15 ปี สึนามิสู่การเปลี่ยนแปลงภัยพิบัติ

ภัยพิบัติ
26 ธ.ค. 62
18:22
5,144
Logo Thai PBS
15 ปี สึนามิสู่การเปลี่ยนแปลงภัยพิบัติ
วันนี้ เป็นวันครบรอบ 15 ปี สึนามิที่เกิดขึ้นในไทย ซึ่งสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล และยังมี 14 ประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียที่ได้รับผลกระทบ เสียชีวิตประมาณ 230,000 คน ขณะที่ชาวบ้านหลายคนใน จ.ภูเก็ต ที่รอดชีวิตยังคงหวาดกลัวเหตุการณ์ครั้งนั้น

วันนี้ (26 ธ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนไป 15 ปีก่อน สุรชาติ เล็มและ และชาวประมงในชุมชนคลองปากบางในหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต เล่าย้อนก่อนเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในปี 2547 ได้ออกมาขายปลาที่จับได้ตั้งแต่เช้าตามปกติ แต่เวลาประมาณ 9.30 น. คลื่นยักษ์สูง 3-6 เมตร ก็ปะทะเข้ากับหาดแห่งนี้ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย สุรชาติ จมอยู่ใต้น้ำ แต่เคราะห์ดีที่เพื่อนคว้าตัวเขาได้ทัน เมื่อเขาลอยขึ้นมาจากใต้น้ำ หลังรอดชีวิต เขาจึงชวนผู้รอดชีวิตคนอื่นไปช่วยนักท่องเที่ยวที่กำลังได้รับบาดเจ็บ

 

 

แม้จะผ่านมา 15 ปีแล้ว แต่สุรชาติยอมรับว่าเขายังคงหวาดกลัวว่าเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิอาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนของเขาอีกครั้ง เขาจึงเตรียมพร้อมตลอดเวลาด้วยกระเป๋าฉุกเฉิน หากต้องเผชิญกับภัยพิบัติอีกครั้ง เพราะชุมชนของเขายังคงตั้งอยู่ติดกับชายหาดป่าตอง

 

 

เปลี่ยนทุ่นเตือนภัยสึนามิ "ใกล้-ไกล"

 

พล.อ.อ.สมนึก สวัสดิ์ถึก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) เปิดเผยว่า หลังเหตุสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ได้รับผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตามมาด้วยการเกิดศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นครั้งแรกของไทยในปี 2548 นำไปสู่การพัฒนาระบบการเตือนภัยสึนามิในรูปแบบต่างๆ เช่น หอเตือนภัยพิบัติ อุปกรณ์สื่อสารที่หลากหลาย รวมถึงทุ่นเตือนภัยสึนามิระยะใกล้และไกล

 

 

ล่าสุด เพิ่งมีการเปลี่ยนใหม่ทั้ง 2 แบบ โดยทุ่นเตือนภัยสึนามิแบบระยะไกล ห่างจากฝั่ง 900 กิโลเมตร เมื่อส่งสัญญาณเตือน ประชาชนจะมีเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที สำหรับหนีขึ้นที่สูง และทุ่นเตือนภัยสึนามิระยะใกล้ ห่างจากฝั่ง 300 กิโลเมตร เมื่อส่งสัญญาณเตือนจะมีเวลาอพยพหนีขึ้นที่สูงประมาณ 30 นาที

 

 

พล.อ.อ.สมนึก กล่าวอีกว่า อุปกรณ์เตือนภัยสึนามิที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถใช้งานได้ร้อยละ 90 เพราะบางส่วนต้องมีการสับเปลี่ยนตามอายุการใช้งาน ซึ่งนอกจากเครื่องมือเพื่อรับมือกับภัยพิบัติแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความตื่นตัวของภาคประชาชนในพื้นที่ที่จะลุกขึ้นมารับมือกับภัยพิบัติ

 

 

วินัย ทองผาสุข ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กล่าวว่า กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา มีสถานีตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ สามารถคำนวณหาศูนย์กลางแผ่นดินไหว ขนาดแผ่นดินไหว และเวลาที่เกิดได้

ไทยติด 1 ใน 16 ปท. เสี่ยง "ภัยพิบัติ"

 

ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดอันดับ 11 ของโลก พื้นที่การเกษตรกว่าร้อยละ 60 เสี่ยงทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม รวมทั้งเป็น 1 ใน 16 ประเทศ ที่เสี่ยงสูงมากที่จะต้องประสบภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

 

เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย แนะนำว่าไทยควรมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งเป้าหมายหลัก 1 ใน 17 ข้อ คือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ร้องภาครัฐแก้กฎหมายรับมือภัยพิบัติ

 

ไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ กล่าวว่า สิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนเห็น หลัง 15 ปีเหตุการณ์สึนามิ คือชุมชนไหนที่สามารถเตรียมพร้อมตัวเอง จะสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ ภาคประชาชนจึงเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปี 2550 เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้และเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติ ผ่านร่างปฏิญญาอันดามัน

ชุมชนแลกเปลี่ยนข้อมูลรับมือภัยพิบัติ

 

สำหรับกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์สึนามิปีนี้ เครือข่ายภาคประชาชนเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนข้อมูล การรับมือกับภัยพิบัติของแต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปปรับใช้ เพราะการรับมือกับภัยพิบัติที่ยั่งยืน แต่ละชุมชนต้องสามารถเรียนรู้ที่จะจัดการกับภัยพิบัติด้วยตัวเองได้ รวมทั้งต้องพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาในอนาคต และสุดท้ายสามารถส่งต่อบทเรียนเพื่อนำไปสู่การเป็นพี่เลี้ยงจัดการภัยพิบัติให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง