ยกฟ้องชาวบ้านคดีทวงคืนผืนป่า ศาลชี้ ให้รอกรมป่าไม้พิสูจน์สิทธิ

สังคม
18 ธ.ค. 62
17:37
3,844
Logo Thai PBS
ยกฟ้องชาวบ้านคดีทวงคืนผืนป่า ศาลชี้ ให้รอกรมป่าไม้พิสูจน์สิทธิ
ศาลจังหวัดลำปางยกฟ้องนางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง เหยื่อทวงคืนผืนป่า อ.งาว จ.ลำปาง ชี้ มีหลักฐานการทำกินมาก่อนตามภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 และได้รับการคุ้มครองเพราะมีการจัดการทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชนซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล

วันนี้ (18 ธ.ค.2562) ศาลจังหวัดลำปาง นัดอ่านคำพิพากษากรณีนางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หรือ นางแสงเดือน ตินยอด วัย 52 ปี ชาวบ้านแม่กวัก อ.งาว จ.ลำปาง ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีอาวุธไว้ในครอบครอง โดยมีตัวแทนกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ร่วมให้กำลังใจ โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทุกคดี และยังไม่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ จนกว่ากรมป่าไม้จะสามารถพิสูจน์ได้ว่า นางแสงเดือนไม่เข้าข่ายการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย.2541


หลังฟังคำพิพากษา นางวันหนึ่งกล่าวทั้งน้ำตาว่า ที่ผ่านมาต้องขาดรายได้มานาน จากการถูกดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2561 จึงต้องการวอนถึงรัฐบาลว่าไม่ควรให้เกิดกรณีแบบสองมาตรฐานอย่างที่ถูกสังคมตั้งข้อสังเกต

ดีใจมากเลย กินไม่ได้นอนไม่หลับมาหลายเดือน สู้มาตลอด เราทำกินในที่ดินตรงนั้น ขาดรายได้มาหลายปี แต่วันนี้เห็นพี่น้องมาให้กำลังใจ มีคนให้กำลังใจในเฟซบุ๊ก อยากจะบอกรัฐบาลว่า อย่าดำเนินการกับคนจนแบบสองมาตรฐานแบบนี้เลย เราทุกข์อยู่แล้ว จนอยู่แล้ว ก็ยิ่งจนลงไปอีก นโยบายเขามาไม่เคยถามชุมชนเลย


ศาลชี้ อยู่มาก่อน ได้รับคุ้มครองตามแนวทางโฉนดชุมชน

จากคำพิพากษา สรุปได้ว่า จำเลยขาดเจตนา การเข้าไปทำกินของจำเลย มีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2545 อยู่ในกลุ่มประชาชนที่ได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 และพยานของรัฐให้การตรงกันว่าพื้นที่พิพาทมีการทำประโยชน์มาก่อนจริง เข้าหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย.2541 จึงไม่ถือเป็นความผิดอาญา เมื่อไม่ผิดคดีอาญา จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายคดีแพ่งกว่า 1 ล้านบาท ในข้อหาทำให้โลกร้อน ส่วนคดีอาวุธปืน ไม่สามารถชี้ชัดว่าเป็นของจำเลยจริง ยกประโยชน์ให้จำเลย

ส่วนประเด็นว่าต้องออกจากที่ดินหรือไม่ ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ โดยไม่ต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือ ออกจากพื้นที่นั้น ต้องให้กรมป่าไม้พิสูจน์สิทธิ์ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.2541 ก่อน หากเข้าข่ายได้รับการคุ้มครอง ก็ไม่ต้องออกจากพื้นที่ แต่หากไม่ได้รับการคุ้มครองให้จำเลยย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 60 วันนับจากวันที่การพิสูจน์สิทธิ์เสร็จสิ้น

นอกจากนั้น ศาลยังวินิจฉัยว่า การดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชนของชุมชนบ้านแม่กวักตั้งแต่ปี 2556 นั้น เป็นการดำเนินการไปตามนโยบายของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 จึงเป็นนโยบายที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจยึดพื้นที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ปฏิบัติตามดุลยพินิจของตัวเอง


สำหรับคดีความของนางแสงเดือน (หรือ นางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง) นั้น ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ดำเนินการให้ตัดฟันยางพาราสองครั้ง คือในปี 2556 และ 2558 ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ภายหลังได้รับการพิสูจน์ว่าพื้นที่ทำกิน 12 ไร่ของตนไม่ได้อยู่ในพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ เมื่อมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย จึงถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งแจ้งความดำเนินคดี เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2561 แม้มีคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 คุ้มครอง และพิสูจน์ได้ว่าทำกินในพื้นที่มาก่อน

ทั้งนี้ มีผู้ร่วมลงนามสนับสนุนนางแสงเดือน ผ่านเพจเฟซบุ๊กของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ 271 คน และเนื่องจากคดีความยังไม่สิ้นสุด สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ในนามสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จึงมีการเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อนางแสงเดือนและเหยื่อทวงคืนผืนป่าทุกกรณี

แถลงการณ์ฯ รัฐต้องคืนความเป็นธรรมและเยียวยา

แถลงการณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

กรณีนางแสงเดือนโดนคดี “ทวงคืนผืนป่า” รัฐต้องคืนความเป็นธรรมและต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ตามที่นางแสงเดือน ตินยอด หรือ นางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง เข้าแจ้งดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ เก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมสภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต” นับตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 อันเป็นผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. แม้นางแสงเดือนจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่บุกรุกและเป็นผู้ยากไร้ แต่ก็ยังถูกดำเนินคดีทำให้ได้ความทุกข์อย่างหนักนั้น

สหพันธ์เกษตรกรกรเหนือ (สกน.) เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นรังแกคนยากจน รัฐไม่รับข้อฟังเท็จจจริงที่ปรากฏในพื้นที่ เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อันส่งผลให้ผู้หญิงคนจนคนหนึ่ง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งด้านเศรษฐกิจที่ต้องเป็นหนี้และขาดรายได้จากสวนยางตั้งแต่ปี 2556 นับเป็นค่าเสียโอกาสจำนวนมาก อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อจิตใจของนางแสงเดือนและครอบครัว ถึงขั้นต้องหย่าร้าง กล่าวได้ว่า นโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกาศว่า ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าให้คนทั้งประเทศ โดยจะไม่ให้กระทบต่อคนจนผู้ยากไร้นั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เห็นได้จากการตั้งแต่เริ่มต้นมีนโยบายทวงคืนผืนป่าเมื่อปี 2557 มีการแจ้งคดีบุกรุกป่าไม่ต่ำกว่า 46,000 คดี โดยไม่มีครั้งใดเลยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจำแนกตัวเลขว่า มีนายทุนถูกดำเนินคดีเท่าไร เพราะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประจักษ์ชัดแล้วว่ามีแต่คนจนผู้ยากไร้และไม่มีที่ทำกินเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว โดยที่พื้นที่ป่าก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก

กรณีนางแสงเดือน ตินยอด หรือ นางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ซึ่งได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการอำนวยความยุติธรรมจนถึงที่สุด ดังที่คนไทยคนหนึ่งพึงจะได้รับ และจะเป็นบทพิสูจน์ว่า รัฐมองเห็นคนจนเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนคนไทยที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันจริงหรือไม่ การทำลายชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำกินโดยสุจริตหวังสร้างอนาคตที่ดีให้ครอบครัวจนชีวิตเกือบล่มสลายรัฐจะเยียวยาเธออย่างไร

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)” และประชาชนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนการต่อสู้ของนางแสงเดือน ตินยอด หรือ นางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ขอประกาศ ณ ที่แห่งนี้ว่า เราคนจนทั้งผองจะไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง และให้ความลำเอียงแห่งรัฐมาทำร้ายเราอีกต่อไป เราพร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้กับนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังเช่นกรณีนางแสงเดือน ฯ ได้แสดงให้ประชาชนทั้งหลายได้ประจักษ์แล้วว่า นโยบายทวงคืนผืนป่า มีไว้เพื่อรังแกคนจน เอื้อนายทุนและนักการเมืองอย่างชัดเจน เราจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องและสร้างบรรทัดฐานในสังคมที่เป็นธรรม และไม่ให้เกิดการดำเนินการสองมาตรฐานกับประชาชนในสังคมไทยอีกต่อไป

เชื่อมั่นและศรัทธาในพลังประชาชน
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)
ณ หน้าศาลจังหวัดลำปาง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทียบคำพิพากษาคดีทับลาน-ฟาร์มไก่ "ปารีณา"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง