"สมชาย" ระบุบางพรรคทำนิติกรรมอำพรางกู้เงิน ชี้อย่าตะแบง

การเมือง
17 ม.ค. 63
15:27
1,042
Logo Thai PBS
"สมชาย" ระบุบางพรรคทำนิติกรรมอำพรางกู้เงิน ชี้อย่าตะแบง
สมาชิกวุฒิสภา แจงเหตุตามการพิจารณากฎหมายพรรคการเมืองยุค กรธ. เรื่องที่มารายได้ของพรรคการเมือง กรธ.ตัดอนุมาตราเรื่องรายได้อื่นๆออก เพราะอดีตพรรคการเมืองทำนิติกรรมอำพรางด้วย "เงินกู้"

วันนี้ (17 ม.ค.2563) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีมติเสียงข้างมากส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่คดีกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาทเศษที่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2560 มาตรา 62มาตรา 66 และมาตรา 72

ขณะที่ดูเหมือนจะมีใครบางคนพยายามปั่นข่าวสร้างกระแสความสับสนให้สังคมและมวลหมู่สมาชิกแฟนคลับว่า ถ้าจะยุบพรรคอนาคตใหม่เพราะเงินกู้นั้น ต้องยุบพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย เพราะกู้เงินแบบเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ เรื่องนี้เป็นการอ้างข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ตลกมาก ดูไปเหมือนตั้งใจจะทำให้สังคมสับสน หรือมีวัตถุประสงค์แอบแฝงช่วยไม่ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

 

นายสมชายระบุว่า ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงนั้น ยังคงเป็นเช่นนั้นและเปลี่ยนแปลงความยุติธรรมไม่ได้ เพราะชัดเจนว่าพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญพรรคการเมืองปี 2560 กับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญปี 2550 แตกต่างกันในส่วนสำคัญมาก ในการที่ผู้ยกร่างและผู้พิจารณากฎหมายตัด (7) ของมาตรา 53 ซึ่งเป็นเรื่องรายได้อื่นๆของพรรคการเมือง ที่เคยแอบใช้วิธีนิติกรรมอำพราง การจ่ายเงินลงขันธุรกิจการเมืองของบรรดานายทุนพรรคในรูปแบบเงินกู้มาตลอด เรื่องนี้ทั้ง.กกต.และศาลรัฐธรรมนูญมีพยานเอกสารบันทึกไว้ครบถ้วน ไม่ต้องไต่สวนเพิ่มเติมอีก

ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายนั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.เห็นตรงกันในประเด็นนี้ว่า พรรคการเมืองและนายทุนนักธุรกิจการเมืองมักสร้างปัญหานิติกรรมอำพรางแบบนี้ จึงตัดออกจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญพรรคการเมืองที่กกต.เสนอร่างมา มีการหารือในประเด็นนี้ชัดเจน ไม่ต้องสงสัย

นอกจากนั้น ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายดังกล่าว มิได้ปรับปรุงตัดทอนเพิ่มเติมมาตรานี้แต่ประการใดอีก และยังได้มีการบันทึกการสอบถามความเป็นมาของการตัดอนุมาตรานี้ในที่ประชุมโดยผู้บริหารกกต.และตัวแทนกรธ.ชี้แจงไว้ชัดเจนเช่นกันว่า “ตัดอนุมาตรานี้เพราะไม่ให้พรรคการเมืองไปแอบทำนิติกรรมอำพรางในรูปแบบเงินกู้เช่นเดิมอีก”

 การที่บางท่านเสนอต่อสังคมให้สับสนว่า มีพรรคการเมืองจำนวนมากกู้เงินแบบเดียวกันนั้น นายทะเบียนต้องเสนอยุบแบบเดียวกันนั้น จึงขอเสนอว่า กกต.ต้องพิจารณาเช่นเดียวกันกับกรณี ส.ส.และ ส.ว.ถูกกล่าวหาว่า ถือครองหุ้นสื่อมวลชน เช่นเดียวกับกรณีที่นายธนาธร ถูก กกต.และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่านายธนาธรถือหุ้นสื่อมวลชนบริษัทวีลัคมีเดียจริง ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ ส.ส.และส.ว.คนอื่นอยู่ในระหว่างไต่สวนและบางส่วนก็มีคำวินิจฉัยไปแล้วว่าการถือหุ้นบางอย่างเช่นร้านขายเครื่องเขียนสิ่งพิมพ์ มิใช่การถือหุ้นสื่อสารมวลชน

ส่วนกรณีที่อ้างว่าบางพรรคการเมืองมีการกู้เงินหลายสิบพรรคมากมายนั้น หาก กกต.ทำการตรวจสอบแล้วก็จะพบว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ว่านั้นเป็นการกู้เงินตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองเก่าปี 2550 การแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองในปี 2561 จึงยังคงจะต้องแจ้งเช่นนั้น

กรณีทำนองเดียวกันนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในกรณี ส.ส.และส.ว.ถือหุ้นสื่อและหุ้นสัมปทานเมื่อปี 2554 ว่ามีมาก่อนและไม่มีการซื้อหุ้นเพิ่มนั้น ไม่มีความผิด กรณีนี้เทียบเคียงเช่นเดียวกัน และเป็นการกู้ยืมก่อนแก้ไขกฎหมายชัดเจน

ส่วนถ้าพรรคการเมืองใดมีการกู้เงินทำนิติกรรมอำพรางหลังจากมีกฎหมายพรรคการเมืองปี 2560 มาตรา 62 ที่ตัดอนุมาตราเรื่องรายได้อื่นๆออกแล้ว และเข้าข่ายทำสัญญาเงินกู้แบบนิติกรรมอำพราง ก็ย่อมมีความผิด
กกต.ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้ยุบพรรคเช่นเดียวกันกับพรรคอนาคตใหม่ เรื่องนี้ทำให้ชัดเจนก็เท่านั้น ใครถูกว่าไปตามถูกใครทำผิดก็ต้องรับผิด อย่าตะแบงตีความกฎหมายกัน

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง