พนักงานยื่น 3 ข้อเรียกร้อง หลัง รง.ปิดกิจการไม่จ่ายเงินชดเชย

เศรษฐกิจ
24 ธ.ค. 62
11:49
12,098
Logo Thai PBS
พนักงานยื่น 3 ข้อเรียกร้อง หลัง รง.ปิดกิจการไม่จ่ายเงินชดเชย
พนักงานโรงงานอะไหล่รถยนต์ นิคมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ขอความเป็นธรรม หลังโรงงานปิดกิจการโดยไม่จ่ายเงินชดเชย อ้างขาดทุนสะสม

วันนี้ ( 24 ธ.ค.2562) จากกรณีปรากฎภาพพนักงาน บริษัท เซอิชิน จำกัด ซึ่งประกอบกิจการด้านอะไหล่รถยนต์ ในนิคมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ชุมนุมเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชย หลังบริษัทประกาศปิดกิจการโดยไม่จ่ายเงินชดเชย ล่าสุดทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามไปยังพนักงานบริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยระบุว่า บริษัทแจ้งว่าขาดทุนสะสมมาหลายเดือนจึงต้องปิดสาขาที่ จ.ชลบุรี 

 

วันเพ็ญ แซ่ตั๊น ตัวแทนพนักงานฝ่ายผลิตโรงงานระบุว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน ก.ย. - พ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทให้ทำงานวันจันทร์ - ศุกร์ หยุดวันเสาร์ - อาทิตย์ โดยจ่ายเงินเดือน 75 % และในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาฝ่ายกฎหมายได้เข้ามาพูดคุยกับพนักงาน โดยระบุว่าจะจ่ายเงินชดเชย 3 เดือนแต่ให้เขียนใบลาออกซึ่งพนักงานไม่ยินยอม โดยได้นัดหารือกันอีกครั้งในวันที่ 29 พ.ย.2562 ที่ผ่านมาจนกระทั่งวันที่ 20 ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา พนักงานทั้งหมดได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายและได้รับแจ้งว่าไม่ต้องมาทำงานแล้ว ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากผู้บริหาร

 

บริษัทแจ้งว่าขาดทุนสะสมมาตั้งแต่เดือน มี.ค.และจ่ายเงินเดือน 75 % ซึ่งพนักงานก็มีทั้งที่ยอมรับและไม่ยอมรับ แต่บริษัทก็จ่ายเพียง 75 % เพราะที่ผ่านมาในปี 2552 เคยผ่านวิกฤตเช่นนี้มาแล้ว โดยให้ทำงานสัปดาห์เว้นสัปดาห์ และจ่ายเงินเดือน 75 % ซึ่งครั้งนี้เราก็ช่วยกันเพราะอยู่กันอย่างพี่น้อง เพราะมีเงินเดือน มีงานทำก็โอเค

วันเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้พนักงานทั้งหมด 50 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย 2.จ่ายเงินเดือนที่หักไปในช่วงก่อนหน้านี้เดือนละ 25 % และ 3.จ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ไม่ได้ลาพักร้อนตามจำนวนวันที่ไม่ได้ใช้สิทธิลาพักร้อน ซึ่งพนักงานขณะนี้เป็นชาย 11 คน ผู้หญิง 39 คน อายุงานตั้งแต่ 2 - 18 ปี โดยมีพนักงานที่ตั้งครรภ์ 2 คน เป็นผู้พิการ 2 คน และพนักงานที่รอเกษียณ 3 คน ซึ่งเงินเดือนงวดสุดท้ายที่ได้รับคือวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งได้ใช้จ่ายไปกับค่าที่พัก ค่าเล่าเรียนบุตรไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอคำตอบจากผู้บริหารบริษัทในการจ่ายเงินชดเชย

 

นอกจากนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรงแรงงาน ได้เข้าพูดคุยกับพนักงานโรงงานดังกล่าวที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย รวมถึงประสานไปยังนายจ้างครั้งแรกแล้ว ซึ่งหากยังไม่สามารถติดต่อได้อาจจะต้องส่งฟ้องศาลแรงงานต่อไป

ตอนนี้พนักงานยังคงปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าโรงงานเพื่อรอฟังคำตอบจากผู้บริหาร โดยช่วยกันทำอาหารและดูแลกัน แต่ในโรงงานก็มีเพียง ผู้จัดการโรงงานที่ไม่สามารถให้คำตอบได้ ซึ่งครั้งล่าสุดผู้บริหารชาวญี่ปุ่นมาจ่ายเงินเดือนจากนั้นก็ไม่ได้พบปะหรือพูดคุยกันอีก

ด้านนายมานพ พันธุ์วร สภาเทศบาลดอนหัวฬ่อ จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งจากลูกบ้านซึ่งทำงานที่บริษัทดังกล่าว เบื้องต้นได้เข้ามาดูและรักษาาความปลอดภัย ให้กับพนักงานที่ชุมนุมเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย ซึ่งลูกจ้างเหล่านี้ต้องการเพียงเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายเท่านั้น ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่ามีลูกจ้างประมาณ 50 คน แต่ล่าสุดก็ยังไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง