ฝุ่นกรุงเทพฯ วิกฤตถึงระดับ 4 ชงเสนอยาแรง

สิ่งแวดล้อม
14 ม.ค. 63
12:48
1,556
Logo Thai PBS
ฝุ่นกรุงเทพฯ วิกฤตถึงระดับ 4 ชงเสนอยาแรง
กรมควบคุมมลพิษเฝ้าระวังช่วงครึ่งหลังเดือน ม.ค.สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองอาจสูงขึ้น ส่วนหนึ่งจากปัจจัยสภาพอากาศ ขณะที่ปลัด ทส.เรียกประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษบ่ายวันนี้ (14 ม.ค.) ถกมาตรการแก้ปัญหาก่อนเสนอ ครม.

วันนี้ (14 ม.ค.2563) นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ต้องจับตาช่วงครึ่งหลังของเดือน ม.ค.นี้ เพราะเป็นช่วงที่สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะรุนแรงขึ้น เนื่องจากมความกดอากาศต่ำแผ่ลงมาปกคลุม จากการติดตามพบว่าช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้มีค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐาน 8 วัน ขณะที่ภาพรวมของเดือน ม.ค.2562 พบว่ามีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 23 วัน

นายประลอง ระบุว่า มลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหาคือ ฝุ่นละออง PM2.5 ฝุ่นละออง PM10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปีที่ผ่านมา ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัด ที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน มากกว่าร้อยละ 20 จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี

เตือนว่าใน กทม.มีการประกาศใช้กฎหมายเหตุเดือดร้อนรำคาญแล้ว หากพบว่าใครเผาหญ้า เผาขยะ โดยทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันจะถูกดำเนินคดี จำคุก 3 เดือน ปรับ 25,000 บาท ขณะเดียวกันยอมรับว่าถ้าจะลดฝุ่นด้วยการจอดรถทั้งหมด คงทำไม่ได้

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในเวลา 14.00 น.ได้เรียกประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เชิญทุกหน่วยงานหารือถึงแนวทางการควบคุมเพื่อออกมาตรการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เบื้องต้นจะต้องดูข้อมูลว่าแต่ละหน่วยงานที่อยู่ภายใต้แผนปฎิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละอองนี้ ได้บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มข้นเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งสาเหตุและปัจจัยการเกิดฝุ่น PM2.5 ที่ชัดเจน ซึ่งวันนี้ (14 ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการชัดเจนให้มีแนวทางมาตรการแก้ปัญหา

โดยหลังประชุมวันนี้ ทส.จะชงระเบียบและมาตรการเสนอ ครม.และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อบังคับให้ทุกหน่วยงานใช้กฎหมายของตัวเองที่มีอยู่อย่างจริงจัง เช่น กรมการขนส่งทางบก ต้องกำหนดตัวเลขการลดควันดำลงกี่เปอร์ซ็นต์ เพราะขณะนี้กว่าร้อยละ 70 ของค่าฝุ่นมาจากรถยนต์

ชงใช้ยาแรงแก้ฝุ่น PM2.5

เมื่อถามว่าเหตุผลเพราะหน่วยงานยังไม่เข้มข้นในการแก้ปัญหาฝุ่นหรือไม่ ปลัด ทส.ระบุว่า หากเทียบสถานการณ์ปีนี้ยังมีค่าดีกว่าปี 2562 แต่ยังไม่ถือว่าดีเพียงพอที่จะทำให้ฝุ่นลดลง ดังนั้นจึงต้องมีระเบียบหรือมาตรการออกมา

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ มีการสรุปค่าฝุ่นละอองสูงสุด ในวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา เขตภาษีเจริญ วัดค่าฝุ่นได้ 101 มคก./ลบ.ม. และ จ.สมุทรสาคร 109 มคก./ลบ.ม. ซึ่งค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. หากดูตามแผนเผชิญเหตุที่กรมควบคุมมลพิษเสนอแผนปฎิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละออง ได้กำหนดแผนไว้ 4 ระดับ สูงสุด 100 มคก./ลบ.ม ต้องเสนอมาตรการต่อ ครม.ให้นายกรัฐมนตรีบังคับใช้

ขณะที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 34 วัน เป็น 59 วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 73) จุดความร้อนสะสมมีค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 4,722 จุด เป็น 10,217 จุด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 54) และพบค่าปริมาณฝุ่นละออง PM10 สูงสุด เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 233 มคก./ลบ.ม. เป็น 394 มคก./ลบ.ม. สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและมีเชื้อไฟสะสมมากเกิดการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองจำนวนมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง