ส.ส.-กมธ. นับร้อย จ่อชำแหละงบฯ "กลาโหม"

การเมือง
7 ม.ค. 63
15:38
1,610
Logo Thai PBS
ส.ส.-กมธ. นับร้อย จ่อชำแหละงบฯ "กลาโหม"
เปิดรายงานงบฯ ปี '63 หลัง กมธ. พิจารณาลดงบฯ กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท "กลาโหม" ถูกหั่นงบฯ สูงสุด 1,518 ล้านบาท และถูก ส.ส.-กมธ. เตรียมอภิปราย 119 คน

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ที่สภาฯ เตรียมพิจารณาวาระที่ 2-3 วันพรุ่งนี้ (8 ม.ค.2563) พบว่า หน่วยงานที่ถูกปรับลดงบฯ สูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1.กระทรวงกลาโหม ถูกปรับลดงบฯ 1,518.2 ล้านบาท 2.กระทรวงสาธารณสุข 1,318.3 ล้านบาท และ 3.กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 1,147.5 ล้านบาท ทั้งนี้ประเด็นอภิปรายทั้งสิ้น 55 มาตรา โดยมี ส.ส. สงวนคำแปรญัตติ 146 คน และ กมธ.สงวนความเห็น 25 คน

 

เมื่อพิจารณาการตัดงบฯ กระทรวงกลาโหม มี ส.ส.สงวนคำแปรญัตติและ กมธ.สงวนความเห็น เตรียมอภิปราย รวม 119 คน

กมธ. สงวนความเห็น 24 คน เสนอให้ปรับลดตั้งแต่ 5-100% โดยกมธ.ที่เสนอตัดงบกองทัพสูงสุด 100% (เสนอตัดงบฯ ทั้งหมด) คือ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กมธ.งบฯ จากโควตาพรรคเพื่อไทย และมี ส.ส. สงวนคำแปรญัตติ 95 คน เสนอให้ปรับลดงบฯ ตั้งแต่ 0.04-50%

 

โครงการที่ถูกเสนอตัดงบฯ 100% มี 2 โครงการ

  • โครงการที่ 1 การก่อสร้างบ้านพักสวัสดิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ระยะที่ 2 วงเงินกว่า 43 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับงบฯ ต่อเนื่องมา 2 ปี แล้ว คือ ปี 2561-ปี 2562 (วงเงินทั้งสิ้น 184,000,000 ล้านบาท ปี 2561 ตั้งงบฯ 42,432,300 ปี 2562 ตั้งงบฯ 98,070,100 ปี 2563 ตั้งงบฯ 43,497,600 บาท)
  • โครงการที่ 2 การวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก กองทัพเรือ / Midget Submarine วงเงินกว่า 690,000 บาท

ข้อสังเกตของ กมธ. ต่อกระทรวงกลาโหม

1. ควรให้ความสำคัญกับสวัสดิการของทหารผ่านศึกและครอบครัว และทหารนอกประจำการที่รับการสงเคราะห์
2. ควรให้ความสำคัญกับกำลังพลในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยควรใช้วิธีการรับสมัครแทนการเกณฑ์ทหาร
3. ควรกำหนดภารกิจด้านการปกป้องสถาบันหลักของชาติ และเสริมสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เป็นภารกิจประจำของกระทรวงกลาโหม
4.กองบัญชาการกองทัพไทยควรสนับสนุนภารกิจด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในเชิงบูรณาการร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย

 

5.กองบัญชาการกองทัพไทย ควรปรับปรุงหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนเป็นสงครามด้านเศรษฐกิจที่เน้นความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นหลัก
6.กองทัพอากาศ ควรทำหน้าที่ในการกำกับและกำหนดมาตรการควบคุมการใช้อากาศยานไร้คนขับให้ครอบคลุม โดยคำนึงถึงทั้งทางด้านความมั่นคงและสิทธิของประชาชน
7.การตั้งงบฯ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(สปท.) กองทัพควรกำหนดว่าต้องการให้สภาบันวิจัยเรื่องใด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับงบฯวิจัย
8.คำของบฯ เพื่อดำเนินโครงการที่มีความอ่อนไหวต่อสังคม ควรใช้ชื่อโครงการที่ไม่ก่อเกิดให้เกิดความเห็นต่างหรือความขัดแย้งในสังคม
9.กรณีการตั้งของบฯ เพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่เป็นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ควรจัดซื้อเพื่อความจำเป็นต่อภารกิจอย่างแท้จริง โดยต้องชี้แจงเหตุผลต่อประชาชนได้

6 รายการเพิ่มงบฯ 6 รายการไม่เปลี่ยนแปลง

รายงานของ กมธ. พิจารณางบฯ ปี 2563 มี 6 รายการ ที่ได้รับงบฯ เพิ่มขึ้น โดยหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุดคือ กระทรวงแรงงาน 11,240.2 ล้านบาท เป็นเงินที่ใช้อุดหนุนสมทบกองทุนประกันสังคมทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังพบ 6 หน่วยงานที่งบฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 

 

เส้นทาง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 

  • 8-9 ม.ค.2563
    วาระที่ 2 ส.ส. และกมธ. พิจารณารายละเอียดงบฯ รายมาตรา
    วาระที่ 3 การพิจารณางบฯ ทั้งฉบับ พร้อมให้ความเห็นชอบ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย
  • 20 ม.ค.2563
    หากผ่านวาระที่ 3
    เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของ ส.ว. (วุฒิสภา) ใช้เวลาพิจารณาภายใน 20 วัน
  • 27 ม.ค.2563
    นายกรัฐมนตรี นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ขึ้นทูลเกล้าฯ
    เพื่อรอการโปรดเกล้าฯ ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง