ทะเลหนุน "8-15 ม.ค." นี้ เจ้าพระยาเค็มเพิ่ม-ผันน้ำแม่กลองแก้วิกฤต

สิ่งแวดล้อม
6 ม.ค. 63
16:48
3,360
Logo Thai PBS
ทะเลหนุน "8-15 ม.ค." นี้ เจ้าพระยาเค็มเพิ่ม-ผันน้ำแม่กลองแก้วิกฤต
ทุบสถิติน้ำเค็มรุกเจ้าพระยาในรอบ 5 ปี ค่าความเค็มสูงสุดรายวันที่สถานีสูบน้ำสำแล 2.19 กรัมต่อลิตร เริ่มส่งผลกระทบคุณภาพน้ำประปากรุงเทพฯ และปริมณฑลฝั่งตะวันออก สทนช.จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องงัดแผนผันน้ำแม่กลองไล่น้ำทะเลหนุนสูง 8-15 ม.ค.นี้

วันนี้ (6 ม.ค.2563) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุว่า หลังการประชุมแก้ไขปัญหาการรุกตัวน้ำเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและมาตรการรองรับนั้น จากการคาดการณ์พบว่า ช่วงประมาณวันที่ 8-15 ม.ค.นี้ ลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อความกร่อยของน้ำประปาที่ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค


สทนช.จึงมีมาตรการเร่งด่วนระบายน้ำจาก 2 เขื่อนหลักตอนบน ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อผลักดันน้ำเค็ม จากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง จึงต้องผันน้ำจากฝั่งตะวันตกผ่านแม่น้ำแม่กลองมาในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นผ่าน 3 เส้นทาง คือ คลองท่าสาร-บางปลา คลองจรเข้สามพัน โดยขณะนี้มีการปรับอัตราการระบายเพิ่มขึ้น จาก 35 ลบ.ม./วินาที เป็น 50 ลบ.ม./วินาที ก่อนน้ำไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน เข้าสู่คลองพระยาบันลือและไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทานกำลังพิจารณาเพิ่มปริมาณน้ำในคลองพระยาบันลือให้มากขึ้น และคลองประปา ซึ่งการประปานครหลวงได้ปรับการระบายเพิ่มขึ้นเป็น 30 ลบ.ม./วินาที แต่ยังไม่เพียงพอ จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 10 ลบ.ม./วินาที และอาจตั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำบริเวณที่เชื่อมกับคลองบางกอกน้อยด้วย

ภาพ : สทนช.

ภาพ : สทนช.

ภาพ : สทนช.


สำหรับน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำแม่กลองยังคงอยู่ในปริมาณที่กำหนดไว้ที่ 500 ล้าน ลบ.ม. แม้ว่าขณะนี้จะใช้ไปแล้วกว่า 200 ล้าน ลบ.ม. แต่ล่าสุดยังสามารถผันมาเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากลุ่มน้ำแม่กลองมีการสำรองน้ำไว้เพียงพอ และเกินความต้องการ จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่กระทบต่อการใช้น้ำของชาวแม่กลอง 

ช่วงน้ำทะเลหนุนสูง อาจส่งผลกระทบถึงคุณภาพน้ำบ้าง แต่การประปานครหลวงจะรับหน้าที่การตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะนำไปใช้ผลิตน้ำประปา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของประชาชน


กปน.ชี้ กทม.ฝั่งตะวันออกพบปัญหาน้ำกร่อย

ด้านนายสมศักดิ์ ปัสนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม การประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การผลิตน้ำประปายังไม่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเล เนื่องจากค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี ล่าสุด อยู่ที่ 0.3 กรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้งานได้ปกติ โดย กปน.ได้ประสานงานกับหน่วยงานบริหารจัดการน้ำโดยรวม เพื่อบูรณาการข้อมูลและจัดทำแผนเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านไปได้ มั่นใจว่าจะมีน้ำประปาให้ประชาชนได้ใช้อุปโภค บริโภคได้เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง


ปัจจัยหลักที่ทำให้น้ำทะเลหนุนสูง คือ ภัยแล้ง ส่งผลให้กรมชลฯ มีมาตรการจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดช่วงฤดูแล้ง จนถึงช่วงสิ้นเดือน พ.ค. เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้ำจำกัด ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงไปถึงจุดสูบน้ำดิบ ขณะที่ปีที่แล้วน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีมากจึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง 

ทั้งนี้ การประปานครหลวงมีแหล่งสูบน้ำดิบ 2 แหล่ง คือ ทางตะวันออก ที่ใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้ อีกแหล่งคือ ทางตะวันตก มาจากเขื่อนแม่กลอง ดังนั้น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบคือ กรุงเทพฝั่งตะวันออก เช่น เขตหลักสี่ ตามเส้นรามอินทรา มีนบุรี ลาดกระบัง

ส่วนฝั่งตะวันตกที่รับน้ำจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ จะไม่ได้รับผลกระทบ การประปานครหลวงจึงได้นำน้ำจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้ำปกติที่ไม่มีปัญหาไปแจกประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามสำนักงานประปาทั้ง 18 แห่ง และเตรียมรถน้ำไว้เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนในภาวะวิกฤต

วิกฤตน้ำกร่อย ค่าความเค็มมากสุดในรอบ 5 ปี

ข้อมูลจาก สทนช.ซึ่งบันทึกสถิติค่าความเค็มสูงสุดรายวันที่สถานีสูบน้ำสำแล ปี พ.ศ.2550 – 2562 พบว่า วันที่ 28 ธ.ค.2562 มีค่าความเค็มสูงสุดรายวันอยู่ที่ 2.19 กรัมต่อลิตร ซึ่งถือเป็นค่าความเค็มสูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2557 ที่มีค่าความเค็มสูงสุดรายวันอยู่ที่ 1.92 กรัมต่อลิตร อีกทั้งค่า 2.19 กรัมต่อลิตร ยังสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานเพื่อผลิตน้ำประปา (0.50 กรัมต่อลิตร) เกือบ 5 เท่า


ขณะที่ก่อนหน้านี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า สถิติค่าความเค็มสูงสุดรายวันที่สถานีสูบน้ำสำแล อยู่ในช่วงเดือน ก.พ.-ก.ค.มาโดยตลอด มีเพียงปี 2562 เท่านั้น ที่มีค่าความเค็มสูงสุดรายวันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.จนไปถึงค่าความเค็มสูงสุดรายวันที่ 2.19 กรัมต่อลิตรในวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา

  • ปี 2553 17 พ.ค. 1.10 กรัมต่อลิตร
  • ปี 2557 15 ก.พ. 1.92 กรัมต่อลิตร
  • ปี 2558 18 ก.ค. 1.09 กรัมต่อลิตร
  • ปี 2559 27 พ.ค. 0.87 กรัมต่อลิตร
  • ปี 2560 27 ก.พ. 0.84 กรัมต่อลิตร
  • ปี 2562 28 ธ.ค. 2.19 กรัมต่อลิตร

งัดแผนผันน้ำแม่กลองปี 57 แก้วิกฤตน้ำเค็ม

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ได้เสนอข้อมูลว่า เมื่อปี 2557 สถานการณ์ความเค็มเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ต่อเนื่องถึงเดือน ก.พ. โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2557 ที่สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานสูงถึง 1.92 กรัมต่อลิตร ต่อเนื่องนานถึง 70 ชั่วโมง ซึ่งสาเหตุหลักจากน้ำในลำน้ำมีน้อย การปลูกข้าวนาปรังสูงกว่าแผนถึงสองเท่า ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์อยู่ในเกณฑ์น้อย ประกอบกับน้ำทะเลที่หนุนสูงกว่าปกติในช่วงต้นปี


ในขณะนั้นการประปานครหลวง ได้รับน้ำเข้าคลองประปามหาสวัสดิ์ เกินกว่าที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา 10 ลบ.ม./วินาที ระบายน้ำผ่านช่องระบาย 1,500 มม. และท่อกาลักน้ำ 800 มม. ขณะที่กรมทางหลวงและกรุงเทพมหานคร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง รวม 3 ลบ.ม./วินาที เพื่อสูบน้ำจืดจากคลองประปามหาสวัสดิ์ลงสู่คลองปลายบาง คลองมหาสวัสดิ์ คลองบางกอกน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา รวมอัตราการระบายน้ำ 24.37 ลบ.ม./วินาที 


ส่วนกรมชลประทาน บริหารประตูระบายน้ำฉิมพลี และประตูระบายน้ำยายส่อน ให้สอดคล้องกับน้ำทะเลหนุน พร้อมทั้ง ควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และคลองลัดโพธิ์ เพื่อหน่วงน้ำเค็ม และผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาเสริม
กองทัพเรือ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำรวม 30 เครื่อง ในคลองบางกอกน้อย 20 เครื่อง และคลองมหาสวัสดิ์ 10 เครื่อง เพื่อเร่งส่งน้ำจืดในคลองมหาสวัสดิ์ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำลงติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำเค็มอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้สามารถคลี่คลายสถานการณ์น้ำเค็มในขณะนั้นได้ จึงได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหานี้ในที่ประชุมเพื่อให้ สทนช.ได้พิจารณาปรับใช้เป็นมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอนามัย ชี้น้ำประปาเค็มแต่ "โซเดียม" ไม่เกินมาตรฐาน

เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกหนักจากปัญหาภัยแล้ง

ชง ครม.ตั้งวอร์รูมน้ำรับมือภัยแล้งลากยาว 6 เดือน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง