สปช.ชี้ช่องโหว่ "กฎหมาย-ปฏิรูปสิ่งแวดล้อม" เร่งให้ทันใน3เดือน-ภาคประชาชนเลิกหวัง

สิ่งแวดล้อม
20 มิ.ย. 58
09:00
180
Logo Thai PBS
สปช.ชี้ช่องโหว่ "กฎหมาย-ปฏิรูปสิ่งแวดล้อม"  เร่งให้ทันใน3เดือน-ภาคประชาชนเลิกหวัง

วานนี้ (19 มิ.ย.2558) ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “ช่องโหว่กฎหมาย-การปฏิรูปสิ่งแวดล้อม” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีทั้งกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ, สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมาร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้

หลังจากที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังเปิดเวทีรับฟังคำชี้แจงขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ว่าด้วยสิทธิพลเมืองในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรา 62,63, 64,92 และ 287 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดทำ EIA และ EHIA และมีเจตนารมณ์ให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” เพิ่มความคุ้มครอง “สิทธิการมีส่วนร่วม” และเพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดี ถูกยื่นเสนอขอแก้ไขจากหน่วยงานของรัฐบางแห่ง เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์เป็นไปตามความต้องการในอนาคต รวมทั้ง สปช.บางกลุ่มก็ยังยื่นขอตัดบางมาตราที่อาจส่งผลให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมต้องยุติบทบาทลง

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุว่า ยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขด้านเวลาที่กระชั้นชิดมากเกินไป จากที่คิดว่าจะอยู่ได้อีก 8 เดือนเป็นอย่างน้อย กลับหดแคบเหลือเพียง 3 เดือน จึงจำเป็นต้องเร่ง และใช้วิธีจัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนที่จำเป็นต้องปฏิรูป เช่น เรื่องของการกระจายอำนาจ เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน อีกเรื่องก็คือเรื่องกระบวนการยุติธรรม เพื่อกระบวนการอื่นๆ เดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ความเห็นที่แตกต่างกันมากในเรื่องการปฏิรูปแต่ละด้านเป็นข้อจำกัดอีกส่วนหนึ่ง ด้วยแนวคิดและประสบการณ์ของกรรมาธิการทำให้การหาทางออกจากปัญหาต่างกัน ทั้งยังมีเงื่อนไขด้านเวลาที่มีอยู่น้อยยังทำให้การหาความเห็นร่วมกันเป็นไปได้ยาก

ขณะที่ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ เปิดเผยว่า ในสปช.มีความแตกต่างทางความคิดกันมาก ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องดี แต่ทำให้การเดินไปข้างหน้าสะดุด ทั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สมบูรณ์ที่สุด และเป็นความหวังที่จะสามารถปฏิรูปสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ ประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้ประโยชน์สูงสุด แต่กลับมีความพยายามของคนบางกลุ่มที่จะตัดทอนให้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอ่อนแอลง หรือย้อนกลับไปเหมือนร่างรัฐธรรมนูญปี 2540

“มีกฎหมายบางฉบับของประชาชนที่กรรมาธิการโหวตสวนขึ้นมาว่าไม่เห็นด้วย แม้ว่าจะอยู่ในกรรมาธิการเดียวกันก็ไม่เห็นด้วย เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่มิติที่ตัวเองเชื่อหรือมิติที่ตัวเองเข้าใจมาตลอด แต่ว่าพอเวลาตัวเองเสนอก็เสนอแบบเดิมๆ กฎหมายบางฉบับปรับปรุงแล้ว แต่เสนอถอยหลังไปอีกเป็น 10 -20 ปี คนที่เคยเป็นข้าราชการเก่าๆ ก็ยังยึดติดแบบเก่า ๆ ไม่เปลี่ยนอะไรเลย แม้จะมีความพยายามเสนอแนวทางการปฏิรูปแบบใหม่ เขาก็บอกว่าไม่ใช่รูปแบบที่เขาถนัด ส่วนบางคนตอนประชุมเสนอความเห็นไม่เคยอยู่ แต่แหย่ขาเข้ามาค้านอย่างเดียว” นายหาญณรงค์กล่าว

กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่า รัฐธรรมนูญจะต้องปรับปรุงแล้วเสร็จภายในวันที่ 4 กันยายนนี้ ซึ่งเหลือเวลาประมาณ 60 วัน ทำให้เวลาที่เหลือส่วนใหญ่ต้องเร่งรัดจัดทำรายงานให้แล้วเสร็จ ทำให้เนื้อหาในรายงานไม่สมบูรณ์ โดยจะระบุแค่เพียงเนื้อหาแต่ไม่ลงรายละเอียดแนวทางการปฏิบัติได้จริง รวมทั้งขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของแต่ละภาคส่วนก็ไม่สามารถทำได้
เช่นเดียวกับนายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ ที่ทิ้งท้ายว่าแม้จะมีการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนไปแต่ก็จะพยายามให้เนื้อหาภาคปฏิรูปดำรงอยู่ โดยคงสาระ ทิศทาง และหลักการสำคัญไว้ แต่จะมีความกระชับเพื่อตอบสนองคำแก้ไขของภาคส่วนต่าง ๆ แล้วเอารายละเอียดที่เคยเขียนอยู่เดิมที่ถูกตัดออกไปถ่ายลงในพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูป ซึ่งจะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกฉบับที่จะมาขยายเนื้อหารายละเอียดและกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป

ด้านนางศยามล ไกรยูรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ในด้านที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทาง คปก.มีข้อเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเฉพาะมาตรา 57 เป็นสิทธิในการพัฒนา โดยมีหลักการสำคัญ คือสิทธิในการมีส่วนร่วม สิทธิได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียม สิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจง และเหตผลจากหน่วยงานรัฐก่อนการอนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อ่านมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย

“เห็นได้ว่าเราจะมุ่งเน้นในเรื่องของสิทธิ ยังมีเรื่องของสิทธิในที่ดิน และสิทธิในสิ่งแวดล้อมอีก และให้ความสำคัญกับหลักการประเมิน EIA และ EHIA ต้องสอดคล้องกับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA)และยังมีเรื่องของการรับฟังความเห็นของประชาชน การรับรองสิทธิในการฟ้องหน่วยงานของรัฐ ทั้งหมดเป็นเรื่องสิทธิของประชาชนทุกด้าน เพราะต่อไปมันจะกลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างเศรษฐกิจเสรี กับเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เราจะเอาอย่างไร สิ่งใดที่จะกระทบต่อผู้บริโภคและหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งหลังจากเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยังมีหลายประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน” รองเลขาธิการ คปก.กล่าว

นายภาคภูมิ พิธานรติวัฒน์ จากสมัชชาองค์กรชุมชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนเองไม่มีความคาดหวังว่าจะสามารถปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมได้ในรัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้า เพราะการผลักดันการปฏิรูปสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเรื่องความเติบโตของตัวเลขมากกว่าการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม การออกนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายจังหวัดและโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทำลายสิทธิชุมชนลงทั้งหมด

“ถ้ามีการพัฒนาที่มุ่งเน้นความยั่งยืนตั้งแต่แรก ก็ไม่มีปัญหาตามมา แต่ทุกโครงการมีแต่ตัวเลขของเงินงบประมาณ แต่ไม่มีการศึกษาผลที่จะตามมา สุดท้ายภาคประชาชนต้องหันกลับมาทบทวนกันว่า เราต้องเริ่มต้นปฏิรูปด้วยตนเอง ต้องร่วมกันแสดงพลังออกมา ทุกวันนี้นายกรัฐมนตรีจิบน้ำชากับพ่อค้านายทุน ไม่ได้มาจิบน้ำชากับภาคประชาชนเลย ส่วน สปช.ก็มีข้าราชการมากเกินไป เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งงานส่วนตัวก็เยอะอยู่แล้ว จะเอาเวลาไหนมาพิจารณาเรื่องปฏิรูปอีก”

ตัวแทนจากสมัชชาองค์กรชุมชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า วันที่ 24 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ภาคประชาชนจะไปรวมตัวกันที่หมุดประชาธิปไตย ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่ออ่านคำประกาศเจตนารมณ์เพื่อผลักดันการปฏิรูปให้เป็นจริง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง