LGBTQ ยื่นหนังสือถึง กมธ. แก้กฎหมาย เปิดทางสมรสเท่าเทียม

สังคม
18 ธ.ค. 62
18:30
1,193
Logo Thai PBS
LGBTQ ยื่นหนังสือถึง กมธ. แก้กฎหมาย เปิดทางสมรสเท่าเทียม
เครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยื่นหนังสือ ขอผลักดันสมรสเท่าเทียม เหตุเงื่อนไขการสมรสจะทำได้เมื่อชายหญิงอายุ 17 ปี จำกัดสิทธิทางแพ่งของกลุ่ม LGBTQ "ปธ.กมธ.กิจการเด็กฯ" ชี้ พร้อมดูแลเรื่องกฎหมายไม่เลือกปฏิบัติ แม้เป็นเรื่องยาก แต่เป็นมิติใหม่ในสภาฯ

วันนี้ (18 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เสนอตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการแก้ไข ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 

เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ ผู้ประสานงานนักกิจกรรมและองค์กรความหลากหลายทางเพศประเทศไทย กล่าวว่า ในหนังสือฉบับนี้ ได้เสนอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เรื่องเงื่อนไขการสมรส และถ้อยคำในมาตราดังกล่าว ให้เป็นเป็นกลางทางเพศมากขึ้น โดยให้เปลี่ยนคำว่าชายและหญิงเป็นบุคคล 2 คน สามีภรรยาเปลี่ยนเป็นคู่สมรส บิดามารดาเปลี่ยนเป็นบุพการี เพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิและความเสมอภาคที่เท่าเทียมกัน

ด้าน มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ ชี้แจงว่า พร้อมที่จะดูแลด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะเรื่องคู่สมรสของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ในทุก ๆ เรื่องของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมยอมรับว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 จะเป็นมิติใหม่ในสภาฯ แต่เชื่อว่าจะเป็นทิศทางที่ทำให้สังคมอยู่กันอย่างเท่าเทียม

เงื่อนไขสมรส จำกัดสิทธิทางแพ่งของ LGBTQ

ที่ผ่านมา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีเงื่อนไขถึงการสมรสในมาตรา 1448 ว่าการสมรสจะทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหวงห้ามต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มิได้ให้เข้าถึงสิทธิการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

แม้จะมีความพยายามในการร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต แต่ก็ยังจำกัดสิทธิบางอย่าง ต่อคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 จึงเป็นทางออกที่เครือข่ายผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มองว่า จะช่วยขจัดการเลือกปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง