"ตรรกะวิบัติ" เรื่องสารเคมีเกษตร

Logo Thai PBS
"ตรรกะวิบัติ" เรื่องสารเคมีเกษตร
การแบนสารเคมีเกษตร นับเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของปี แต่เมื่อต้องกลับมาทบทวนมติกันใหม่ทำให้ปี 2563 การถกเถียงอย่างกว้างขวางจะก่อประโยชน์ให้กับประชาชนก่อนตัดสินใจจะเชื่อหรือไม่เชื่อข้อมูลใด ๆ

การแบนสารเคมีเกษตร นับเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของปี แต่เมื่อต้องกลับมาทบทวนมติกันใหม่ ทำให้ปี 2563 น่าจะยังได้เห็นการต่อสู้ทางความคิด ข้อมูลจากหลายฟากฝั่ง เพื่อผลักดันผลไปตามที่ต้องการ การถกเถียงอย่างกว้างขวางจะก่อประโยชน์ให้กับประชาชนผู้รับสาร หากจะได้เรียนรู้ และใช้ตรรกะพิจารณา ก่อนตัดสินใจจะเชื่อหรือไม่เชื่อข้อมูลใด ๆ

พักยกชั่วคราวแต่ไม่ตลอดไป โดยเฉพาะครึ่งปีแรกของปี 2563 การต่อสู้ด้วยข้อมูล ชุดความคิด วาทกรรมต่างๆ ยังเข้มข้น เพื่อผลักดันทิศทางของสารเคมีเกษตรในประเทศไทย ให้เป็นไปตามที่ต้องการ

ย้ำอีกครั้งกับการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย 27 พ.ย.2562 ซึ่งประธานอย่าง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แถลงว่าที่ประชุมได้ข้อสรุปเลื่อนการแบนพาราควอต (ยาฆ่าหญ้า) และคลอร์ไพริฟอส (ยาฆ่าแมลง) ออกไปถึงเดือน มิ.ย.2563 รวมถึงให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซต (ยาฆ่าหญ้า)

พร้อมให้กรมวิชาการเกษตรไปหามาตรการทดแทนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสที่จะยกเลิกใช้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการในนัดต่อไป

ไม่ใช่ครั้งแรกที่กรมวิชาการเกษตร ต้องรับงานนี้กลับไปดำเนินการ ในฐานะผู้ถือข้อมูลสำคัญ ก่อนจะกลับมามือเปล่า ไม่มีมาตรการใดๆ มาทดแทนด้วยต้นทุนและประสิทธิภาพที่ทัดเทียม

ซึ่งหากยังเดินหน้าต่อ พืชผักจะมีราคาสูงขึ้นไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้อีก

ประเด็นเรื่องพืชผักนำเข้ายังประจักษ์กับตา รมช.เกษตรฯ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” เมื่อได้เห็นสินค้าผ่านพรมแดนภาคเหนือ และส่งตรงสู่ตลาดขนาดใหญ่ทางภาคกลางได้ภายในวันเดียว

ยังมีมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า ถึงการแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิด เมื่อ 22 ต.ค.ทำให้ทุกองคาพยพต้องถอยกลับไปตั้งหลักใหม่

ความจริงในมิติการค้าขายระหว่างประเทศ แทบทลายความฝันของ “มาดามแบนเก้อ” จะผลักดันเครื่องจักรมือ 2 และชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช รวมถึงเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนของบรรดาเครือข่ายเกษตรออนไลน์

“อนุทิน ชาญวีรกูล” หนึ่งในหัวหอกทีม “แบน” ยอมรับการตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่ย้ำจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขที่กำกับดูแล ว่าต้องรักษาประโยชน์ของประชาชนในมิติด้านสุขภาพเป็นหลัก สื่อความหมายว่ายังพร้อมสู้ต่อ เดินหน้าแบนสารเคมีเกษตรให้ได้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020” เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. กรณีปัญหาแบน 3 สารพิษ ว่าทำอย่างไรจะแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ใช่แค่ห้าม หรือเลิก เพราะมีคนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น อย่าไปมองอย่างเดียวว่ามีผู้ได้รับผลประโยชน์ ตัวเองไม่สนใจว่าใครจะได้รับผลประโยชน์ แต่สนใจว่าประชาชนจะก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร สุขภาพก็ต้องการ แต่จะหาวิธีการได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่จะต้องช่วยกันทำต่อไป

ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยก็เลิกให้หมด เสร็จแล้วก็จะอยู่บนถนนกันนี่แหละ ดังนั้นแก้ให้ได้สิครับ หาสารทดแทนให้ได้ และบอกว่ามันแทนได้จริงและราคาถูกลงจริง ต้องแก้ให้ได้ มึนอึมครึมแบบนี้มันลำบากนะ ผมไม่อยากจะขัดแย้งนะ ผมอยากให้เลิก แต่จะเลิกยังไงมันไม่มีปัญหา อย่าสร้างปัญหาให้ผมมากนักก็แล้วกัน

นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในงานเสวนาของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย วันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยอธิบายการเคลื่อนไหวที่สร้างสารเคมีให้กลายเป็นปีศาจ ด้วยกลยุทธ์การสื่อสาร 2 ประการ คือ ใช้เทคนิคเหมาเข่ง เช่น “ผักปลอดสารพิษไม่มีจริง” แต่ไม่บอกว่าสารนั้นคืออะไร ทำให้ผู้คนคิดตามว่าผักทุกชนิดล้วนมีอันตราย ล้างเท่าไหร่ก็ไม่สะอาด พร้อมยกตัวอย่างผักคะน้า ที่ถูกโจมตีอย่างหนักมาเป็นระยะ


ประการที่ 2 ใช้ความจริงครึ่งเดียว โดยเฉพาะข้อมูลทางสถิติ อินโฟกราฟิก วาดภาพให้ผู้อ่านเข้าใจตามที่ผู้ผลิตต้องการ

ทั้งที่ญี่ปุ่นก็ใช้สารเคมีเกษตรมากกว่าไทย แต่เพราะเป็นประเทศที่คนเชื่อว่ามีมาตรฐานสูง รับผิดชอบชีวิตประชาชน เขาจึงไม่ใส่ญี่ปุ่นเข้ามาในสถิตินี้ 

อ.เจษฎา ยังบอกด้วยว่า หลังเริ่มให้ข้อมูลทางวิทยาศาตร์เกี่ยวกับสารเคมีเกษตร ทำให้คนฉุกคิดมากขึ้น แม้แต่นักการเมืองพรรคหนึ่งก็โทรศัพท์มาพูดคุยว่าถูก “อีกพรรค” เล่นงานเข้าแล้ว


สิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย สหวิทยาการบนโลกใบนี้กว้างไกล ศาสตร์แห่งพืชผักต้นไม้ใบหญ้า ดินน้ำลมฝน การค้าการขาย พัฒนาจนเกินจะครอบงำได้ด้วยชุดความคิดคับแคบแบบเดิม

หลักการ Good Agricultural Practice (GAP) การผลิตอาหารปลอดภัยนั้นเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เช่นเดียวมาตรฐานอาหารนานาชาติ (Codex) รองรับการใช้สารเคมีเกษตรตามที่กำหนด

ข้อมูลวิทยาศาสตร์เหล่านี้ กลับต้องต่อสู้กับตรรกะวิบัติ อย่าง False Dilemma (บังคับเลือกทางใดทางหนึ่ง ทั้งที่สามารถมองได้มากกว่านั้น) เช่นกล่าวหาฝ่ายต่อต้านการแบน ว่าเป็นพวกนายทุน

หรือ Slippery Slope (ยิ่งคิดยิ่งไปกันใหญ่ไกล) เช่น หากใช้สารเคมีเกษตรจากจังหวัดทางภาคเหนือ มันจะตกค้างและไหลตามแม่น้ำทำให้ประชาชนที่อาศัยในกรุงเทพมหานครได้รับสารพิษไปด้วย

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า พืชผักนำเข้า ไม่ได้ตรวจสอบการปนเปื้อน กลับเดินทางได้รวดเร็ว มากกว่าสารเคมีเกษตรไหลตามแม่น้ำ อย่างที่ผู้พูดหวังให้ผู้คนได้หวั่นเกรง


ขณะที่ ศ.นพ.วินัย วนานุกูล ผู้อำนวยการศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของงานวิจัยอันตรายจากการสัมผัส “พาราควอต” ซึ่งถูกนำไปใช้อ้างอิงอย่างกว้างขวาง

เขายืนยันว่า หลายครั้งที่งานวิจัยนี้ถูกนำข้อมูลไปใช้ “ไม่ครบ” งานวิจัยระบุว่า ปี 2553-57 มีผู้ป่วยมารักษาด้วยภาวะพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 28,488 คน มาจากสารกำจัดแมลง ร้อยละ 47.4 สารกำจัดวัชพืช ร้อยละ 31.7 หรือ 9,023 คน สารกำจัดวัชพืชที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุด คือ พาราควอต ตามมาด้วย ไกลโฟเสต ส่วน คลอร์ไพริฟอส เป็นสารกำจัดแมลง ที่ถูกมือดีมือมืดจับมามัดรวมกันอย่างไม่มีเหตุผลสัมพันธ์

สาเหตุที่ให้คนได้รับพิษจากพาราควอต คือ ตั้งใจกิน หวังฆ่าตัวตาย ร้อยละ 78.4 จากอุบัติเหตุระหว่างการใช้งาน ร้อยละ 17.3 และจากการทำงานร้อยละ 3.3

หากไม่นับรวมอุบัติเหตุที่อาจสื่อความได้ว่าไม่ตั้งใจให้เกิด เฉพาะกลุ่มที่ใช้เพื่อฆ่าตัวตาย และจากการทำงาน รวมกันร้อยละ 81.7 สองกลุ่มนี้ ล้วนอนุมานได้ว่าเป็นการใช้งานผิดวัตถุประสงค์ (Misuse) หรือใช้เกินขนาด (Overdose) ยิ่งตอกย้ำว่า ยาฆ่าหญ้าไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรับประทาน

ใครคิดว่าไม่อันตราย ก็กินเข้าไป” จึงสะท้อนปัญหาตรรกะวิบัติของผู้พูด และหากยิ่งคิดยิ่งไปกันใหญ่แล้ว จะไปถึงปัญหาการศึกษาอันล้มเหลวด้วยก็เป็นได้ 

ตลอดปี 2562 มีวาทกรรมที่รับใช้ผู้ผลิต ถูกส่งออกย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ จนผู้ฟังคล้อยตาม เชื่อถือและทำตามอุดมการณ์ของผู้เผยแพร่วาทกรรมนั้น

แต่ปรากฏการณ์สารเคมีเกษตร กลับท้าทายชุดความเชื่อและต้นทุนสังคมแบบเดิม เมื่อกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวให้แบน ถูกฉายภาพลักษณ์เป็นคนดี มีการศึกษา ฐานะและอาชีพน่ายอมรับนับถือ

ขณะที่อีกฝ่ายถูกเปรียบเป็นดั่งตาสี ไม่เคยสุขสบาย ฝ่าเปลวแดดแผดร้อน ไล่ควายไถนาป่าดอน

เคมีเกษตรจึงไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม เกษตร การค้า แต่เมื่อมีปัจจัยการเมืองและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ท้าทายผู้คนให้ใช้ความคิด วิเคราะห์ แยกแยะ มองทะลุถึง “วาระซ่อนเร้น” ที่อาจแอบอิงอยู่เบื้องหลังได้อย่างไร

จตุรงค์ แสงโชติกุล

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง