"รังสิมา" ซัด กมธ.ตัดงบเกษตรฯ "แบบนี้ก็ไม่ต้องทำงาน"

การเมือง
9 ม.ค. 63
21:06
2,096
Logo Thai PBS
"รังสิมา" ซัด กมธ.ตัดงบเกษตรฯ "แบบนี้ก็ไม่ต้องทำงาน"
กมธ.ระบุกรมวิชาการเกษตรถูกตัดงบมาก เพราะพบพิรุธจัดซื้อ-เช่าอุปกรณ์ ที่ราคาต่างกันในแต่ละแห่ง ทั้งที่ของเหมือนกัน “รังสิมา” โอดตัดงบฯ แบบนี้ก็ไม่ต้องทำงาน

วันนี้ (9 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการโหวตมาตรา 13 เสร็จสิ้นลง การอภิปรายมาตรา 14 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในกำกับ งบฯ ที่ตั้งไว้ 32,577,767,300 ล้านบาท เริ่มอภิปรายเมื่อเวลา 17.42 น.

โดย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กมธ. เป็นผู้อภิปรายคนแรกว่า การตรวจสอบของ กมธ.พบข้อผิดปกติจำนวนมากในงบฯ ปี 63 ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าทุจริต หรืออะไร บางครั้งการตั้งราคาเกินจนไม่น่าจะรับได้

เช่น กรมวิชาการเกษตร ถูกตัดงบฯ ค่อนข้างมาก เพราะตอบคำถามไม่ค่อยได้ โดยเอกสารชี้แจงเครื่องแก๊สโครมาโตรกราฟ จัดซื้อในกรุงเทพฯ เครื่องละ 3 ล้านบาท ส่วนที่ จ.พิษณุโลก เครื่องละ 4 ล้านบาท และเชียงใหม่ เครื่องละ 9 ล้านบาท เมื่อสอบถามอาจารย์มหาวิทยาลัย ใช้เครื่องละ 4-5 หมื่นบาท ไม่มีใครใช้เครื่องเป็นล้านบาท นอกจากใช้อบรม หรือเชี่ยวชาญ

แต่เมื่อสอบถามอาจารย์มหาวิทยาลัย ใช้เครื่องละ 4-5 หมื่นบาท ไม่มีใครใช้เครื่องเป็นล้านบาท นอกจากใช้อบรม หรือเชี่ยวชาญ

เช่าคอมพ์ปีละเกือบแสนบาท

นายวรวัจน์กล่าวต่อว่า อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ หรือครุภัณฑ์ ถูกเพิ่มราคาไว้หลายเท่าตัว ส่วนการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่สำนักงบประมาณ กำหนดราคาจัดซื้อ 17,000 บาท แต่ปีนี้ค่าเช่าคอมฯ เดือนละ 5,000 บาท ปีละ 60,000 บาท เช่า 5 ปี เท่ากับคอมฯ เครื่องนี้ราคา 300,000 บาท

สำนักงบฯ ตอบว่า ส่วนราชการตั้งไว้ได้ แต่ถึงเวลาก็สามารถปรับเปลี่ยนได้หมด จึงพบว่าตั้งไว้สูงเกินจริง ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีประโยชน์ ฝากตรวจสอบการตรวจสอบงบฯ ลักษณะนี้ เพราะรับไม่ได้จริงๆ

“รังสิมา” โอดตัดงบฯ แบบนี้ก็ไม่ต้องทำงาน

ต่อมา นางรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายโดยเสนอขอตัดงบฯ 7 % ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพบว่า การพิจารณาตัดงบฯ ของ กมธ.มีความผิดปกติมาก เช่น งบฯ กรมชลประทาน 13,598 ล้านบาท ตัด 206 ล้านบาท กรมพัฒนาที่ดิน 3,439 ล้านบาท ตัด 25 ล้านบาท

กรมส่งเสริมการเกษตร 1,605 ล้านบาท ตัด 1 ล้านบาท กรมปศุสัตว์ 1,330 ล้านบาท ตัด 29 ล้านบาท กรมส่งเสริมสหกรณ์ 1,124 ล้านบาท ตัด 568 ล้านบาท กรมวิชาการ 1,500 ล้านบาท ตัด 638 ล้านบาท

นางรังสิมาตั้งข้อสังเกต กมธ.ผิดปกติหรือไม่ ถึงตัดงบฯ แบบนี้ หรือคงไม่รู้ว่าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร มีทั้งการค้นคว้าวิจัยด้านพืช การเกษตร และทำเรื่องพันธุ์พืชและวัตถุอันตราย

ปี 62 จีนใช้มาตรการนำเข้าสินค้าเกษตรจีเอพี เพื่อประกันคุณภาพสินค้าเกษตร เช่น มังคุด มะม่วง ลำไย เป็นแสนล้านบาท แต่ปีนี้เพิ่มเป็น 9 ชนิด เพื่อให้รู้แหล่งว่าเกษตรกรใช้สารเคมีและสุ่มตรวจเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่กรมวิชาการเกษตรกลับถูกตัดงบฯ มากกว่า 638 ล้านบาท

ตัดงบฯ แบบนี้ อธิบดีก็ไม่ต้องทำงาน เมื่อนักการเมืองไม่อนุมัติงบฯ ก็ไม่ต้องทำ ไปทำงานปีหน้าแทน ตัดงบฯ ไม่เดือดร้อนข้าราชการ แต่จะเดือดร้อนพี่น้องประชาชน

ขอรายชื่อ กมธ.ที่ตัดงบกรมวิชาการฯ

นางรังสิมากล่าวต่อว่า ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ มะพร้าวอ่อน ทำเงินให้ประเทศปีละแสนล้านบาท แต่ถ้าตัดงบฯ ไม่มีมาตรฐาน สินค้าส่งไปไม่ได้มาตรฐาน ราคาตกต่ำ ก็ต้องมาร้องเรียนกับนักการเมืองว่าสินค้าส่งขายไม่ได้ ถึงต้องมาพูดวันนี้ว่าทำอะไรต้องนึกถึงประชาชน ตัดแบบนี้บ้าไปแล้ว กมธ.มี 7 คนต้องรับผิดชอบ

มีคนมาขอรายชื่อ กมธ.ที่ตัดฯ งบกรมวิชาการเกษตร 40 % เพราะว่ามากเกินไป บ้านเมืองจะไม่พัฒนาถ้าเล่นการเมืองแบบนี้ และอยากรู้ว่า กมธ.คนไหนที่ตัดงบฯ ก้อนนี้ พร้อมยืนยันพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ตัดงบฯ และตอนนี้ได้ขอรายชื่อไปแล้ว

“วรวัจน์” ยัน กมธ.ไม่คืนงบฯ ให้เพราะตัดน้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายวรวัจน์ลุกขึ้นถาม นางรังสิมาว่า รับได้หรือไม่ ถ้าต้องเช่าคอมพิวเตอร์เครื่องละ 300,000บาท ชี้ตั้งงบฯ แล้วปรับเกลี่ยกันได้หมด ที่ กมธ.ไม่คืนงบฯ เพราะคืนไม่ไหวจริงๆ และกมธ.จะตอบไม่ได้ว่าปล่อยให้มีการทุจริตได้อย่างไร

นายวรวัจน์กล่าวว่า ปีนี้ถือว่าตัดงบฯ น้อยมาก แค่ 5% หากไม่พบการทุจริตเขาไม่ตัดหรอกครับ ซึ่งตัวเลขดังกล่าว กมธ.ชุดใหญ่ ก็ตอบไม่ได้ ไม่กล้าให้หรอก เพราะผิดปกติ งบฯ สูงกว่าความเป็นจริงถึง 10 เท่า

เรียกไปชี้แจงก็ตอบไม่เคลียร์

จากนั้น นายมณเฑียร สงฆ์ประชา กมธ. ลุกขึ้นตอบ นางรังสิมา กรณีที่นางรังสิมาระบุว่า งบประมาณปีนี้ถูกตัดจำนวนมาก ว่า วันที่กรมวิชาการเกษตรเข้าชี้แจง รายละเอียดไม่ชัดเจน ผมถามว่าการตั้งงบฯ ของกรมต้องมีโครงการและจุดประสงค์ชัดเจน ซึ่งได้แขวนไว้และขอให้ชี้แจงครั้งที่ 2 เนื่องจากเช่าแพงกว่าซื้อ แต่รอบที่ 2 บอกว่าเช่าเดือนละ 800 บาท เป็นรายละเอียดกลับไปกลับมา จึงให้ห้อง กมธ.ใหญ่สามัญพิจารณาใหม่อีกครั้ง

ขณะที่นายภราดร กมธ. ชี้แจง นางรังสิมาว่า

ผมเชื่อว่าคุณรังสิมามีเจตนาดี อยากให้ข้าราชการทำงานได้ และเชื่อว่าเกลียดที่สุดคือการทุจริตเหมือนกับ กมธ. ซึ่งวันที่มีการชี้แจง ผมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ค่าเช่าคอมฯ เดือนละ 5,000 บาท ปีละ 60,000 บาท ขณะที่ราคากลาง 30,000 กว่าบาท หมายความว่าแตกต่างกันครึ่งหนึ่ง

นายภราดรกล่าวว่า ประเด็นที่ 2 กรมวิชาการเกษตร มีภารกิจเกี่ยวกับการทำงานวิจัย มีห้องแล็บ และนำงบฯ ดำเนินงานส่วนหนึ่งดูแลรักษาห้องแล็บ และงบฯ ส่วนหนึ่งไปทำงานวิชาการ จ้างนักวิจัยมาเช่าห้องแล็บของเขาเอง ที่ใช้งบฯ ดำเนินการ ถือเป็นการใช้งบฯ ซ้ำซ้อนกัน

อีกประเด็นคือ การสับเปลี่ยนโครงการ เสนอโครงการ ก. ให้สภาฯ พิจารณา แต่มาเปลี่ยนเป็น ข. พร้อมยกตัวอย่างตั้งงบฯ ซื้อปากกา แต่ถึงเวลาไปซื้อคลิปหนีบกระดาษได้ไหม ท่านตอบว่าได้ครับ หากทำอย่างนี้ก็ไม่ต้องมี กมธ. เป็นความไม่ชอบมาพากลที่ชั้นอนุ กมธ.สงสัยและส่งเข้าชุดใหญ่พิจารณา

กรมวิชาการเกษตรปรับแก้ข้อมูลจากค่าเช่าคอมพิวเตอร์ 5,000 บาท เป็น 800 บาท แล้วบอกว่าส่งเอกสารผิดให้สภาฯ หากเราไม่ตรวจเจอก็หมายความว่าผิดตามผิดอย่างนั้นหรือ เป็นที่มาของการตัดงบฯ ภาพรวม 50 %

ยืนยันตัดงบเพราะแผนงานไม่ชัดเจน

ต่อมาเวลา18.30 น. นายนิยม เวชกามา ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ผมปรับลดงบฯ มาตรา 14 รายจ่ายของกระทรวงเกษตรฯ 10 % เพราะยังมีงบฯ ที่น่าสงสัย เลยถามหมอชลน่านว่า ทำไมกระทรวงเกษตรฯ ได้งบ 3 หมื่นกว่าล้านบาท น้อยกว่างบฯ กระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่ได้รับงบฯ 4.9 หมื่นล้านบาท แต่พออ่านรายละเอียดแล้ว ทำให้รู้ความจริงว่าหลายกรมมีแผนงานที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน เช่น ชาวนาบางคนที่ข้าวเสียหาย ยังไม่ได้ค่าชดเชย อย่าคิดแค่เอาถุงยังชีพไปแจก

กรมชลประทาน ตั้งงบฯ 1.3 หมื่นล้านบาท ต้องคิดว่าทำอะไรให้ประชาชน ไม่ใช่พอถึงหน้าแล้งขอน้ำไป แต่บอกน้ำไม่พอ กลัวน้ำหมด แต่พอหน้าฝนปล่อยน้ำมาท่วม ก็ต้องที่ตัด 3,200 ล้านบาท ที่ตัดเพราะไม่ตอบโจทย์ พอน้ำท่วมก็ซื้อถุงยังชีพไปแจก อยากหากินกับถุงยังชีพ ชาวบ้านจำนวนมากยังไม่ได้รับเงินชดเชย

ชี้ตัดงบกรมชลฯ มากกว่าของกระทรวง

จากนั้น น.ส.กันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พารรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า ตัดงบฯ กรมชลประทาน มากกว่าสัดส่วนโดยรวมของกระทรวงเกษตรฯ ที่ปรับลดเพียง 1% แต่ กมธ.ปรับลดงบฯ กรมชลประทานถึง 2% แทนที่จะได้เพิ่ม ทั้งที่ตอนนี้ทั่วประเทศประสบภาวะภัยแล้ง ทุกจังหวัดต้องการน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง แบบนี้เป็นการปรับลดไม่ตอบโจทย์

จ.พังงา มี 8 อำเภอ มีพื้นที่เกษตร 1 ล้านไร่ แต่มีฝายแค่ 8 แห่งใน 4 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ 28,900 ไร่ เห็นชัดว่า การบริหารจัดการน้ำยังไม่เพียงพอ การจัดงบฯ ต้องดูความจำเป็นให้กับเกษตรกร ซึ่งเรื่องน้ำไม่ใช่น้ำแค่เกษตร แต่ยังเป็นน้ำอุปโภคและการท่องเที่ยว

“เทพไท” ขอตัดมากสุด 10 % ไปชดเชยให้ชาวสวนยาง

ขณะที่ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอปรับลดงบฯ กระทรวงเกษตรฯ 10 % โดยจะนำเงินไปชดเชย หรือสมทบกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรให้กับชาวสวนยางพารา

รัฐบาลมีการประกันรายได้ราคายางแผ่นชั้น 3 กิโลกรัมละ 60 บาท น้ำยางสด 57 บาท ยางก้นถ้วย 23 บาท ซึ่งยางมีปัญหาเรื่องราคาในท้องตลาดมากที่สุด ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาท และรัฐบาลต้องชดเชยให้พี่น้องเกษตรกร 30 บาท

ด้าน นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอปรับลดงบฯ 7 % เนื่องจากการบริหารขาดประสิทธิภาพ และบางรายการส่อทุจริต โดยไทยมีความอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่โบราณ เคยเป็นแชมป์ส่งออกข้าว แต่ทุกวันนี้การดูแลอาจมีปัญหาจนเสียแชมป์

ไทยผลิตข้าวได้ 500 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นอันดับ 13 ของเอเชีย และอันดับ 7 ของอาเซียน น่าตกใจที่เวียดนามได้ 800 กิโลกรัมต่อไร่ สะท้อนการใช้จ่ายงบฯ น่าจะมีปัญหาและต้องปรับปรุง ซึ่งมีพื้นที่ในเขตชลประทาน 30 ล้านไร่ จากพื้นที่เกษตร 130 ล้านไร่

นายสุรวิทย์กล่าวต่อว่า กรมชลประทานได้งบฯ 1.3 หมื่นล้านบาท แต่การจัดสรรงบฯ ต้องปรับปรุงในปีต่อไป เพราะยังขาดแหล่งน้ำ แก้มลิง ลดความเสียหายน้ำท่วม และมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง

จวกรัฐบาลทำงานบกพร่อง ไม่ดึงงบฯ กลับ

จากนั้น นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า งบฯ กรมวิชาการเกษตรเป็นความล้มเหลวของการบริหารงบฯ ของรัฐบาล แกนนำฝ่ายรัฐบาลจะต้องแปรญัตติโดย ครม.เพื่อคืนงบฯ ให้กรมวิชาการเกษตร แต่รัฐบาลไม่มีการแปรญัตติให้ ถือเป็นการทำงานที่บกพร่อง

กระทรวงเกษตรฯ มีความผูกพันกับประชาชนมาก แต่ขณะนี้วิกฤตภัยแล้งเกิดขึ้น ต้องขอบคุณที่นายกฯ ลงมาจัดการด้วยตนเอง สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือแหล่งน้ำ โดยกรมชลประทานมีส่วนรับผิดชอบและรู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ไม่มีงบฯ ให้ใช้ อย่างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่วันนี้มีปัญหา หากไม่สามารถผลักดันน้ำให้เข้าเจ้าพระยาก็จะเกิดวิกฤตน้ำเค็มได้

ชี้ทางรอดของเกษตรกรคือเกษตรยั่งยืน

นายชาดากล่าวต่อว่า ธนาคารน้ำใต้ดิน คือทางรอดทางเดียวของวิกฤตน้ำแล้ง เราพูดกันมานาน โขง ชี มูล แต่ถามว่า แก้ปัญหาอะไรได้ไหม ก็ยังทำไม่ได้ อีกประการคือ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ถูกตัดลดงบฯ ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรไม่ได้พูดถึงเกษตรอินทรีย์ ในส่วนการตัดงบฯ ผมจึงตัดเฉพาะเครื่องจักร เพราะเราต้องปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรได้แล้ว พลิกหน้าดินใหม่ ใช้ปุ๋ย ผมว่าเราทำได้จริงๆ ถ้าเราจะทำ

ไม่ใช่ทำงบฯ ดำเนินการ งบฯ นั่นนี่ แต่ไม่ได้ตั้งงบฯ โดยพูดถึงเกษตรยั่งยืน หรือผลประโยชน์ ทางรอดของเกษตรกร เพราะกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ผลิต แต่กระทรวงพาณิชย์ เป็นคนขาย ผมขอเสนอให้นายกฯ ใช้วิกฤตแล้งให้เงินประชาชนหยุดทำนาไป 1-2 ปี แล้วนำเกษตรกรกลับมาทำเกษตรอินทรีย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น เวลา 20.00 น. ที่ประชุมรัฐสภา มีมติโหวตมาตรา 14 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในกำกับ มีผู้ร่วมประชุม 259 คน เห็นด้วย 245 คน ไม่เห็นด้วย 2 คน งดออกเสียง 9 คน และไม่ลงคะแนน 3 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง