ลดความเสี่ยง! นักวิจัยพัฒนาแอปพลิเคชันตรวจ "เห็ดพิษ"

Logo Thai PBS
ลดความเสี่ยง! นักวิจัยพัฒนาแอปพลิเคชันตรวจ "เห็ดพิษ"
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พัฒนาตัวช่วย Application Mushroom Image Matching ช่วยสแกนตรวจสอบชนิดเห็ดพิษ - เห็ดกินได้ ช่วยลดความเสี่ยงคนกินเห็ดพิษตาย หลังพบปีนี้มีรายงานคนป่วยจากการกินเห็ดพิษ 1,176 คน เสียชีวิต 3 คน โดยใช้งานผ่านมือถือ

วันนี้ (24 ธ.ค.2562) รศ.ขวัญเรือน นาคสุวรรณ์กุล ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) กล่าวว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือ "การจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ในประเทศไทย และการพัฒนา Application Mushroom Image Matching"

ล่าสุดการพัฒนาโปรแกรม Application Mushroom Image Matching ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานแล้ว โดยได้รวบรวมภาพถ่ายของเห็ดทั้งเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ กลุ่มละ 1,000 ภาพ เก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อใช้ประมวลผลด้วยโปรแกรมจดจำรูปภาพ และแสดงผลชนิดของเห็ดด้วยชื่อและร้อยละของความถูกต้อง

ปีนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษที่มาจากป่าธรรมชาติมากถึง 1,176 คน และเสียชีวิต 3 คน

 

โดยเห็ดที่มีรายงานการเกิดเหตุ ได้แก่ เห็ดหมวกจีน เห็ดถ่านเลือด เห็ดระโงกพิษ และเห็ดคันร่ม ซึ่งเห็ดพิษเหล่านี้มีลักษณะรูปร่างหน้าตา คล้ายกับเห็ดรับประทานได้ เช่น เห็ดหมวกจีนคล้ายกับเห็ดปลวก หรือเห็ดโคน เห็ดถ่านเลือดคล้ายกับเห็ดถ่านใหญ่ เห็ดระโงกพิษคล้ายกับเห็ดระโงกขาวกินได้ เห็ดคันร่มพิษคล้ายกับเห็ดปลวกไก่น้อย เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษคล้ายกับเห็ดนกยูงกินได้ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิด และเก็บมารับประทานจึงได้รับสารพิษเข้าไป

งานวิจัยนี้ป้องกันความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเก็บเห็ดพิษมากิน ให้ชาวบ้านมีตัวช่วยใหม่ เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถแกนภาพเห็ด ตรวจสอบว่าเป็นเห็ดพิษ หรือเห็ดกินได้

สแกนเช็กผลเรียลไทม์

สำหรับการใช้งานโปรแกรมดังกล่าว ต้องดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งไว้บนโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟนแบบ Android  เท่านั้น โดยเข้าถึงแอปพลิเคชัน ได้ 2 ช่องทาง คือ 1.เลือกจาก Play store ค้นหาคำว่า “คัดแยกเห็ดไทย” และ 2.สแกน QR Code

จากนั้นจะลงทะเบียน และใช้งานโปรแกรม ด้วยการเปิดกล้อง และสแกนดอกเห็ดที่ต้องการทราบชนิด โปรแกรมจะเริ่มประมวลผลแบบเรียลไทม์ และจะหยุดเมื่อความถูกต้องของชนิดเท่ากับร้อยละ 95 หรือสามารถกดปุ่มเพื่อหยุดได้ นอกจากนี้โปรแกรมนี้ ยังสามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดจากภาพถ่ายที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือได้เช่นกัน

 

สำหรับแอปพลิเคชันนี้ ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น จำนวนชนิดของเห็ดที่อยู่ในฐานข้อมูล ปัจจุบันมีเพียง 14 กลุ่ม แต่เห็ดในธรรมชาติมีจำนวนมาก ในบางครั้งการสแกนเห็ดการประมวลผลอาจช้า และไม่ตรงตามกลุ่มของเห็ดนั้นๆ แอปพลิเคชันนี้ จึงเป็นเพียงเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ และเฝ้าระวังเห็ดพิษที่ได้จากป่า ผู้ใช้สามารถสืบค้นข้อมูลเห็ดแต่ละชนิดในโปรแกรม เพื่อดูรายละเอียดได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แค่ 5 เดือนกิน "เห็ดพิษ" เสียชีวิต 5 คน ป่วย 141 คน

เตือนกินเห็ดป่าช่วงฤดูฝน เสี่ยงอันตรายเจอเห็ดพิษ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง