แนะใช้งบฯ หนุน ร.ร.เล็ก-ศก.ฐานราก-ผู้สูงวัย-สิ่งแวดล้อม

การเมือง
8 ม.ค. 63
15:25
1,000
Logo Thai PBS
แนะใช้งบฯ หนุน ร.ร.เล็ก-ศก.ฐานราก-ผู้สูงวัย-สิ่งแวดล้อม
ส.ส.แนะใช้เงินอย่างคุ้มค่า ไม่ควรยุบโรงเรียนขนาดเล็ก แต่แบ่งงบฯ ไปสนับสนุนแทน พร้อมหนุนผู้สูงวัย การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ระบุงบฯ ไม่ไปประชาชน ถึงแต่หน่วยงานรัฐ

วันนี้ (8 ม.ค.2563) เวลา 12.55 น. นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.พรรคพลังปวงชนไทย กล่าวถึงการแปรญัตติปรับลดงบฯ 15 % เนื่องจากงบฯ ไม่สามารถไปถึงประชาชนที่ยากจน หรือคนมีรายได้น้อย เพราะส่วนใหญ่อยู่ในกระทรวง ทบวง กรม แต่มีงบฯ ไปถึงชุมชน การพัฒนาแหล่งน้ำ หรือการท่องเที่ยวน้อยมาก

บางหน่วยงานมีรายได้มหาศาล แต่ยังของบฯ จากรัฐบาล ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม อีกทั้งงบฯ นอก 8.5 ล้านล้านบาท ไม่สามารถนำมาพิจารณาได้เลย อยากให้นำส่วนนี้มาบริหารจัดการใหม่ จะทำให้รัฐบาลไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม ผมจึงเห็นว่าต้องตัดงบฯ 15% หรือ 4.8 แสนล้านบาท

ควรออกแบบงบฯ ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน

ต่อมาเวลา 13.12 น. นายกรณ์ จาติกวนิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เสนอแปรญัตติปรับลดงบฯ 1 % ซึ่งเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ผมอยากเห็นรัฐบาลเร่งรีบใช้เงินช่วยประชาชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ละรัฐบาลมีภาพจำแตกต่างกัน แต่รัฐบาลนี้งบฯ ปี 63 อาจยังไม่ได้สะท้อนตัวตนของรัฐบาล

นายกรณ์กล่าวว่า หลายคนบอกว่าเป็นงบฯ ราชการที่ค่อนข้างสูง ผมอยากเห็นการออกแบบงบฯ ให้สอดคล้องสถานการณ์ 5 เรื่องคือ ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า หรือปัญหาเงินบาท โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป โครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป หรือสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

งบฯ ปี 63 การลงทุนลดลงกว่าปี 62 ส่วนปัญหาหนี้สินครัวเรือน หนี้ กยศ. ทำให้คนไทยถูกฟ้องร้องล้มละลายยึดทรัพย์สินนับล้านคน ซึ่งต้องมีการแก้ปัญหานี้ ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าร้านสะดวกซื้อ ห้าง อีคอมเมิร์ซ แสดงถึงความกระจุกตัวของนายทุนและ SME แข่งขันไม่ได้

แนะแบ่งงบฯ หนุนโรงเรียนขนาดเล็ก

ต่อมาเวลา 13.25 น. นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอแปรญัตติปรับลดงบฯ 10 % หรือ 3.2 แสนล้านบาท ชี้ไม่ได้กระทบการดำเนินงานของส่วนราชการ อีกทั้งรัฐบาลไม่ต้องไปกู้เงินเพิ่มจนเป็นภาระประชาชน โดยเห็นว่าควรนำเงิน 1.5 แสนล้านบาท ไปใช้ปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่ชนบท

ควรให้หมู่บ้านละ 10 ล้านบาท เพื่อไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก หรือเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเรียนต่างหมู่บ้าน ในเขตเลือกตั้งของผม ชาวบ้านไม่พอใจในการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

ส่วนงบฯ อีก 1.7 แสนล้านบาท ทำวนเกษตร ให้ประชาชนปลูกป่าคนละ 1 ไร่ และรัฐบาลจ้างดูแลจ่ายเงินให้เดือนละ 1,000 บาท

จากนั้นเวลา 13.20 น. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแปรญัตติปรับลดงบฯ 3% เนื่องจากงบฯ ฉบับนี้จัดทำโดยส่วนราชการเท่านั้น สะท้อนเพียงความต้องการของส่วนราชการมากกว่าความเดือดร้อนของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

สาทิตย์กล่าวว่า การปรับเพิ่มงบฯ ไม่มีในส่วนของความเหลื่อมล้ำ หรือโครงสร้างพื้นฐาน และ กมธ.ไม่ได้พูดจากันให้ชัดเจน เกี่ยวกับการตอบสนองการแก้ปัญหาประชาชน ผมสงสัยว่าที่สะท้อนปัญหากันจะอยู่ในงบฯ 64 หรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้รับฟังความเห็นของ ส.ส.ด้วย


ถ้าเรายังเดินด้วยการเอาราชการเป็นศูนย์กลางแบบนี้ และไกลห่างจากปัญหาพื้นฐานของประชาชน วันหนึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำจะนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าไม่ได้

ส.ส.รัฐบาลแนะใช้งบฯ แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก

เวลา 13.26 น. นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแปรญัตติปรับลดงบฯ มาตรา 4 งบฯ รายจ่ายประจำปี 63 จำนวน 10 % เพราะตั้งข้อสังเกตว่า เป็นงบฯ ที่ฝ่ายการเมืองเข้าไปดูแลน้อยมาก ไม่ได้สะท้อนปัญหาประชาชน โดยคาดหวังให้ไปเพิ่มงบฯ โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชนบท

ถนนปลอดฝุ่นไม่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเลย เพราะถนนลูกรังทั่วประเทศมีอยู่หลักแสนกิโลเมตร ไม่มั่นใจว่าหากจัดงบฯ แบบนี้ อีกกี่ปีประชาชนในชนบทจะมีถนนลาดยาง ซึ่งอาจทำจากยางพาราที่แม้จะมีต้นทุนสูง แต่เป็นในลักษณะอัฐยายซื้อขนมยาย แทนที่หมอนยางพาราที่อาจไม่ตอบโจทย์ประชาชน

เวลา 14.10 น. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอปรับลดงบฯ 10% เพราะเมื่อพิจารณารายละเอียดไปใช้จ่ายบริหารประเทศมี 2 ส่วนที่เป็นแหล่งรายได้ของไทย คือ จากการส่งออก โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ และงบส่งเสริมต่างๆ มีน้อยมากที่เพิ่มรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยว

ข้อเสนอคือต้องใช้งบฯ แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากให้กับประชาชน แต่กลับพบว่ามีการใช้งบฯ เพื่อสนองความต้องการของหน่วยงานราชการมากกว่า รวมทั้งปัญหาชีวิตความอยู่ของเกษตรกร

เวลา 14.25 น. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานคณะกรรมาธิการ ระบุว่า ตามร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ถือว่าขัดกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

นายวรวัจน์กล่าวว่า แต่การเสนอจัดสรรงบฯ ของรัฐบาลตามร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 พบจัดสรรให้กับทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ให้กับ 20 กองทุนหมุนเวียน รวมเป็นเงิน 1.97 แสนล้านบาท

นายวรวัจน์กล่าวว่า ทำไมต้องทำวิธีการแบบที่ผิดกฎหมาย ส.ส.ลงมติสนับสนุนหรือผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและทำผิดกฎหมาย ถ้า ส.ส.ผ่าน พ.ร.บ.งบฯ 63 มีโอกาสที่จะถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบได้

14.45 น. ที่ประชุมสภาฯ ลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 มาตรา 4 โดยมี ส.ส.เห็นด้วย 246 คน ไม่เห็นด้วย 88 คน งดออกเสียง 137 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง