไม่ งานวิจัยยังพบว่า บุคคลที่มีอิทธิพลอย่างมากในการที่ครอบครัวจะปฏิบัติอย่างไรต่อลูกตัวเอง คือ คนแถวบ้านหรือคนในสังคม


คณิศ ปิยะปภากรกูล
หรือ เต็งหนึ่ง นักแสดงและศิลปิน ที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แบ่งปันประสบการณ์ว่า แม่ของเขา ต้องพบคำถามมาโดยตลอด ว่าลูกชายเป็นเกย์หรือไม่ แต่โชคดีที่แม่เข้าใจ และทราบมาโดยตลอดว่าลูกชายเป็นอย่างไร แต่ก็เคารพการตัดสินใจของลูกชาย จนเมื่อพร้อม เต็งหนึ่ง จึงตัดสินใจบอกกับครอบครัว ในวัย 25 ปี

ทุกคนอาจจะมีเวลาพร้อมที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะรู้ตั้งแต่เด็ก ๆ หรือบางคนจะพร้อมตอนอายุ 40 ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เอาที่ตัวเองรู้สึกไม่อึดอัด พูดแล้วให้เกิดผลดี มีความสุข

ปัญหาใจ ที่มาพร้อมปัญหาสุขภาพ

นอกจากปัญหาทางด้านจิตใจ หากครอบครัวไม่ยอมรับ อีกด้านหนึ่ง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นกลุ่มคนเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงสุขภาวะที่ดี เช่น การแอบไปกิน หรือ ฉีดยา ใช้ฮอร์โมน แบบผิด ๆ เพื่อกดฮอร์โมนเพศชายหรือหญิงให้น้อยลง ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว แนวทางลดปัญหาในเรื่องนี้ คือ การสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนจะช่วยลดอาการซึมเศร้า เพิ่มการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง และส่งเสริมสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ

หนึ่งในหน่วยงานที่ทำหน้าที่ สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายครอบครัว ที่มีบุตรหลานเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้มีความรู้ความเข้าใจ ในกรณีนี้ คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยหวังว่าจะสามารถลดความตึงเครียดและสร้างเสริมความเข้าใจภายในครอบครัวได้ โดยอยู่ระหว่างจัดเวทีถอดชุดประสบการณ์ในการดูแลบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศใน กทม. และจังหวัดอื่น ๆ เพื่อจัดทำเป็น ชุดคู่มือในการดูแลบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจะมีคำแนะนำในการเริ่มต้นให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลเรื่องสุขภาวะที่ถูกต้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ เม.ย.2563


5 ข้อเสนอ เพื่อผลักดันเป็นนโยบายคุ้มครอง LGBTQ

นอกจากนี้ ตัวแทนจากคนข้ามเพศ คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ครอบครัว เครือข่ายและองค์กรภาคประชาสังคม ได้ยื่นข้อเสนอไปยังภาครัฐ เพื่อให้เกิดเป็นนโยบายคุ้มครองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

  1. สถาบันการแพทย์ จะต้องหยุดระบุว่า เด็กข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นภาวะของ การเบี่ยงเบนทางเพศ ภาวะความเจ็บป่วยทางจิต การปรับเปลี่ยนร่างกาย การทำศัลยกรรมไม่ใช่การบำบัดรักษา เป็นการสนับสนุนทางการแพทย์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับ และการระบุว่า เด็กข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นภาวะความเจ็บป่วยนั้น เป็นการสร้างความเกลียดชัง สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ปกครอง พร้อมทั้งการต้องระบบบริการทางการแพทย์ที่เป็นมิตรและเข้าใจเด็กเยาวชนคนข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งนี้เพื่อลดการสร้างอคติทางเพศ
  2. สถาบันทางการศึกษา ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตให้สอดคล้องตามอัตลักษณ์ทางเพศของเด็ก ไม่สร้างความแปลกแยกให้กับเด็กข้ามเพศ และเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศเพราะจะนำมาซึ่งเหตุแห่งการกลั่นแกล้งรังแก บ่มเพาะความรุนแรง ฝังรากลึกของความเกลียดชัง
  3. องค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัว จะต้องมีความละเอียดอ่อนทางเพศ (Gender Sensitivity) เข้าใจว่าการทำงานเพื่อสร้างความเท่าเทียมของเด็กข้ามเพศ และคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่การชี้นำ แต่คือการทำให้เด็กข้ามเพศ และเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศรู้เท่าทัน เพื่อเข้าถึงสิทธิและโอกาสที่ทัดเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ พร้อมทั้งเด็กคนอื่น ๆ ในสังคมจะสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่นำมาซึ่งการเข้าใจและยอมรับคนข้ามเพศ และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทลายความเกลียดชังที่ฝังรากลึกมานาน
  4. รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบาย จะต้องเห็นถึงช่องว่างทางนโยบายที่ขาดระบบข้อมูล ความรู้ ระบบบริการที่มีการสนับสนุนครอบครัวที่มีบุตรหลานข้ามเพศ หลากหลายเพศ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงและพัฒนาเด็กอย่างมีสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กข้ามเพศ เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ บนพื้นฐานของการคำนึงประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก
  5. รัฐบาลไทย ต้องสนับสนุนและผลักดันกฎหมายเพื่อให้เกิดการพิทักษ์ รับรองและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่ม คนข้ามเพศ ในเรื่องกฎหมายรับรองเพศสภาพ กฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านามบุคคล กฎหมายจดทะเบียนสมรส เป็นต้น เพื่อลดความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มหลากหลายทางเพศ ยื่นศาลฯวินิจฉัย 2 กฎหมายจำกัดสิทธิ?

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง