โซเชียลร่วมล่ารายชื่อ ขอรัฐคุมราคา "ผ้าอนามัย" ให้ทุกคนเข้าถึงได้

เศรษฐกิจ
16 ธ.ค. 62
19:10
3,119
Logo Thai PBS
โซเชียลร่วมล่ารายชื่อ ขอรัฐคุมราคา "ผ้าอนามัย" ให้ทุกคนเข้าถึงได้
แคมเปญ change.org ผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ต้องมีมาตรการควบคุม ให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงได้ #ของมันต้องมี ล่ารายชื่อโซเชียลร่วมรณรงค์ร้องเรียนกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ล่าสุด มีผู้ลงชื่อสนับสนุนกว่า 5,000 คน

วันนี้ (16 ธ.ค.2562) จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขึ้นภาษีผ้าอนามัย หลัง น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 40% และไม่มีการควบคุมราคา ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา

แม้นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต จะออกมายืนยันว่า ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยถึง 40% ตามข่าวที่กล่าวมาแน่นอน เนื่องจากสินค้าชนิดนี้ไม่ได้ถูกระบุในพิกัดการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ดังนั้นภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ แต่กระแสเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราคาผ้าอนามัยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แฮชแท็ก #ภาษีผ้าอนามัย ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยเป็นอันดับ 1 โดยมีการทวีตข้อความถึง #ภาษีอนามัยถึง 144,000 ครั้ง


ราคาผ้าอนามัย เป็นปัญหาที่โซเชียลถกเถียงกันมาหลายครั้งมักจบลงด้วยการหาข้อสรุปไม่ได้ ขณะที่ความจำเป็นในการใช้ผ้าอนามัยของผู้หญิงก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ จิตติมา ภาณุเตชะ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ได้สร้างแคมเปญ ผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ต้องมีมาตรการควบคุม ให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงได้ #ของมันต้องมี รณรงค์ร้องเรียน กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้มีอำนาจตัดสินใจอื่นอีก 1 คน ล่าสุด มีผู้ลงชื่อสนุบสนุนแล้ว 5,225 คน เมื่อเวลา 19.05 น. โดยผู้สร้างแคมเปญได้ระบุรายละเอียดไว้ดังนี้

ประจำเดือนเป็นกลไกทางร่างกายที่ทำให้ผู้หญิงมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น มันไม่เกี่ยวกับได้เงินเดือนเท่าไหร่จะจ่ายพอไหมด้วยซ้ำ มันเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ผู้หญิงจำเป็นต้องจ่าย เพราะเราเลือกเกิดไม่ได้

ถ้ารัฐจะช่วยให้เท่าเทียมขึ้นสักนิดได้ก็จะดี เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องพิลึก ถ้ามองกันว่าแปลก พิลึกกันแต่แรก ชาตินี้ก็ไม่มีวันเข้าใจความหลากหลายได้ จริงๆ ของที่จำเป็นในการดำรงชีวิตพื้นฐานลักษณะนี้ ควรได้รับการยกเว้นภาษีด้วยซ้ำ นี่คือความรู้สึกที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของผ้าอนามัย ซึ่งส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้หญิงต้องแบกรับในแต่ละเดือน

ในบ้านเราผ้าอนามัย ถูกจัดให้อยู่ในหมวดเครื่องสำอาง มีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น และแพงเมื่อเทียบกับค่าแรงหรือรายได้ขั้นต่ำ แม้ว่าจะมีการรวมเอาผ้าอนามัยอยู่ในรายการสินค้าควบคุม แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดราคาที่ชัดเจน

คิดง่ายๆ ผ้าอนามัย 1 ห่อ ประมาณ 40-60 บาท แบบสอดประมาณ 80 บาท ตอนกลางวันบางคนมามากต้องใช้แบบตอนกลางคืน ซึ่งการมามากมาน้อยขึ้นอยู่กับบุคคล แต่ผ้าอนามัยควรเปลี่ยนทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อสุขอนามัยที่ดี เฉลี่ยใช้วันละ 7 แผ่น ประจำเดือนมาประมาณ 4-7 วันแล้วแต่คน เฉลี่ยแล้วประจำเดือนมา 1 ครั้ง ใช้ผ้าอนามัยประมาณ 30 กว่าแผ่น ก็ประมาณ 400 บาทต่อเดือน ถ้าผู้หญิงหนึ่งคนมีช่วงที่มีประจำเดือนสัก 30 ปี ก็จะเสียค่าใช่จ่ายประมาณ 140,000 บาท

หากจำกันได้ ครั้งหนึ่งช่วงที่น้ำดื่มแพง กระทรวงพาณิชย์เคยออกประกาศ ‘ราคาแนะนำ’ น้ำขวด (ขนาด 500-600 ซีซี) ควรอยู่ที่ราคา 7 บาท ตรงนี้ รัฐมองผ่านมิติที่ว่า นี่คือสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ต้องได้รับการคุ้มครองราคา ไม่ต่างอะไรกับผ้าอนามัย ที่รัฐต้องให้ความสำคัญ ผู้หญิงไม่สามารถเลือกได้ว่าจะไม่มีมดลูก และประจำเดือนมันก็ติดมาพร้อมการมีมดลูก ผ้าอนามัยควรถูกมองว่าเป็น ‘สินค้าจำเป็น’ ต่อสุขภาพอนามัย ไม่ใช่คิดแค่ว่าเป็น ‘ความรับผิดชอบส่วนตัว’ ของผู้หญิง

  • รัฐบาลอังกฤษ - ประกาศลดภาษีผ้าอนามัย พร้อมบริจาคเงินภาษี 15 ล้านปอนด์ให้องค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือผู้หญิงทุกปี

  • รัฐบาลสก็อตแลนด์ - ทุ่มเงินกว่า 4 ล้านยูโร แจกผ้าอนามัยฟรีให้แก่ประชาชน เพราะเห็นว่าเป็นกลไกทางร่างกายที่ผู้หญิงเลือกไม่ได้

  • รัฐบาลอินเดีย - ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย 100% เพราะเห็นว่าการมีประจำเดือนเป็นหนึ่งในเหตุผลแรกๆ ที่เด็กหญิงจำนวนมากต้องทิ้งการเรียน เพราะไม่มีผ้าอนามัยใช้ในเวลาจำเป็น บางส่วนใช้เศษผ้า กระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

  • รัฐบาลออสเตรเลีย และแคนาดา ประกาศยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ตามเสียงเรียกร้องของหลายหมื่นคนบน Change.org

จึงอยากขอแรงสนับสนุนให้มากที่สุด ช่วยกันส่งเสียงไปยังรัฐบาลให้เร่งออกมาตรการกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็น การแจกเป็นสวัสดิการ กำหนดราคากลาง ราคาแนะนำ การลด หรือการยกเลิกเก็บภาษีสำหรับสินค้าประเภทนี้ ให้ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แล้วแต่สมควร แล้วเราจะเดินหน้าเข้าปรึกษาหารือกับ กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ ต่อไป

ขอยืนยันว่านี่ ไม่ใช่การมอบอภิสิทธิ์ให้ผู้หญิง แต่คือ สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ที่ต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ #ของมันต้องมี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง