"เทศกาลเก็บเกี่ยว" รู้เส้นทางอาหารปลอดภัย

ไลฟ์สไตล์
22 ม.ค. 63
14:35
1,628
Logo Thai PBS
"เทศกาลเก็บเกี่ยว" รู้เส้นทางอาหารปลอดภัย
ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวตั้งแต่ปลายปีต่อเนื่องต้นปี หลายพื้นที่จัดงานเทศกาลข้าวใหม่ ชวนคนมาลิ้มรสข้าวไทยหลากหลายสายพันธุ์ที่เปี่ยมคุณประโยชน์ พร้อมเรียนรู้ที่มาของข้าว "พิชญาพร โพธิ์สง่า" มีเรื่องราว "เทศกาลเก็บเกี่ยว" ที่ทำให้เห็นกระบวนการส่งต่ออาหารอินทรีย์

เจดีย์ข้าวเปลือก - วัฒนธรรมข้าว

ตั้งนโม 3 จบ แล้วอธิษฐานถึงพระคุณของข้าว พร้อมถวายเป็นพุทธบูชา หน้าเจดีย์ข้าวเปลือก เป็นพิธีกรรมของชาวนาในอดีต สะท้อนวัฒนธรรมการปลูกข้าวที่หาได้ยากในปัจจุบัน
 


เทศกาลเก็บเกี่ยว
ตลาดบ้านรังนก จ.นครปฐม ตลาดอินทรีย์ที่ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นแหล่งซื้อขาย แต่ยังมีบทบาทสร้างสายพานอาหารยั่งยืน ส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้าน รักษามรดกทางวัฒนธรรมอาหารเอาไว้พร้อม ๆ กัน

ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมพบว่า ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก หรือบุญข้าวเปลือก เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน มีความเชื่อว่า การเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉาง มีความผูกพันตามวิถีชุมชน เริ่มจากการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว แสดงถึงความรักความสามัคคี จึงได้จัดงานบูชาแม่โพสพหรือพระแม่โพสพ (ก่อเจดีย์ข้าวเปลือก) โดยถือคติความเชื่อที่ว่า เมื่อนำข้าวในนาขึ้นสู่ยุ้งฉาง ควรจะมีการสรรเสริญบูชา และบวงสรวงคุณข้าว คุณน้ำ อันเป็นความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าหรือเทพาอารักษ์ เพราะข้าวมีคุณค่าอเนกอนันต์ต่อมวลมนุษย์ จนถือเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง โดยเรียกเทพเจ้าองค์นี้ว่า “แม่โพสพเป็นเทวีแห่งข้าว” 


พิเชษฐ์ นิลสุข
ผู้จัดการตลาดบ้านรังนก บอกว่า อยากให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นประเพณี ความเชื่อ ความคิดของคนสมัยก่อน และความสำคัญของข้าวที่เชื่อมโยงกับวิธีคิดและวิถีชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไปในปัจจุบัน ยุคที่คนกินอาจไม่รู้ถึงที่มา

เจดีย์ข้าวเปลือกนี้ จะช่วยให้ชาวนารู้สึกถึงความเป็นสิริมงคล เมื่อนำข้าวไปปลูก ก็จะช่วยให้มีกำลังใจในการทำนามากขึ้น เราจึงอยากชวนชาวนา และคนเมืองมาร่วมกิจกรรมด้วยกัน

พันธุ์ข้าวหลากหลายให้เลือกสรรค์


ภาพส่วนหนึ่งของพันธุ์ข้าวทั้งหมดกว่า 80 สายพันธุ์ ที่ มูลนิธิข้าวขวัญ นำมาแสดงเป็นตัวอย่าง แยกลักษณะให้ชม ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารที่แล้วสีแล้ว หลาย ๆ สายพันธุ์เป็นข้าวพันธุ์หายาก ที่หลายคนบอกว่าเคยเห็นเป็นครั้งแรก ซึ่งโภชนาการหรือคุณประโยชน์ของข้าวแต่ละชนิดก็ต่างกันไป เรื่องราวน่าสนใจเหล่านี้ ถูกถ่ายทอดโดยเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิข้าวขวัญ ที่พร้อมส่งต่อองค์ความรู้เรื่องข้าวให้กับผู้มาร่วมงาน

หากใครจะซื้อวัตถุดิบไปปรุงอาหารที่บ้านก็มีจำหน่าย เช่น ข้าวหอมนครชัยศรี ข้าวพื้นเมืองนครปฐม รสชาติอร่อย คล้ายข้าวหอมมะลิ แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะ รสชาติ ทั้งยังเป็นข้าวนาปีที่ดูแลง่าย ไวต่อแสง ไม่กินปุ๋ย และต้านทานโรคได้ดี พ่อค้าแม่ขายบอกว่า ถ้าปลูกข้าวพื้นถิ่น โอกาสเติบโตก็ง่าย ได้ผลผลิตดีเหมือนอยู่ถูกที่ถูกทาง จึงไม่จำเป็นต้องปลูกข้าวแบบฝืนธรรมชาติ หรือปลูกข้าวพันธุ์เดียว ขายตลาดทั่วประเทศ แล้วใช้สารเคมีเร่งโต ที่อาจตกค้างเป็นพิษต่อทั้งคนปลูกและคนกิน

 


คนกินเองก็คงรู้สึกอิ่มท้องพร้อมอิ่มใจ หากได้กินข้าวพร้อมกับเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมไปในตัว

ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาเจอกัน

เทศกาลเก็บเกี่ยว ยังมีสินค้าเกษตรประเภทอื่นมาแบ่งปันด้วย ซึ่งสิ่งที่ทำให้ตลาดบ้านรังนกต่างจากตลาดข้างบ้านทั่วไป เพราะสินค้าทุกชิ้นล้วนมีที่มา และจะทราบได้จากเกษตรกรที่นำผลผลิตของตัวเองมาขายด้วยตัวเอง เครือข่ายเกษตรกรเหล่านี้ ยังร่วมกันสร้างระบบรับรองคุณภาพของสินค้าอย่างมีส่วนร่วม หรือ PGS ที่มีการตรวจสอบกันเองอย่างมีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ โปร่งใส และผู้บริโภคก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้เช่นกัน เช่น แวะไปชมบ้านสวนของเกษตรกรสักราย เพื่อดูวิถีการผลิตแบบอินทรีย์

 


เมื่อไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ก็ช่วยให้ราคาของสินค้าเกษตรอินทรีย์และข้าวอินทรีย์ถูกลงด้วย ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าคุณภาพดีในราคาที่พร้อมจ่าย ส่วนเกษตรกรก็มีรายได้สมน้ำสมเนื้อ ไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางเหมือนที่ผ่านมา ส่วนต้นทุนก็ต่ำ เพราะอยู่ในความดูแลของผู้จัดตลาด “โครงการศาลานา” ธุรกิจเพื่อสังคม ที่คิดค่าเช่าต่อร้านเพียง 50 บาทต่อวันเท่านั้น

คำถามว่ามาตรฐานสินค้าจะปลอดภัยได้อย่างไร เช่น มีการสร้างแนวกันชน มีการดูระบบน้ำทุกอย่าง กว่าจะได้มาขายของที่นี่ ก็จะเป็นการทดสอบมากมาย นอกจากนี้ เราจึงมีกิจกรรมที่ให้คนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลของเกษตรอินทรีย์ และข้าวพื้นบ้าน รวมถึงเกษตรผสมผสาน

 

พื้นที่สำหรับครอบครัว

หากใครไม่เน้นงานครัวหรือทำกับข้าว แต่อยากใช้เวลาดี ๆ กับครอบครัว ตลาดแห่งนี้ก็เปิดต้อนรับ มีโปรแกรมดี ๆ ให้เข้ามาร่วมกิจกรรม อย่างมื้ออาหารค่ำใต้แสงจันทร์ กินข้าวปิ่นโตจากเชฟมากฝีมือ ปรุงจากวัตถุดิบอินทรีย์สดใหม่ และฟังดนตรีเพราะ ๆ นับเป็นช่วงพิเศษที่สุดของเทศกาลนี้


ข้าวหอมปทุมเทพ ข้าวทองระย้า ข้าวหอมนครชัยศรี ข้าวหอมช่อราตรี ข้าวหอมมะลิแดง
ที่เพิ่งเกี่ยวใหม่ ๆ ถูกเสิร์ฟพร้อมกับข้าวใส่ปิ่นโต ซึ่งข้าวแต่ละชนิด มีรสชาติที่ต่างกัน แล้วแต่รสนิยมของคนกินที่จะพิจารณาว่า ข้าวสายพันธุ์ไหนเหมาะที่จะกินกับอะไร ซึ่งโอกาสที่จะได้กินข้าวใหม่แบบนี้หาไม่ได้ง่าย

 

 

เราควรให้ความสำคัญและทำความเข้าใจ ว่าจริง ๆ แล้ว ข้าวในบ้านเรามีหลากหลาย และเราควรกินอย่างหลากหลายด้วย ก็อยากให้รู้จัก อยากให้ลองดู ว่ามันไม่ใช่มีแค่ข้าวขาว ข้าวดำ แต่มันมีหลากหลายมาก

 

 

ก็อยากให้คนได้เปิดใจ ได้ลอง แล้วก็สนับสนุนชุมชน สนับสนุนคนที่ปลูกข้าวที่ดี ข้าวที่ไม่มียาฆ่าแมลง ไม่มีสารเคมี ผมว่านี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ภานุภน บุลสุวรรณ หรือ "เชฟแบล็ก" แห่ง Blackitch Artisan Kitchen เชฟเทเบิ้ลท้องถิ่นจาก จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการจัดอาหารมื้อนี้


ท้ายที่สุดแล้ว ความตั้งใจสูงสุดของผู้จัดการตลาด อาจไม่ได้มุ่งเพียงผลกำไรจากการขายอย่างเดียว แต่ต้องการขับเคลื่อนสายพานอาหารยั่งยืน ที่เชื่อมร้อยคนปลูกคนกิน และผลที่จะเกิดกับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ดังที่ พิเชษฐ์ ผู้จัดการตลาดบ้านรังนก ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้

เราอยากชูให้คนได้กินข้าวไทยกินข้าวดี ๆ นอกจากสถานการณ์เศรษฐกิจของข้าว ยังมีเรื่องสุขภาพ ตอนนี้เราพูดว่าคนป่วยในระบบทางเดินอาหารเยอะมาก หากลองเปิดใจ ปรับการกิน หากการกินเปลี่ยน ก็จะส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจและสาธารณสุข รวมถึงด้านอื่น ๆ ด้วย

พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง