สัญญาณดี "รุกขกรไทย" ดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง

สิ่งแวดล้อม
27 ธ.ค. 62
17:23
2,756
Logo Thai PBS
สัญญาณดี "รุกขกรไทย" ดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง
ปี 2562 นับได้ว่าเป็น "ปีแห่งรุกขกรไทย" เพราะเป็นที่รู้จักของประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่เกิดเหตุต้นไม้ล้ม สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน ทรัพย์สิน และชีวิต ทำให้อาชีพนี้เป็นที่รู้จักและเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง

อาชีพ รุกขกร คือคำตอบของการจัดการต้นไม้อย่างถูกวิธี ทั้งตัดแต่งต้นไม้ รักษาเมื่อต้นไม้ป่วยเสี่ยงโค่นล้ม หรือการเลือกประเภทต้นไม้ รวมถึงการจัดการพื้นที่สีเขียวให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เป็นอาชีพที่มีความจำเป็นเมื่อกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมตื่นตัว การเพิ่มพื้นที่สีเขียว จึงต้องควบคู่ไปกับการดูแลอย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อต้นไม้และผู้คนที่อยู่ใกล้ต้นไม้

ก่อนหน้านี้ งานรุกขกรไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ปี 2562 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีที่วิชารุกขกรรม หรือ อาชีพรุกขกร มีความก้าวหน้าอย่างมาก

ทั้งในแง่การตลาดที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ต้นไม้ล้ม หลาย ๆ คนนึกถึงการแก้ปัญหาโดยรุกขกรเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งในแง่ของความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่กำหนดให้งานรุกขกรเป็นหนึ่งในนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง

ปฏิทิน "รุกขกรไทย" กับบทบาทการจัดการต้นไม้

มกราคม - กุมภาพันธ์ สมาคมรุกขกรรมไทย และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.นครศรีธรรมราช ร่วมดำเนินการฟื้นฟูต้นไม้ใหญ่ ที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปาบึก และป้องกันการหักล้มในอนาคต ด้วยการดูแลรักษาตั้งแต่ระบบราก ตัดแต่งทรงพุ่มใหม่ และทำแผลที่เกิดจากกิ่งหัก ผุ ปลวกแทะ

มีนาคม กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร (สำนักงานสวนสาธารณะ, สำนักการโยธา, สำนักงานเขตพระนคร) เครือข่ายต้นไม้ในเมือง และภาคีเครือข่าย นำทีมรุกขกรจากทั้งภาครัฐและเอกชน ตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ บริเวณพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก และเริ่มงานฟื้นฟูต้นตะเคียนเก่าแก่ ที่คาดว่าปลูกไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณกระทรวงกลาโหม เกาะรัตนโกสินทร์


มิถุนายน
นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมต้นตะเคียน และเห็นชอบงานฟื้นฟูต้นตะเคียนบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการปรับปรุงดินที่เสื่อมสภาพด้วยเสียมลม อุปกรณ์ดูแลต้นไม้ทันสมัย ที่ช่วยพรวนดินโดยไม่กระทบกับรากของต้นไม้ พร้อมปรับปรุงพื้นที่ทางเท้าใหม่ ให้เหมาะกับการดูแลรักษาต้นตะเคียนในระยะยาว

สิงหาคม สำนักงานสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร เครือข่ายต้นไม้ในเมือง กลุ่มบิ๊กทรีส์ และภาคี เดินทางศึกษาดูงานด้านการจัดการต้นไม้ในเมืองของประเทศสิงคโปร์ ทั้งในเรื่องของการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก มาตรการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ การจัดการต้นไม้ริมถนน และการสร้างสวนสาธารณะที่รักษาระบบนิเวศไปพร้อม ๆ กัน โดยรองปลัดกรุงเทพมหานคร ระบุว่า จะนำแนวทางต่าง ๆ มาใช้ส่งเสริมพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครด้วย

 


ตุลาคม
เกิดเหตุต้นไม้ล้มภายในบ้าน ทำให้นักวิชาการชื่อดัง คือ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยนโยบายการกำกับดูแลที่ดี สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสียชีวิต และเกิดกระแสการตื่นตัวเรื่องการดูแลต้นไม้ในบ้าน มีผู้คนจำนวนไม่น้อยติดต่อจ้างรุกขกรเข้าไปดูแลต้นไม้ เพื่อลดความเสี่ยงต้นไม้ล้มใส่เจ้าของบ้านเหมือนกรณีตัวอย่าง

   อ่านเพิ่ม : สูญเสีย นักเศรษฐศาสตร์ "เดือนเด่น นิคมบริรักษ์" อุบัติเหตุต้นไม้ทับ

พฤศจิกายน ภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และชุมชนในพื้นที่ ร่วมกันลงนามความร่วมมือฟื้นฟูเยียวยาถนนสายยางนา เชียงใหม่ – ลำพูนสายเก่า โดยกำหนดนโยบายและการจัดการงบประมาณ ที่จะนำไปสู่การมีรุกขกรหรือหมอต้นไม้ ดูแลต้นยางนาทั้ง 949 ต้น ตลอดระยะทาง 14 กิโลเมตร บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ทั้งในการฟื้นฟูระบบรากของยางนา การตัดแต่งกิ่งอย่างเหมาะสม เป็นแบบอย่างให้พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยนำไปใช้ในการดูแลต้นไม้ใหญ่


ธันวาคม
สมาคมรุกขกรรมไทย และภาคีเครือข่าย จัดการแข่งขันปีนต้นไม้ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 2 โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 30 คน ตัดสินโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านรุกขกรรมจากนานาชาติ ใช้เกณฑ์วัดมาตรฐานรุกขกรรมสากล เพื่อศักยภาพของรุกขกรไทยในเรื่องการปีนต้นไม้ และรักษาความปลอดภัยต่อตัวเองและผู้อื่น เพื่อให้การทำงานบนต้นไม้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ก้าวหน้าทั้งนโยบาย กทม. และความร่วมมือสากล

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร นำโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงนโยบาย Green Bangkok 2030 มุ่งมั่นเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 9 ตารางเมตรต่อคน ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 6 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ยังให้ความสำคัญกับการดูแลต้นไม้เดิมที่มีอยู่ให้สมบูรณ์แข็งแรงตามหลักรุกขกรรม

ขณะที่ปีนี้ สมาคมรุกขกรรมไทย ได้เข้าร่วมเป็นองค์กรสมาชิกกับสมาคมรุกขกรนานาชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนาศักยภาพของรุกขกรไทย ทั้งฝีมือ สวัสดิการทางสังคม และสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพ เช่น การพัฒนาหลักสูตรรุกขกรที่มีมาตรฐานรับรอง ให้รุกขกรไทยสามารถทำงานได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สอดรับกับแนวคิดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ส่งเสริมการสร้างพื้นที่ป่าในเมือง (URBAN Forest) เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติจากภาวะโลกร้อน และให้สิ่งแวดล้อมที่ดีช่วยลดความเสี่ยงป่วยจากมลพิษในเมืองใหญ่ เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ทั้งส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการต้นไม้กับภาคประชาชน


อรยา สูตะบุตร
 ผู้ประสานงานกลุ่ม Big Trees บอกว่า ปีที่ผ่านมา งานด้านรุกขกรมีความก้าวหน้าอย่างมาก มีความร่วมมือเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และคนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรุกขกรเพิ่มมากขึ้น แต่ในปีหน้าหากจะสานต่องานที่ทำอยู่ และให้ประสบความสำเร็จในวงกว้าง จะต้องทำให้นโยบายต่าง ๆ เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยข้อตกลงที่เป็นทางการ เหมือนอย่างที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเมื่อมีการทำ TOR หรือ Term of Reference ข้อกําหนดของผู้ว่าจ้าง ว่าจะมีการจัดจ้างรุกขกรให้ทำงานส่วนไหนบ้าง ทำให้มีการเดินหน้าฟื้นฟูต้นยางนา ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับนโยบาย Green Bangkok 2030 ได้

ขณะเดียวกัน ก็มีความพยายามสร้างมาตรฐานทางวิชาชีพรองรับรุกขกรมากขึ้น เพื่อในอนาคตจะได้มีการขึ้นทะเบียนอาชีพนี้ขึ้นมา มีอัตราค่าตอบแทนที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้รุกขกรหน้าใหม่ได้ทราบคุณสมบัติของรุกขกร และอาจจะเป็นส่วนจูงใจให้อัตรารุกขกรขยายตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ อาชีพรุกขกรยังถือว่ามีความท้าทาย เพราะปัจจุบันมีบัณฑิตที่จบการศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะวนศาสตร์ จำนวนน้อย เพียงหลักสิบต่อปี และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานรุกขกรรมมีราคาแพง เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนของการทำงานมีมูลค่าสูง และราคาค่าจ้างสูงตามไปด้วย โอกาสที่ผู้จ้างจะเลือกใช้บริการรุกขกรจึงมีน้อยกว่าจ้างคนทั่วไปมาตัดต้นไม้ เพราะมีราคาต่ำกว่าหลายเท่าตัว

 

พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ศรีสุวรรณ" คัดค้านตัดต้นไม้ขยายถนนจันทบุรี-สระแก้ว

กฟภ.เร่งแก้ปัญหาไฟฟ้าดับ จ.นครศรีฯ หลังต้นไม้ใหญ่ล้มขวางถนน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง