ไม่ยุบ “อนาคตใหม่” ศาลฯ ยกคำร้อง คดีล้มล้างการปกครอง

การเมือง
21 ม.ค. 63
14:23
3,221
Logo Thai PBS
ไม่ยุบ “อนาคตใหม่” ศาลฯ ยกคำร้อง คดีล้มล้างการปกครอง
ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องของณฐพร โตประยูร กล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

วันนี้ (21 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย กรณีนายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำ ของพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ หรือที่พรรคอนาคตใหม่เรียกว่า คดีอิลลูมินาติ

โดยมีใจความสำคัญ บางตอนระบุว่า ศาลได้วินิจฉัยประเด็นเดียวคือ การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 ประกอบด้วย อนค., นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค เข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

เมื่อพิจารณาคำร้อง และเอกสารประกอบที่ผู้ร้องอ้างถึง การออกข้อบังคับพรรค การจัดทำนโยบายพรรค และสัญลักษณ์ของพรรคว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ศาลเห็นว่าข้อบังคับพรรคเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนในการจัดตั้งพรรคการเมือง อันเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งต่อมานายทะเบียนพรรคการเมือง ก็รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรค และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

ข้อบังคับพรรค ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่า ข้อบังคับไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะรายงาน กกต. ให้เพิกถอนข้อบังคับได้ จึงไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานเพียงพอว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 4 ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 ที่ระบุว่า

บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่า มีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ การยื่นคำร้องเป็นเพียงข้อห่วงในฐานะพลเมือง ต่อสถาบัน พระมหากษัตริย์และประเทศชาติเท่านั้น

ส่วนข้อบังคับของพรรคอนาคตใหม่ ที่ใช้คำว่า “หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การใช้ถ้อยคำในข้อบังคับของพรรคควรให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ หรือแตกต่างจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกของชนในชาติได้ พร้อมระบุว่า กกต. มีหน้าที่และอำนาจจะให้พิจารณาเพิกถอนข้อบังคับพรรคได้ตามกฎหมาย และสมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้แก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง