ชง ครม.ตั้งวอร์รูมน้ำรับมือภัยแล้งลากยาว 6 เดือน

สิ่งแวดล้อม
6 ม.ค. 63
11:46
1,517
Logo Thai PBS
ชง ครม.ตั้งวอร์รูมน้ำรับมือภัยแล้งลากยาว 6 เดือน
สทนช.ชงเสนอ ครม.พรุ่งนี้ (7 ม.ค.) ตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติรับมือภัยแล้งปี 63 หลังพบแนวโน้มไทยเผชิญภัยแล้งลากยาว 6 เดือน แม้ว่ากรมชลประทาน จะยืนยันปริมาณน้ำสำรอง 4​ เขื่อนหลัก​ ยังเพียงพอใช้จนถึงเดือนพ.ค.นี้ ขณะที่จุดเสี่ยงน้ำเค็มรุกเทียบผลกระทบปี 58

วันนี้ (6 ม.ค.2563) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยาเข้าหารือเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง และทำแผนรับมือนำเค็ม โดยที่ประชุมรายงานว่า ภาพรวมสถานการณ์น้ำใช้การทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวม 49,789 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% เป็นปริมาณน้ำใช้การ 25,714 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 44% แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 20,738 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 โดยล่าสุดมีเขื่อนขนาดใหญ่ 14 แห่งที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% ขณะที่ภาพรวมค่าเฉลี่ยฝนทั้งประเทศจะน้อยกว่าค่าปกติ 3-5%

วันนี้ต้องหารือกันว่าจะต้องมีการปล่อยน้ำมากน้อยเพียงใด เพื่อบรรเทาความเค็มของน้ำประปา แต่ก็ต้องคำนึงถึงน้ำที่จะใช้ในฤดูแล้งให้สามารถใช้ได้อย่างเพียงพอไปจนถึงเดือน พ.ค.นี้ โดยวันพรุ่งนีิ้ (7 ม.ค.) ทางสทนช.เตรียมข้อมูลและนำเสนอมาตรการต่างๆนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และหาแนวทางการประกาศเขตภาวะน้ำแล้ง โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตาม พ.ร.บ.น้ำแห่งชาติ 

 

นอกจากนี้จะมีการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และติดตามความก้าวหน้าในการใช้งบกลาง เพื่อสนับ สนุนการแก้ไขปัญหา รวมถึงความก้าวหน้าของกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวกับองค์กรผู้ใช้น้ำ และจัดการแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด

ต้องพูดความจริงให้ประชาชนรู้ข้อมูลชัดเจน เพื่อไม่วิตกกังวล โดย10 ม.ค.นี้ จะมีการเปิดอำนวยการน้ำ เพื่อให้ทุกหน่วยงานต้องมีข้อมูล ถูกต้องชัดเจนในการวางแผนแก้ปัญหา และไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่อื่น 

"กรมชล"ยันน้ำในเขื่อนลากยาวได้จนสิ้นแล้ง​

นายทวีศักดิ์​ ธนเดโชพล​ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า​ ฤดูแล้งปีนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย​ จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างจำกัด​ และให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งมีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภครักษาระบบนิเวศ สนับสนุนพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือเกษตรต่อเนื่องบางพื้นที่เท่านั้น

ยืนยันว่าน้ำปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก​ 4​ แห่ง​ เขื่อนภูมิพล​ เขื่อนสิริกิติ์​ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีรวมกันอยู่ทั้งหมด 40% จะเพียงพอใช้ได้ไปจนถึงสิ้นฤดูแล้ง​เดือน พ.ค.นี้ ทั้งยังเผื่อฝนทิ้งช่วงอีก 3 เดือน​ จนกระทั่งถึงเดือนก.ค.นี้

ทั้งนี้จากน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก​ ถูกระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร​ แบ่งเป็นใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค 7 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม 8 ล้านลูกบาศก์เมตร​ และเพื่อการทำเกษตรต่อเนื่องเช่นสวนส้มโอ และอื่นๆหรือพืชที่ใช้น้ำน้อยอีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตร​ ทั้งยังมีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีกวันละ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งน้ำลุ่มน้ำแม่กลองยังมีมากเพียงพอที่จะผันมาข่วยลุ่มเจ้าพระยา​ เนื่องจากอิทธิพล​ของพายุ​โพ​ดุล​

จับตาน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตรแม่กลอง-ปทุมธานี

ขณะที่การตรวจวัดค่าความเค็มตอนนี้มีสถานีสูบน้ำดิบผลิตประปา​สำแล​ จ.ปทุมธานี​ ยังคงมีความเค็มเกินค่ามาตรฐาน​ แต่จุดวัดความเค็มที่บางไทร​ จ.พระนคร​ศรี​อยุธยา​ ยังปกติ​

สำหรับเกษตรกร​ ได้ขอความร่วมมืองดทำนาปรังและรอให้ฝนตกรอบใหม่จึงจะเริ่มหว่านกล้าทำนาได้ซึ่งถ้าหากตัดสินใจทำในช่วงเวลานี้​ จะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุน​ต้องปล่อยยืนต้นตาย​ เนื่องจากได้จัดลำดับความสำคัญเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมชลประทาน มีการวางแผนเฝ้าระวังผลกระทบตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยเฝ้าระวังพื้นที่เคยเกิดในช่วงปี 2558 โดยพื้นที่ภาคกลาง มีผลกระทบในจุดล่อแหลมแถวปทุมธานี สถานีสูบน้ำสำแล และลุ่มน้ำแม่ลอง ในปีน้ำน้อยน้ำเค็มบางปีรุกมาในพื้นที่การเกษตร และเข้ามาทางพื้นที่ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และลุ่มน้ำท่าจีน จะมีปัญหาแถวปากคลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่วนภาคตะวันออกเคยมีปัญหา อ.กบินทร์บุรี จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งชายฝั่งทะเลตะวันออก 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กษ.รับมือภัยแล้งเร่งด่วน เหตุเสี่ยงแล้งหนักนาน 6 เดือน

วิกฤตน้ำเค็มรุก! 6 ม.ค.นี้ สทนช.ถกด่วนรับแล้ง-ประปากร่อย

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง