คพ.-ส.อ.ท.เล็งใช้ถุงพลาสติกแบบหนาทดแทน "ก๊อบแก๊บ"

สิ่งแวดล้อม
20 ม.ค. 63
13:22
4,125
Logo Thai PBS
คพ.-ส.อ.ท.เล็งใช้ถุงพลาสติกแบบหนาทดแทน "ก๊อบแก๊บ"
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เตรียมถกตลาดสด -ส.อ.ท.มองทางเลือกผลิตถุงพลาสติกแบบหนาใช้ได้ 30 ครั้งแทนถุงก๊อบแก๊บ ชี้ราคายังต่างกันเฉลี่ย 40 สตางค์ต่อใบ แต่หากใช้ซ้ำได้ถึง 30 ครั้งก็จะใช้ทดแทน โดยเฉพาะในตลาดสด โดยจะหารือวันที่ 23 ม.ค.นี้

กรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รณรงค์ให้ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้างดการใช้ถุงพลาสติก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ (20 ม.ค.2563) นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางคพ.ได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เกี่ยวกับทางเลือกในการใช้ถุงพลาสติกแบบหนาที่มีขนาด 45-50 ไมครอนมาใช้แทนถุงพลาสติกหูหิ้วขนาด 36 ไมครอนที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เนื่องจากมองว่าถึงแม่จะตั้งเป้าลดถุงพลาสติกหูหิ้วที่ใช้มากถึง 45,000 ล้านใบลงได้ แต่ในกลุ่มตลาดสด และร้านค้าโชว์ห่วยยังลดได้น้อย

อธิบดี คพ.กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังมองว่าถ้ามีถุงพลาสติกแบบหนา ใช้ได้ประมาณ 30 ครั้งมาผลิตทด แทน และยังรีไซเคิลได้ โดยหารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.ว่าวัตถุประสงค์คือไม่ต้องการขยะเพิ่ม แต่เน้นลดขยะถ้าใช้ซ้ำได้จะลดขยะลงไปได้ โดยถุงแบบหนา 1 กิโลกรัมจะมีประมาณ 80 ใบราคาเฉลี่ยใบละ 40-50 สตางค์ ส่วนถุงหูหิ้วใช้ครั้งเดียวมี 400 ใบต่อกิโลกรัมเฉลี่ย 20 สตางค์ต่อใบ'

 

ทั้งนี้พบว่าขยะถุงพลาสติก 45,000 ใบนั้น 30% มาจากห้างสรรพสินค้า-ร้านสะดวกซื้อ แต่อีก 30% มาจากร้านโชว์ห่วย และอีก 40% มาจากตลาดสด ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อไปที่จะลดการใช้ลง

วันที่ 23 ม.ค.นี้จะหารือกับตลาดสดใน กทม.เช่น ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง ว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้หรือไม่ ถ้าสังคมยอมรับทางเลือกนี้ก็ได้ผลิตถุงแบบหนามาใช้แทนถุงก๊อบแก๊บ

ส.อ.ท.แนะขายถุงพลาสติก

ด้านนายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายดังกล่าว เริ่มสร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการ และผู้บริโภคบ้างแล้ว โดยผู้ประกอบการบางราย มียอดขายลดลง เพราะผู้ซื้อนำสินค้ากลับบ้านได้ลำบาก ทำให้ร้านค้า และร้านสะดวกซื้อบางแห่งเริ่มนำถุงพลาสติก ที่ไม่พิมพ์โลโก้ร้านกลับมาให้บริการกับลูกค้าบ้างแล้ว

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา เสนอว่า รัฐบาลควรยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกชนิดบาง แต่ยังเปิดให้ใช้ถุงพลาสติก แบบหนาตั้งแต่ 36 ไมครอนขึ้นไป เพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครับ

รวมทั้งควรจะออกมาตรการให้จำหน่ายถุงพลาสติกแทนการแจกฟรี ในอัตรา ใบละ 2-3 บาท โดยแบ่งเป็นต้นทุนค่า ถุงพลาสติก และโครงการรักษาสิ่งแวดล้อมของร้านค้าไม่เกิน 50 สตางค์ต่อใบ ให้กับร้านค้า และที่เหลืออีก 1.50 - 2 บาท ก็นำส่งเข้ากองทุนต่างๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และการกำจัดขยะที่ถูกต้อง

นำถุงไปกำจัดถูกวิธี-ลดมลพิษตกค้าง

นอกจากนี้ ควรให้ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ เป็นผู้รวบรวมถุงพลาสติกที่ชำรุดส่งไปกำจัดให้ถูกต้อง ไม่ให้มี ถุงพลาสติกสร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้บริโภคที่ใช้ถุงพลาสติกจนชำรุด สามารถนำมาแลกซื้อถุงใบใหม่ในราคาต่ำ เพื่อจูงใจให้นำถุงพลาสติกเข้าสู่ระบบกำจัดที่ถูกต้อง


มาตรการนี้ จะค่อยๆทำให้ถุงพลาสติกลดลง เพราะไม่ได้แจกฟรี ทำให้ผู้บริโภคนำถุงพลาส ติกเก่ากลับมาใช้งานมากขึ้น และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ลืมนำถุงมา

ที่สำคัญยังมีเงินไหลมาเข้ากองทุนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีเงินเข้ากองทุนหลายพันล้านบาทต่อปี และคาดว่าภายใน 10 ปี จะลดขยะพลาสติกลงได้ 50% เละสามารถนำขยะพลาสติกเหล่านี้ไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด

ส่วนการส่งเสริมให้มาใช้ถุงพลาสติกชีวภาพ มองว่าจะช่วยบรรเทาปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด เพราะการย่อยสลายของ ถุงพลาสติกชีวภาพจะต้องอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม หากปล่อยทิ้งลงแม่น้ำ ลำคลอง ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดอันตรายได้แบบพลาสติกทั่วไป

สำหรับมาตรการต่างๆ ส.อ.ท.จะนำเสนอเข้าสู่คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อร่วมกันผลักดันภับภาคเอกชนให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง