นายกฯ รับวิกฤตภัยแล้งหนัก แนะ "อพยพคนออกจากป่า" เพื่อรักษาต้นน้ำ

การเมือง
19 มิ.ย. 58
16:08
569
Logo Thai PBS
นายกฯ รับวิกฤตภัยแล้งหนัก แนะ "อพยพคนออกจากป่า" เพื่อรักษาต้นน้ำ

รายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" วันนี้ (19 มิ.ย.2558) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องปัญหาภัยแล้งซึ่งนายกรัฐมนตรีมองว่าเกิดจากหลายสาเหตุทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตัดไม้ทำลายป่า การปลูกพืชที่ใช้น้ำมากในฤดูกาลที่ผ่านมา ชี้้ต้องอพยพคนออกจากป่าเพื่อรักษาป่าต้นน้ำ พร้อมกับเสนอให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเกษตรจากการเพาะปลูกพืชที่ทใช้น้ำมากมาประกอบอาชีพอื่นเสริม เช่น เลี้ยงจิ้งหรีด เพาะไส้เดือน ปลูกตะบองเพชร

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นายกฯ ได้ย้ำให้เกษตรกรชะลอการทำนาปีและงดทำนาปรัง และขอให้เปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทำประมง ปศุสัตว์หรือปลูกพืชทดแทนการปลูกข้าวและปลูกยาง
 
"ต้องช่วยตัวเองบ้างนะครับ เราก็พยายามที่จะทำในภาพรวมให้ได้ แต่ปัจจัยสำคัญคือน้ำต้นทุน มันไม่มี ไม่มีเพราะว่าน้อยอยู่แล้วเดิม แล้วฝนก็ไม่ตก ตกล่าไปนี่จะทำยังไง ถ้าปลูกไปแล้ว ปัญหามีอยู่คือจะขาดตอนตรงกลาง ก็ตายอยู่ดี เพราะอย่างนั้นขอให้ชะลอไปก่อนในครอปที่ 1 นี่นะครับ เดี๋ยวรัฐจะดูแล กำลังพิจารณาอยู่ สัปดาห์หน้านะครับ ในเรืองของการเลี้ยงเพาะอย่างอื่น เพาะจิ้งหรีด เพาะสัตว์ที่รับประทานได้นะครับ เป็นโปรตีน อะไรต่างๆ เหล่านี้ รวมความไปถึงการเลี้ยงไส้เดือนขาย ก็จะได้ช่วยในการเพิ่มรายได้ แล้วก็ใช้ในการปรับปรุงดินให้มากขึ้นนะครับ ดินเราก็ค่อนข้างจะเสียไปเยอะพอสมควรเหมือนกัน"

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าการตัดไม้ทำลายป่าและการทำลายป่าต้นน้ำเป็นสาเหตุหลักของวิกฤติภัยแล้ง ซึ่งตนเห็นว่าจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูป่าอย่างเร่งด่วน รวมทั้งการอพยพออกจากพื้นที่ป่า

"ปีนี้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่องนะครับ สาเหตุก็อาจจะเนื่องมาจาก เรื่อง climate change เรื่องสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงนะครับ แล้วสองก็คือเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งส่งผลให้น้ำต้นทุนที่เรามีอยู่แล้วเดิมน้อยอยู่แล้วนี่น้อยลงอีก วันนี้ก็จะเห็นว่าทุกเขื่อน ทุกคลอง ทุกแม่น้ำ น้ำก็แห้งขอดไปหมดแล้ว ปีที่แล้วพี่น้องก็เพาะปลูกพืชกันมากนะทำให้น้ำต้นทุนลดลงไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่จะต้องเป็นบทเรียน"

"เราใช้เวลามามากมายแล้วในการทำลายป่านี่ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่สามารถจะแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น ต้องขอให้ทุกคนช่วยกันปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำหรืออพยพออกมาจากพื้นที่ต้นน้ำซะ ก็จะดีขึ้นนะครับ ป่าอย่างไรก็ตามถ้าเราไม่ไปยุ่งกับเขามากๆ นี่เดี๋ยวเขาก็โตขึ้นมาเอง จากวันนี้ปัญหาคือน้ำไม่มีเข้าไปอีก มันก็โตเองไม่ได้เหมือนกัน ก็ต้องดูแลนะครับ" นายกฯ กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค เช่น การดึงน้ำจากแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขง ซึ่งรัฐบาลกำลังทบทวนโครงการ แต่โครงการเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณสูง นอกจากนี้ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันพิจารณาหาข้อมูลว่าจะนำน้ำจากแหล่งต่างๆ มาใช้ได้อย่างไร
 
"รัฐบาลกำลังพยายามหามาตรการ ในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อยากจะให้ทุกคนได้เข้าใจว่าอันนี้แหละเป็นสิ่งที่ธรรมชาติเริ่มลงโทษเราแล้ว จากการที่เราตัดไม้ทำลายป่ากันมากเกินไป ทำให้แผ่นดินขาดความชุ่มชื้น ในพื้นที่เหนือเขื่อน พื้นที่เหนือลุ่มน้ำ ทำให้ไม่เกิดเมฆฝน และฝนไม่ตกลงมาในพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่ชลประทาน"

"ที่สำคัญทีสุดคือการผลักดันน้ำเค็มที่กำลังรุกเข้ามาในแผ่นดินมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะน้ำต้นทุนน้อยก็ไม่สามารถจะผลักน้ำเค็มออกไปได้มากนัก น้ำค่อยๆ ล้ำเข้ามาเรื่อยๆ แต่ละปีๆ วันหน้าถ้าเข้ามาตรงกลางประเทศ ทีนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ดินก็เสียหมด ต้นไม้ก็เสียหมด วันหน้าก็เป็นทะเลทราย"

"รัฐบาลวันนี้ก็ใช้เงินไปมากพอสมควรนะครับ ในเรื่องการดูแลพวกท่านมานี่แหละ หลายๆ เรื่องก็ต้องมีการลงทุนใหม่บ้าง ก็ฝากขอความร่วมมือกับท่านด้วยนะครับ พี่น้องเกษตรกรทุกคน ผมรักท่านอยู่แล้ว ห่วงใยท่านอยู่แล้ว ที่เข้ามายืนทุกวันนี้ก็เพื่อท่านนั่นแหละ เพราะฉะนั้นอย่ามาโต้แย้งหรือมาขัดแย้งอะไรกับผมเลยนะ ไม่เป็นประโยชน์นะครับ รัฐบาลก็พยายามจะแก้ไขปัญหาในภาพรวมนะครับ"
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง