ฝุ่นพิษอาบแผ่นดิน

Logo Thai PBS
ฝุ่นพิษอาบแผ่นดิน
เมื่อผลกระทบขยับเข้าใกล้ ความตื่นตัวต่อปัญหาฝุ่นละอองก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้น สู่วาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนส่งเสียงเรียกร้องอากาศบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับภาคการเมืองที่ตอบสนองปัญหา “ฝุ่นพิษอาบแผ่นดิน” แตกต่างกัน

ผ่านแบบไม่ผู้คัดค้านเห็นต่าง สำหรับญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างเป็นระบบ รวมถึงญัตติของ “จิรายุ ห่วงทรัพย์” ใช้ข้อบังคับข้อที่ 50 ขอให้ส่งข้อเสนอแนะในการอภิปรายไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย

 

ภายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายพุ่งเป้าไปที่หลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาล หน่วยงานราชการ การบูรณาการทำงานที่ไม่ได้ผลจริง รวมถึงมาตรการ 12 ข้อ ที่ ครม.เห็นชอบไปเมื่อครั้งประชุมสัญจร

รัฐบาลต้องปรับทัศนคติ ไม่มองปัญหาฝุ่นเป็นเรื่องฤดูกาล ที่มาแล้วจะหายไปเอง อยากให้ประชาชนลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ก็ต้องลดราคาหรือฟรีค่าโดยสารรถสาธารณะ” องอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.ประชาธิปัตย์

เมื่อเกิดปัญหาฝุ่นควัน กรมควบคุมมลพิษต้องไปขอความร่วมมือหน่วยงานอื่น ที่เกี่ยวข้องกับต้นตอ ทั้งกระทรวงเกษตรฯ คมนาคม พลังงาน หรือต่างประเทศ จึงไม่มีอำนาจแก้ไขได้ เราไม่มีมีหน่วยงานกลางอย่าง EPA (Environmental Protection Agency) ไม่มีร่างกฎหมายอากาศสะอาด อยากให้ใช้ใจแก้ปัญหา เพราะ PM2.5 เกิดจากความเหลื่อมล้ำ ผู้มีอำนาจประชุมในห้องแอร์ นั่งรถส่วนตัวกลับบ้าน ไม่ต้องรอรถเมล์ ไม่ต้องคิดเรื่องเงินซื้อหน้ากากป้องกัน” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.อนาคตใหม่

PM2.5 เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ที่เห็นท้องฟ้ามืดมัวคือหมอกควันพิษ หรือ smog ฉะนั้นหากมองแค่ PM2.5 จะแก้ไขปัญหาได้แค่ครึ่งเดียว” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.อนาคตใหม่

คนไปโฟกัสว่าต้องไม่เผาอ้อยก่อนตัด สุดท้ายก็ต้องมาเผาใบอ้อยอยู่ดี เขาเผากันมาเป็นสิบ ๆ ปี เราไม่มีการส่งเสริมให้โรงไฟฟ้าสามารถรับซื้อใบอ้อยไปใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดการเผาได้ และไม่มีแหล่งทุนซื้อรถตัดอ้อย-เครื่องอัดใบ จึงต้องรีบเผาเพื่อส่งขาย” ไผ่ ลิกค์ ส.ส.พลังประชารัฐ

เนื้อหาบางช่วงเหล่านี้ สะท้อนความเห็นพ้องที่ฝ่ายค้านและรัฐบาล เห็นว่าปัญหานี้ใกล้ตัวและเรื้อรังมานาน เพราะอย่างภาคเหนือก็ประสบปัญหาฝุ่นควันหลายปี ทั้งควันที่เกิดในและประเทศเพื่อนบ้าน



มาตรการ 12 ข้อที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังปรากฏช่องโหว่ให้ชำแหละได้ทั้งที่ยังไม่ได้ใช้ เช่น บังคับรถบรรทุกวิ่งเข้าเมืองเฉพาะวันคี่, ตรวจจับควันดำทั้งรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมการเผา เฝ้าระวังฝุ่นจากการก่อสร้าง ซึ่งล้วนเอาตัวรอดไปได้ด้วยเล่ห์เหลี่ยมกลโกง และหากไม่แก้ไขที่สำนึก ก็ยากจะลดปัญหาฝุ่น

หากย้อนไปที่ข้อเสนอของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.อนาคตใหม่ ให้ใช้ใจแก้ไขปัญหา มองใจเขาใจเรา เรียกร้องหาสำนึกจากผู้มีอำนาจ

ขณะที่อุตสาหกรรมอ้อย กลายเป็นจำเลยตัวใหญ่ของปัญหา โทษฐานผู้ก่อ “หิมะดำ” สร้างผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง ความพยายามออกมาตรการเพื่อแก้ไข รวมถึงบทลงโทษห้ามเผาที่รุนแรง จำคุกสูงสุดถึง 7 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ใกล้เคียงกับโทษฐานชิงทรัพย์ คือจำคุก 5-10 ปี ปรับ 10,000 - 20,000 บาท เกษตรกรจึงสะท้อนความเดือดร้อนว่า หากทางออกถูกบีบตีบตันแบบนี้ คงต้องเลิกอาชีพปลูกอ้อยและไปทำงานอื่น
หากย้อนไปที่ข้อเสนอของ “ไผ่ ลิกค์” ส.ส.พลังประชารัฐ เรียกร้องการจัดการฝุ่นที่ต้นตอ

กลายเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต้องดูแลตัวเอง แม้จะมีหน่วยงาน องค์กร และพรรคการเมือง เหมาหน้ากาก N95 ไปแจกจ่ายบ้าง แต่ตัวการสำคัญยังลอยนวล

 

ฝุ่นพิษอาบแผ่นดินในปีนี้ สร้างกระแสตื่นตัวไม่ด้อยกว่า สารพิษอาบแผ่นดินเมื่อปีก่อน

หากมีกลไกทางสหกรณ์เหมือนปีก่อน เกษตรกรจะเข้าถึงแหล่งทุนเทคโนโลยี ให้มีทางเลือกมากกว่าแค่การเผา ไม่ถูกตัดตอนอุตสาหกรรมอ้อย ต้องเปลี่ยนมาหาอาชีพใหม่

หากมีกลไกลทางสาธารณสุขเหมือนปีก่อน ประชาชนจะเข้าถึงหน้ากากอนามัยคุณภาพดีราคาถูก ไม่ต้องเสี่ยงเดินฝ่าฝุ่น เสียเงินเสียทองรักษาโรคภัย

หากมีกลไกทางคมนาคมเหมือนปีก่อน เครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะถูกจำกัดการใช้อย่างเหมาะสม ไม่ก่อมลพิษบนถนนจนยากควบคุม

หากนึกย้อนแล้ว ยังมีหน่วยงานอีกมากที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยเคยบอกว่าเห็นสุขภาพประชาชนสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด แต่ยังไม่มีบทบาทมากนักกับการแก้โจทย์ใหญ่ ซึ่งกำลังไหลเข้าปอดชาวบ้าน ณ ขณะนี้

 

จตุรงค์ แสงโชติกุล 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง