เครือข่ายแรงงาน เสนอ 4 ข้อ ถึงรัฐบาล วันแรงงานข้ามชาติสากล

สังคม
18 ธ.ค. 62
16:43
830
Logo Thai PBS
เครือข่ายแรงงาน เสนอ 4 ข้อ ถึงรัฐบาล วันแรงงานข้ามชาติสากล
เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรแรงงาน จัดกิจกรรม "วันแรงงานข้ามชาติสากล" 18 ธ.ค. เรียกร้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน ยกระดับสู่มาตรฐานสากล พร้อมยื่น 4 ข้อเสนอถึงรัฐบาล ด้าน "กรมการจัดหางาน" เน้นบังคับใช้กฎหมายจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ

วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประกาศรับรองให้เป็น “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day) เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองทั้งสิทธิมนุษยชน และสิทธิแรงงาน รวมถึงได้รับการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภาษา สีผิว และเพศสภาพ

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ระบุข้อมูลเมื่อ ต.ค.2562 ว่า มีแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 3,222,150 คน ทั้งเป็นแรงงานมีฝืมือ แรงงานประเภททั่วไป และเป็นผู้อพยพชนกลุ่มน้อย กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งอยู่ในความดูแลของนายจ้างที่รับผิดชอบตามข้อกำหนดของกระทรวงแรงงาน แต่หากไปเดินตามตลาดการค้าใหญ่ ๆ เช่น ตลาดสด แพปลา ก็จะพบแรงงานข้ามชาติได้ไม่ยากที่อยู่นอกระบบ และเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน หรือ แม้แต่การจ้างงานเป็นลูกเรือประมงอย่างไม่เป็นธรรม ก็เป็นประเด็นที่ทำให้องค์การด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกจับตามอง

แรงงานข้ามชาติเรียกร้องสิทธิ

วันแรงงานข้ามชาติสากล 2019 เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย และสหภาพข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ จัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ให้เกิดความทัดเทียมกับแรงงานไทยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล และร่วมกันแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาล 4 ข้อ

  1. ขอให้รัฐบาลปฏิรูป พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่ออนุญาตให้คนงานทุกคน มีสิทธิที่จะจัดตั้งและเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน มีสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม โดยไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ กฎหมายควรให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับสิทธิเหล่านี้ เพื่อให้คนงานสามารถใช้สิทธิเหล่านี้โดยไม่ต้องหวาดกลัวหรือไม่ต้องถูกตอบโต้
  2. ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้คนงานทุกคน ทุกกลุ่ม สามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานอย่างมีเสรีภาพตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานในระดับสากล
  3. ขอให้รัฐบาลตรวจสอบค่าใช้จ่ายการนำเข้า MOU แรงงานข้ามชาติที่สูงเกินกว่าที่พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวกำหนดไว้ ซึ่งในปัจจุบันยังมีสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่เรียกเก็บเงินจากแรงงาน ที่เป็นจำนวนที่สูงกว่าพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้กำหนดไว้
  4. ขอให้ยกเลิกการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาท และออกกฎหมายเพื่อต่อต้านการฟ้องคดียุทธศาสตร์เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) เพื่อประกันว่าคนงานและนักปกป้องสิทธิแรงงานจะไม่ตกเป็นเป้าการฟ้องคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง หากมีการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่อต้านการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิแรงงาน

ภาครัฐเร่งกวาดต้อนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย

ขณะที่ภาครัฐเอง อย่าง กรมการจัดหางาน ได้ประกาศเดินหน้า การจัดการปัญหาแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดย นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่แย่งอาชีพคนไทย โดยไม่นิ่งนอนใจ พร้อมสั่งการให้กรมการจัดหางาน บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกรมการปกครอง ลงพื้นที่ตรวจสอบทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีแรงงานแรงงานข้ามชาติอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี เป็นต้น


อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด จับกุมดำเนินคดีแรงงานข้ามชาติแย่งอาชีพ ไปแล้ว 1,763 คน พบลักลอบทำงานขายของหน้าร้านมากที่สุด จำนวน 1,170 คน รองลงมาเป็นงานเร่ขายสินค้า 321 คน และงานอื่น ๆ จำนวน 272 คน ได้แก่ งานจำหน่ายอาหาร (คนต่างด้าวเป็นเจ้าของเอง) นวดแผนไทย งานบริการ (คาราโอเกะ) งานเสริมสวย ขับขี่ยานพาหนะ (วินมอเตอร์ไซค์) งานก่ออิฐช่างไม้หรืองานก่อสร้างอื่น พนักงานรักษาความปลอดภัย งานทำรองเท้า งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

โดยส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมามากที่สุด จำนวน 1,000 คน รองลงมาเป็นเวียดนาม 171 คน ลาว 162 คน กัมพูชา 151 คน อินเดีย 37 คน จีน 5 คน และอื่น ๆ 13 คน และได้เปรียบเทียบปรับแรงงานข้ามชาติ คิดเป็นเงินค่าปรับ 7,695,000 บาท ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางไปแล้ว จำนวน 1,539 คน

ส่วนในกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติไปแล้ว 2,718 คน ดำเนินคดีไปแล้ว 295 คน โดยถูกดำเนินคดีคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ทั้งนี้ ผู้ที่พบคนต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายหรือพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0 2354 1729 หรือสำนักงานจัดหางาน กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนะนายจ้างพาแรงงานข้ามชาติเร่งขอใบอนุญาตทำงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง