ขอเพิ่มงบฯ ดูแล รพ.สต. ติงแก้สมองไหลไม่ได้ ทั้งที่ใช้ภาษีผลิตคน

การเมือง
10 ม.ค. 63
17:34
1,078
Logo Thai PBS
ขอเพิ่มงบฯ ดูแล รพ.สต. ติงแก้สมองไหลไม่ได้ ทั้งที่ใช้ภาษีผลิตคน
ถกงบฯ สธ. ติงยังแก้ปัญหาสมองไหลไม่ได้ ทั้งที่ใช้งบฯ รัฐผลิตบุคลากรขึ้นมา พร้อมขอเพิ่มงบฯ ปรับปรุง รพ.สต.เกือบหมื่นแห่ง ที่เก่าและชำรุด

วันนี้ (10 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.22 น. ที่ประชุมสภาเริ่มพิจารณา มาตรา 25 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานในกำกับ ตั้งงบฯ ไว้ 28,049,048,300 บาท โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กมธ. ขอปรับลดงบฯ กระทรวงสาธารณสุข 15% เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องแรก นายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุข ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบฯ ปี 63 ให้ สป.สช. 1.9 แสนล้านบาท และมีการของบฯ ปี 64 รวมมาด้วย 2.1 แสนล้านบาท คำถามคือ ของบฯ ปี 64 มาได้อย่างไร ซึ่งสำนักงบฯ ได้ทักท้วงว่าต้องทำรายจ่ายประจำปีเท่านั้น

แนะ สธ.รับมือ รพ.แออัด โรคคุกคาม

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอขอลดงบฯ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานในกำกับ 15 % ในหมวดแผนงานพื้นฐาน สิ่งที่เห็นชัดคือประสิทธิภาพการบริหารงบฯ ของกระทรวง พบว่างบฯ ลงทุนถูกปรับลดมากที่สุด คือ การจัดซื้อจัดจ้างปี 60-62 มีการเบิกจ่ายที่ต่ำมาก ทำให้ปีนี้งบฯ ถูกปรับลดหลักพันล้านบาท ทั้งที่ สธ.มีความสำคัญ

แผนงานการขยาย รพ. หรือจัดซื้อครุภัณฑ์มาบริการประชาชนได้รับผลกระทบ ไม่ได้แก้ปัญหาความแออัดของ รพ. บางพื้นที่ต้องใช้รองเท้าต่อคิว นอกจากนี้การให้บริการประชาชน เม็ดเงินอยู่ที่ สปสช.

ผมคิดว่า สธ.ต้องเพิ่มเรื่องโรคที่คุกคามชาวเหนือ-อีสาน คือโรคพยาธิใบไม้ตับ มะเร็งท่อน้ำดี ทำให้พี่น้องวัยแรงงานเสียชีวิตมากที่สุด 88% เกิดในภาคเหนือ-อีสานที่กินปลาเกล็ดขาว ลาบดิบ ก้อยดิบ แต่ละสัปดาห์พบชายวัยทำงานอายุ 47-50 ปี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี ขอให้ สธ.เตรียมความพร้อมเรื่องนี้

แก้ปัญหาสมองไหลไม่ได้ ทั้งที่ใช้งบรัฐสร้างบุคคลากร

ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กมธ. ระบุว่า ขอปรับลดงบฯ สธ. 15 % เนื่องจาก สธ.ไม่สามารถป้องกันปัญหาสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์ได้ ไม่สามารถสร้างสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิต จนต้องไหลไปสู่ภาคเอกชน ทั้งที่ใช้งบฯ ของรัฐสร้างบุคลากรดังกล่าว

งบฯ มีความเหลื่อมล้ำ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และข้าราชการ ซึ่งประชาชนทั่วไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ได้งบฯ ต่อหัวน้อยกว่าในด้านสาธารณสุข จึงเสนอปรับลดงบฯ สปสช. หรือคนที่กำหนดยอดเงินแต่ละตัว เนื่องจากหากยังทำงานแบบนี้ ประชาชนทั่วไปยังเกิดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เกิดความเสมอภาคถ้วนหน้า

นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนทำงานที่ สธ. มานาน 20 ปี เข้าใจภาพรวมด้านสาธารณสุขในประเทศ 10 ปีที่ผ่านมาถือว่าดีขึ้น ถึงขั้นนายกฯ ถูกรับเชิญไปพูดที่ยูเอ็น แต่หากมีงบฯ เพียงพอ และบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ ระบบสาธารณสุขจะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นและสุขภาพดีขึ้น

ชี้รัฐบาลลงทุนด้าน สธ.น้อยไป ถ้าเทียบกับประเทศอื่น

ระบบสาธารณสุขมีงบฯ หลายก้อนคือ งบฯ สธ. 2.6 หมื่นล้านบาท งบฯ เงินเดือน 1.7 แสนล้านบาท และงบฯ สปสช. รายจ่ายเงินทุนหมุนเวียน 1.4 แสนล้านบาท และงบฯ อื่นๆ แต่รัฐบาลลงทุนด้านสาธารณสุขน้อยไป เมื่อเปรียบเทียบกับจีดีพีนั้น ญี่ปุ่นอยู่ที่ 9 % เวียดนาม 6 % ไทย 4 % ซึ่งตัวเลขที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 5 %

ปี 63 งบฯ สธ. เพิ่มขึ้นเพียง 2.5% และ สปสช.เพิ่มขึ้น 4% ปัญหาของประชาชนคืออาจไม่ได้รับบริการที่ดีเพียงพอ เช่น เตียงไม่พอ ต้องนอนที่ OPD หรือระเบียง, ห้องผ่าตัดไม่เพียงพอ สะท้อนว่างบฯ ลงทุนน้อยเกินไป

อยากให้เพิ่มงบฯ ดูแล รพ.สต.เกือบหมื่นแห่ง

นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,826 แห่ง ขณะนี้มีความเสื่อมสภาพ บ้านพักหลังคารั่ว ไม่มีงบฯ ต่อเติม หรือทำลานกิจกรรม จนต้องจัดผ้าป่าหาเงินช่วย นอกจากนี้เงินลงทุนด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอยู่ที่ 10 % ต้องการให้เพิ่มเป็น 14 % ส่วนงบฯ บุคลากรพบปัญหาพยาบาล เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และนักการสาธารณสุข ไม่ได้รับการบรรจุนับหมื่นคน ต้องลดขนาดกระทรวงฯ เพื่อให้เงินไปถึงส่วนปลายที่ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น

จากนั้นเวลา 15.48 น. ที่ประชุมมติโหวต มาตรา 25 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานในกำกับ มีผู้เข้าร่วมประชุม 448 คน เห็นด้วย 242 คน ไม่เห็นด้วย 64 คน งดออกเสียง 141 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง