โต้ทีม “ร.อ.ธรรมนัส” ใช้ยางค้างสต๊อกทำหมอนยางพาราไม่ได้

การเมือง
25 ธ.ค. 62
13:47
2,399
Logo Thai PBS
โต้ทีม “ร.อ.ธรรมนัส” ใช้ยางค้างสต๊อกทำหมอนยางพาราไม่ได้
แกนนำเครือข่ายชาวสวนยาง โต้ข้อมูลทีมงาน “ร.อ.ธรรมนัส” ยันใช้ยางในสต๊อกผลิตหมอนยางพาราไม่ได้ แนะภาครัฐช่วยซื้อน้ำยางสด-ดึงยางออกระบบ ช่วยกระตุ้นราคาได้จริง คาดใช้งบฯ อย่างต่ำแค่ 2.4 พันล้านบาท

กรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธรไชย หัวหน้าคณะทำงาน ร.อ.ธรรมนัส ออกมาชี้แจงรายละเอียดโครงการผลิตหมอนยางพาราประชารัฐ 1.8 หมื่นล้านบาท (วันที่ 24 ธ.ค.) โดยช่วงหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงว่า โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ราคายางดีขึ้น "อย่างน้อยก็เป็นแนวทางที่จะทำให้ราคายางดีขึ้น ไม่ใช่ 6 กิโลกรัม 100 บาท"

ขณะที่ พ.ต.อ.รวมนคร ชี้แจงรายละเอียดโครงการ โดยระบุว่าโครงการนี้จะเป็นการระบายสต๊อกยางพาราออกจากระบบ ประมาณ 1.5 แสนตันต่อปี ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั่วประเทศ

อ่านเพิ่ม ฟัง 2 มุม หนุน-ค้าน "หมอนยางพาราประชารัฐ" 1.8 หมื่นล้าน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้รับข้อมูลจาก นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ เครือข่ายชาวสวนยาง ว่าข้อมูลที่มีการนำเสนอนั้นคลาดเคลื่อน โดยระบุว่า ยางสต๊อกเก่าที่รัฐมีอยู่เป็นยางเกรดต่ำ ประมาณ 1.5 แสนตัน อาจเป็นยางแผ่นรมควัน ยางอัดก่อน หรือยางอัดแท่ง ซึ่งไม่สามารถนำกลับมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตหมอนยางพาราได้ เพราะหมอนยางพาราต้องใช้ "น้ำยางพารา" เป็นสารตั้งต้นในการผลิตหมอน ซึ่งอาจเป็น "น้ำยางสด" หรือ "น้ำยางข้น"

ทั้งนี้เรื่อง "สต๊อกยาง" เป็นเหมือนมะเร็งร้ายของชาวสวนยาง เพราะเป็นตัวกดราคายางช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลยังระบายไม่หมด และ กยท. ยังประกาศระบายเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ราคายางในตลาดตกต่อเนื่อง จากอดีตอยู่ที่ราว 90 บาท ตกลงมาถึง 30-40 บาทในปัจจุบัน ขณะที่ต้นทุนในการผลิตยางอยู่ที่ กก. ละ 65 บาท

ส่วนประเด็นที่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงราคายาง "6 กิโลกรัม 100 บาท" นั้น นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า น่าจะเป็นการพูดถึงยางก้อนถ้อย ไม่ใช่ราคาน้ำยางสดและเป็นคนละเรื่องกัน

ซื้อน้ำยางสด คาดใช้งบฯ อย่างน้อย 2.4 พันล้าน

นอกจากนี้ นายวีระศักดิ์ ยังวิเคราะห์ถึงแนวโน้มโครงการดังกล่าวหากเกิดขึ้น ทั้งส่วนที่เกษตกรจะได้ประโยชน์และไม่เกิดประโยชน์ โดยระบุว่า การผลิตหมอนยางพารา 1 ใบ ต้องใช้น้ำยางอย่างน้อย 2 กก. หากจะผลิต 30 ล้านใบ ต้องใช้น้ำยางอย่างน้อย 6 หมื่นตัน

หากรัฐบาลรับซื้อน้ำยางสดเพื่อนำมาทำหมอนยางพาราจริง จะเป็นการกระตุ้นการบริโภคที่ดี เพราะหากรับซื้อน้ำยางสดจากตลาด 6 หมี่นตัน จะเป็นการดึงน้ำยางออกจากตลาด และกระตุ้นราคาน้ำยางให้ดีขึ้น เพราะช่วงนี้ต้นทุนการผลิตยางอยู่ที่ประมาณ กก. ละ 65 บาท แต่ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 40 บาท (รัฐบาลอยู่ระหว่างการประกันราคา โดยจ่ายส่วนต่าง กว่า 20 บาท)

ดังนั้น หากรัฐบาลจะทำโครงการซื้อน้ำยางจากราคาขายตอนนี้ ก็จะต้องใช้งบฯ อย่างน้อย 2,400 ล้านบาท ทั้งหมดนี้คือราคาวัตถุดิบหรือน้ำยางสด ไม่รวมดำเนินการอื่นๆ

ทั้งนี้ส่วนตัวกังวลเรื่องการบริหารโครงที่งบฯ อาจไปไม่ถึงเกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันสถาบันเกษตรกรที่ผลิตหมอนยาพาราได้ครั้งละมากๆ ยังมีจำนวนจำกัด ปัจจุบันที่พอพผลิตได้มีที่ จ.พัทลุง จ.ตรัง และจ.บึงกาฬ ถ้าผลิตหมอนยางพารา 30 ล้านใบ รัฐบาลคงต้องจ้างโรงงาน

ขณะที่ต้นทุนการผลิตเท่าที่สถาบันเกษตรกรเคยผลิตในช่วงแรกๆ ต่ำที่สุดอยู่ที่ประมาณใบละ 500 บาท แต่ถ้าเป็นโรงงานใหญ่ ผลิตครั้งละหลักพันใบ น่าจะลดลงมาได้ถึงใบละ 350 บาท ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของสถาบันเกษตรกรเพื่อให้งบฯส่วนนี้ถึงมือเกษตรกร

เรื่องยางเกษตรกรได้ แต่การผลิตเกษตรกรไม่ได้ ท่านจับมือผู้ผลิตรายใหญ่ ในเมื่อไม่ต้องผ่านกลไกเกษตกร

อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นด้วยหากภาครัฐจะช่วยซื้อน้ำยางสดและดึงยางออกจากตลาดด้วยการกระตุ้นการบริโภค เพราะจะกระตุ้นราคายางได้จริง ต่าอยากให้ส่งเสริมสถาบันเกษตกรให้เข้าถึงกระบวนการแปรรูปด้วย เพื่อให้งบฯ เหล่านี้ไม่รั่วไหลไปส่วนอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง