ชัดเจน! เผยคลิปเสือโคร่งล่ากระทิงในป่าแม่วงก์

สิ่งแวดล้อม
23 ธ.ค. 62
19:20
2,964
Logo Thai PBS
ชัดเจน! เผยคลิปเสือโคร่งล่ากระทิงในป่าแม่วงก์
กรมอุทยานฯ เผยแพร่คลิปจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าของ WWF ยืนยันว่า "เสือโคร่ง" เป็นผู้ล่ากระทิงตัวเต็มวัยที่พบนอนตายใกล้แคมป์แม่กระสา ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

วันนี้ (23 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยแพร่คลิป "เสือโคร่ง" ที่อยู่ใกล้กับซากกระทิง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งเป็นคลิปที่ถ่ายได้จากกล้องดักถ่ายที่ WWF นำไปติดตั้งไว้รอบซากกระทิง เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึก หลังจากวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายกิติพัฒน์ ธาราภิบาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ได้รายงานว่าพบซากกระทิงเพศเมีย ตัวเต็มวัย นอนตายอยู่บริเวณใกล้ร่องน้ำด้านขวา ก่อนขึ้นมอมะค่า ทางไปแคมป์แม่กระสา ห่างจากเส้นทางเดินรถประมาณ 50 เมตร

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วลงความเห็นว่า สาเหตุการตายเพราะถูกล่าจากเสือโคร่ง เนื่องจากพบร่อยรอยบาดแผลเป็นรอยเขี้ยวบริเวณคอ พบรอยกรงเล็บบริเวณลำตัว พบรอยแทะบริเวณลำตัวด้านท้าย และพบรอยตีนเสือโคร่งขนาดใหญ่บริเวณร่องน้ำ กระทั่งเมื่อตอนสายวันนี้ (23 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่ได้เปิดกล้องที่ดักถ่ายไว้ ซึ่งได้ภาพและคลิปชัดเจนว่ากระทิงถูกล่าโดยเสือ

ทีมนักวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนักวิจัยของ WWF ตรวจสอบพบว่าเสือโคร่งตัวที่เห็นในคลิปวิดีโอ ซึ่งกำลังกินซากกระทิง คือเสือโคร่ง HKT 204 หรือ MKM8 เพศผู้ ตัวโตเต็มวัย กำลังเข้าสู่โตเต็มวัยช่วงปลาย ซึ่งจากฐานข้อมูลเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ พบว่าเสือโคร่งตัวนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นลูกของเสือโคร่ง HKT 165 เคยถ่ายภาพครั้งแรกได้เมื่อปี 2556 ต่อมาได้เดินทางมาตั้งถิ่นอาศัยในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยสามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

จากเหตุการณ์ที่พบเสือล่ากระทิงในครั้งนี้ ถือว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญในการใช้เป็นพื้นที่รองรับการกระจายของเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเสือโคร่งที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณและสัตว์ป่าสูง จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมยิ่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือโคร่ง

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะหารือวางแผนจับเสือโคร่งตัวนี้ใส่ปลอกคอติดวิทยุประจำตัว เพื่อเก็บข้อมูลระยะยาวของเสือโคร่งในระดับผืนป่า ให้สามารถติดตามประชากรเสือโคร่งได้อย่างแม่นยำและต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ประกอบการวางแผนและจัดการเพื่ออนุรักษ์ให้ได้อย่างประสิทธิภาพตามหลักวิชาการต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง