ต้องแลก "เท่าไหร่" กว่าจะได้ขับ (รถขยะ)

Logo Thai PBS
ต้องแลก "เท่าไหร่" กว่าจะได้ขับ (รถขยะ)
เรื่องเล่าจากกองขยะ ฝันอยากเป็น "คนขับรถขยะ" อาจต้องเสียใต้โต๊ะเฉียด 7 หมื่นบาท แลกกับเส้นสายและการแข่งขันเพื่อให้มีอาชีพที่มั่นคง

ไม่คิดว่า "รถขยะ" จะเป็นอาชีพที่ต้องแย่งชิงแข่งขันกว่าจะได้กุมพวงมาลัย

เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคำพูดจากคนวงใน ว่า ความฝันสูงสุดของคนเก็บขยะ คือ การได้เลื่อนขั้นเป็น "คนขับ" รถขยะ

อาชีพที่ว่าจึงไม่ธรรมดา เพราะถึงขั้นใช้คำว่า "ความฝันอันสูงสุด" ที่สำคัญค่าวิ่งเต้นเพื่อจะได้ตำแหน่งก็สูงลิ่วเฉียด 50,000 –70,000 บาท

อาชีพที่ว่าหาคนทำยากจากสายตาเรา ใครจะรู้ว่าสายตาเขาอาจเห็นเป็นทองคำ!

ทีแรกได้ยิน อดคิดไม่ได้ว่าเป็นราคาค่าโอ่-อวดอ้างเกินจริง แต่พอฟัง "แหล่งข่าว" เล่าว่า... จึงรู้ค่าของอาชีพนี้

ปูพื้นเรื่องขยะ ต้องรู้ก่อนว่า กทม. เมืองใหญ่แสนศิวิไลซ์ มีบ่อขยะใหญ่ 4 แห่งดั้งเดิม และกองมหึมามหาขยะมี 2 จุด คือ "หนองแขม" และ "อ่อนนุช"

ส่วนเรื่องวิ่งเต้นเฉียด 70,000 บาท จะอยู่โซนไหนไม่ขอชี้เป้าเพราะเรื่องแบบนี้เป็นลักษณะ "จำยอม"

ยอมจ่ายทั้งที่จน และจนจำต้องจ่าย เพราะอยากได้ชีวิตที่ดีขึ้น แต่สมควรหรือที่พวกเขาต้องจ่าย ก็อย่างว่าช่องว่างของรายได้ มักถูกถ่างให้กว่างขึ้น เพราะ "ความจน"

70,000 บาท ที่ว่าจ่ายตอนไหนไปดูกัน...

การสมัครเป็น "คนขับ" รถขยะ ไม่ได้ซับซ้อน เปิดสมัคร-รับสมัคร-สอบ หลายคนเลือกขยับทีละขั้น เป็นลูกน้องเก็บขยะก่อนและค่อยสอบเลื่อนขั้น

ทว่าแต่ละขั้นของการสอบนี่แหละ ที่ต้องจ่ายเป็นขั้นๆ รวมแล้วถึงหลักหมื่น

แม้คุณสมบัติพื้นฐานจะเป็นเรื่องง่าย มีใบขับขี่-มีประสบการณ์ ที่สำคัญคือเส้นสาย และ "ส่วย" ก็เกิดขึ้นในขั้นตอนนี้ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นพวกเขาจึงยอมจ่าย

ชีวิตที่ดีขึ้นจาก "คนขับ" เป็นไปได้ เพราะการเป็นลูกจ้าง กทม. คิดจากเงินเดือน-เบี้ยหวัด ตีเป็นเลขกลมๆ ราว 10,000 บาทต่อเดือน ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าก่อนได้บรรจุพนักงานประจำอาจได้ถึง 20,000 บาทต่อเดือน และยังได้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียนลูกหลานด้วย

ไม่ใช่แค่เงินเดือน แต่ก่อนหน้าที่ราคาขยะยังไม่ตกต่ำเหมือนปีนี้ "คนขับ" อาจได้เงินเพิ่มวันละหลายร้อยบาท จาก "ค่าสินค้า"
ใช้เรียกค่าหัวคิวจากขยะที่ลูกน้องคัดแยกแล้วนำไปขาย แม้วันนี้จะราคาตกแต่ยังได้อยู่วันละ 200-300 บาท

หรือวันไหนโชคดีเก็บได้ "ของชำร่วย" ชื่อเรียกสินค้าจำพวกของที่ระลึก หรือ ของขวัญ ที่ขายตามร้านกิ๊ฟช็อป เก็บล้างแล้วนำไปขายสนามหลวงก็ได้เงินเหมือนกัน

เท่านี้ ค่าวิ่งเต้นที่ต้องจ่ายในแต่ละขั้นตอน 5 หมื่น – 7 หมื่นบาท คิดแล้วจึงคุ้ม

ไม่ใช่เฉพาะลูกพี่ "คนขับ" ที่ต้องจ่าย "ลูกน้อง" คนเก็บขยะท้ายรถก็ต้องจ่ายฝ่ายขั้นตอนต่างๆ ข้างต้นเช่นกัน เฉลี่ยประมาณ 30,000 บาท เช่นกัน

วันที่ถึงกองขยะ จึงรู้ว่าไม่ใช่แค่ขยะที่อยู่ในกอง บางคนเห็นค่าเป็นทอง บางคนเห็นโอกาส และบางคน "ฉวยโอกาส"
เป็นนายหน้าเรียกค่าหัวคิวจากคนตัวเล็กตัวน้อย และคนเหล่านั้นก็อยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ ชื่อ "กรุงเทพฯ"

เรื่องนี้ถึงที่สุดไม่รู้จะโทษใคร นอกจาก "ระบบ" ถ้ามีระบบที่เป็นธรรม นึกถึงคนในพื้นที่ และคนที่มีประสบการณ์การกับ "ขยะ" อย่างคนที่เคยเก็บ เคยคัด เคยจัดการขยะ

เรื่องส่วย เรื่องวิ่งเต้น เรื่องค่าต๋ง คงไม่เกิด

เรื่องแบบนี้ทั้งหน่วยงานและชาวบ้านรู้อยู่เต็มอก นอกจาก "ปากคำ" คนให้การของแหล่งข่าว เรื่องพวกนี้จัดว่าอยู่ในหมวด "รู้ๆกัน" ของชาวบ้าน

จะหา "ใบเสร็จ" จากที่ไหนเล่าในกองขยะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง