"ตรุษจีน" เงินสะพัด 13,150 ล้าน คนกรุงประหยัดมากขึ้น

เศรษฐกิจ
14 ม.ค. 63
08:16
750
Logo Thai PBS
"ตรุษจีน" เงินสะพัด 13,150 ล้าน คนกรุงประหยัดมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงตรุษจีนปีนี้อยู่ที่ประมาณ 13,150 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อน เนื่องจากภาวะกำลังซื้อไม่เอื้อ ขณะที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและผลไม้จากภาวะภัยแล้ง

วันนี้ (14 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 13,150 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยให้น้ำหนักกับภาวะกำลังซื้อที่ไม่เอื้อเหมือนเช่นปีก่อนๆ ส่งผลให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่มีลำดับความสำคัญน้อยและสามารถปรับลดลงได้ จะมีสัดส่วนการหดตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูง และมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเม็ดเงินค่าใช้จ่ายรวม ได้แก่ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ ซึ่งนอกจากผลทางด้านกำลังซื้อแล้ว บางส่วนยังเพิ่งทำกิจกรรมนี้ไปเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ขณะที่เม็ดเงินการแจกแต๊ะเอีย ซึ่งปรับลดลงทั้งในส่วนของจำนวนคนที่ให้และจำนวนเงินเฉลี่ยต่อคน คาดว่าจะกระทบต่อความคึกคักของธุรกิจที่พึ่งเม็ดเงินส่วนนี้ อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และร้านทอง

ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจาก "เครื่องเซ่นไหว้"

สำหรับในส่วนของค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมหลักของเทศกาล ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่ากิจกรรมอื่นๆ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถูกตัดทอนลงจนเหลือเท่าที่จำเป็นแล้ว โดยจากผลสำรวจที่เกิดขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินเม็ดเงินค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 ของคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยแยกเป็นเม็ดเงินที่เกี่ยวกับเครื่องเซ่นไหว้ 5,900 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ 3,750 ล้านบาท และเงินค่าแต๊ะเอีย 3,500 ล้านบาท

จับตา "ภัยแล้ง" กระทบราคาอาหาร-ผลไม้

ส่วนต้องจับตาเพิ่มเติมก็คือ ปัญหาภาวะภัยแล้งในปีนี้ที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งหากส่งผลให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผลไม้ที่ใช้ในเทศกาล เพิ่มขึ้นสูงกว่าการปรับราคาในช่วงเทศกาลปีก่อนๆ ที่จะปรับสูงขึ้นประมาณร้อยละ 15-20 ก่อนเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์อาจปรับขึ้นน้อยกว่า ซึ่งจากการติดตามประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ พบว่าระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งในปีดังกล่าวที่ราคาผลไม้ที่นิยมใช้เซ่นไหว้ปรับสูงขึ้นก่อนช่วงเทศกาลถึงร้อยละ 25-30 จึงคาดว่าราคาผลไม้บางรายการในปีนี้จะปรับสูงขึ้นมากกว่าช่วงตรุษจีนปีก่อนๆ ที่ไม่มีภัยแล้ง สำหรับในส่วนของเนื้อสัตว์นั้นน่าจะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากความต้องการจากทั้งในและต่างประเทศที่สูง ภายหลังการเกิดโรคระบาดในสุกรในหลายประเทศ

ราคาสินค้าแพงไม่กระทบกลุ่มผู้มีรายได้สูง

ทั้งนี้ ราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับขึ้นสูงกว่าปกติ อาจไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง หรือกลุ่มที่ได้เตรียมงบประมาณไว้แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้มีสัดส่วนร้อยละ 53.7 ของกลุ่มที่ตอบแบบสอบถาม แต่ปัจจัยดังกล่าวจะมีผลสำหรับกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 46.3 โดยกลุ่มนี้เลือกที่จะปรับลดงบประมาณในสินค้าทุกกลุ่ม ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก/ผลไม้ ขนม ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจอาจจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวัง ประเด็นการตั้งราคาสินค้า ที่ต้องสื่อให้เห็นถึงความประหยัดคุ้มค่าคุ้มราคา โดยอาจพิจารณาจำหน่ายชุดเซ่นไหว้ที่ประหยัด ลดทอนขนาดหรือปริมาณลง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนรายได้ระดับปานกลาง ที่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นด้านกำลังซื้อค่อนข้างสูง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง